ประเด็นร้อน

เสี่ยงอาณาจักรแลนด์ฯหลังอนันต์เจอข้อกล่าวหา

โดย ACT โพสเมื่อ May 29,2017

 คอลัมน์ วิเคราะห์: ความเสี่ยงอาณาจักรแลนด์ฯ หลังอนันต์เจอข้อกล่าวหาฟอกเงิน


- -สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 พฤษภาคม 2560  - -

อนันต์ อัศวโภคิน   ประกาศลาออกจากตำแหน่งบริหาร และกรรมการ  ใน บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)  บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์  บมจ. โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ และ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์  พร้อมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาว่า เขาสมคบและร่วมกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จากธุรกรรมอำพราง ซื้อขายที่ดิน 3 แปลงเนื้อที่รวม 46 ไร่ 3 งาน  56.2 ตารางวา ย่านคลองหลวง จังหวัดปทุม ธานี  มูลค่า 93 ล้านบาท  (ดีเอสไอระบุว่าต่ำกว่าราคาประเมินราว 3 เท่าตัว) ระหว่าง บริษัท  เอ็มเอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 (บริษัทลูกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น)กับเขา เมื่อปี 2554 จากนั้นถ่ายโอนผลประโยชน์ให้กับ มูลนิธิคุณยายจันทร์ขนนกยูง ซึ่งมีพระธัมมชโยเป็นองค์อุปถัมภ์ โดยดีเอสไอ ส่งหมายเรียกให้อนันต์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 7 มิถุนายน ที่จะถึงนี้

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การประกาศทิ้งทุกตำแหน่งในบริษัทเรือธงอย่างกะทันหันของอนันต์ส่งผลกระทบต่อทิศทางของ อาณาจักรแลนด์ ซึ่งมี 4 บริษัทเรือธงสำคัญ (ดูกราฟิก) ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกัน มากกว่า 4.1  แสนล้านบาท โดยตรง เพราะ อนันต์เป็นผู้ขับเคลื่อนและเริ่มต้นสร้างอาณาจักรแลนด์แอนด์เฮ้าส์จากทำบ้าน 2 หลังขายให้พนักงานโรงแรมแมนดารินของมารดา (เพียงใจ หาญพาณิชย์)  สู่กลุ่มธุรกิจแสนล้านในชั่ว 3 ทศวรรษเศษ โดยอนันต์ก่อตั้งบมจ.แลนด์แอนด์เอ้าส์และบมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ ในปี 2526 ก่อนทะยานขึ้นเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 อนันต์ เริ่มต่อยอดจากธุรกิจอสังหาฯ ขึ้นเป็น "กลุ่มธุรกิจ" ที่มีการลงทุนหลากหลาย ตั้งแต่ค้าปลีก ก่อสร้าง ประกันภัย และอสังหาฯต่างแดน  หากไม่ทันเสร็จสมบูรณ์อาณาจักรที่สร้างขึ้นครั้งนั้น ถูกคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซัดจนล้มครืน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกๆ ที่ อนันต์และแลนด์เผชิญวิกฤติ
          
วิกฤติครั้งนั้น แลนด์ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนทันที 2 หมื่นล้านบาท  พร้อมกับยอดหนี้เพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านบาทในชั่วข้ามคืน หลังแบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงินช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 แต่ 4 ปีหลัง จากนั้นเขาพลิกสถานการณ์นำแลนด์กลับมาผงาดอีกครั้งในปี 2544 ที่ยอดขายกลับมาทะลุ 1 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง อนันต์เคยถอดบทเรียนให้ศิษย์ธรรมกายฟังเรื่องผลดีของการนั่งสมาธิอย่างเบิกบานว่า เมื่อเกิดวิกฤติเขาขอคำแนะนำกับหลวงพ่อ(ธัมมชโย)ได้รับการชี้แนะว่าให้ หลับตา และย้ำว่า "เงินหมดนะจ๊ะคุณอนันต์แต่ชื่อเสียงไม่หมดนะจ๊ะ" ประโยคดังกล่าว เปลี่ยนความคิดอนันต์ กระทั่งสามารถพลิกฟื้นแลนด์กลับมาได้ และทำให้พลังศรัทธาต่อธรรมกายของอนันต์ขึ้นถึงขีดสุด
          
หากวิกฤติครั้งนั้นแตกต่างจากวิกฤติครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง ข้อกล่าวหา "สมคบและร่วมกันฟอกเงิน" จาก ดีเอสไอ กระทบต่อความน่าเชื่อถือของอนันต์มหาเศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ของเมืองไทย นัยหนึ่งคือ อนันต์ไม่ได้ขาดแคลนเงินทุน แต่กำลังเผชิญกับวิกฤติภาพลักษณ์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงลามไปถึงธรรมาภิบาลธุรกิจและยังส่งผลต่อทิศทางใหม่ของ อาณาจักรแลนด์อีกด้วย
          
ทั้งนี้หลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540  อนันต์ประกอบ อาณาจักรธุรกิจขึ้นใหม่ โดยโฟกัสที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯและขยายตัวออกไปแนวราบสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยการขยับโครงสร้างแลนด์ สู่อสังหาฯเพื่อเช่าด้วยการรุกสู่ธุรกิจ ศูนย์การค้า ฯลฯ และมุ่งสู่ธุรกิจระดับภูมิภาคด้วยการดึง ซีทีบีซี แบงก์จากไต้หวันเข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ด้วยการถือหุ้นในแลนด์แอนด์เฮ้าส์แบงก์ 35.6% (อยู่ระหว่างดำเนินการ) แต่เมื่ออนันต์ต้องทิ้งเก้าอี้ผู้บริหารไม่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจโดยตรง แม้สามารถกำหนดแนวทางในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่แต่การสั่งผ่านตัวแทนย่อมไม่กระชับเท่าขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ย่อมส่งผลต่อการขับเคลื่อนอาณาจักรแลนด์ไม่มากก็น้อย
          
นาทีนี้ ความเสี่ยงจาก วิกฤติภาพลักษณ์ ของอนันต์จะกระทบต่อ อาณาจักรแลนด์ขนาดไหน  ขึ้นอยู่กับผลเกี่ยวโยงของข้อกล่าวหา และปลายทางคดี "สมคบและร่วมกันฟอกเงิน" ว่าจะจบอย่างไร  เป็นสำคัญ