ประเด็นร้อน

ต้องยกเครื่องใหม่ อย่าทำเพียงปะผุ เคาะ พ่นสี

โดย ACT โพสเมื่อ May 24,2017

เขารู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า
          
1.หวยใต้ดิน ที่ผิดกฎหมายนั้น เล่นกันทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ใจกลางเมืองหลวงลงไปถึงตำบล หมู่บ้าน วันหวยออก คือวันที่คนไทยแทงหวยกันค่อนประเทศได้กระมัง
          
2.ยาเสพติดหรือยาบ้า นั้น ระบาดทั่วทุกหัวระแหง ในระดับตำบลหมู่บ้านนั้น เป็นเรื่องรู้ๆ กันอยู่ ใครค้า ใครขาย ใครเสพ แต่ก็ปราบไม่รู้จักหมด
          
3.บ่อนพนัน มีทั่วทุกจังหวัด มีทั้งบ่อนประจำที่และบ่อนย้ายที่ คนเล่นการพนันมีเป็นหมื่นเป็นแสนคน เล่นไพ่ เล่นไฮโล พนันบอล พนันตัวเลขขึ้นลงของหุ้นประจำวัน
          
4.การค้าของเถื่อน ค้าเหล้า บุหรี่ ค้ารถหรูที่หนีภาษี นั้นมีอยู่ทั่วไป หากตำรวจใช้ความพยายามสืบเสาะก็สามารถรู้ได้ว่าใครนำเข้า ใครค้า ใครขนใครซื้อ
          
5.สถานบริการ ที่ขึ้นป้ายว่าอาบอบนวดทั่วประเทศนั้น คือซ่องโสเภณีขนาดใหญ่ ที่มีบริการทางเพศให้กับลูกค้าได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุด
          
ยังไม่นับการค้ามนุษย์ที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ตลอด ยังไม่พูดถึงการตรวจจับรถบรรทุก หรือยานพาหนะผิดกฎหมาย และอีกสารพัดกิจกรรมเถื่อน
          
ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คนที่ศึกษาวิจัยการค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ เคยชี้ว่า หวย บ่อน ซ่อง และค้าของผิดกฎหมาย มีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
          
กิจกรรมเหล่านี้นอกจากไม่มีการเสียภาษีให้รัฐแล้ว ยังเป็นต้นทางของอาชญากรรมและปัญหาสังคมทั้งปวงอีกด้วย นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่คาราคาซังมาตลอดเป็นเวลายาวนาน
          
ในยุคแห่งกระแสปฏิรูปในปัจจุบัน มีข้อเสนอล่าสุดของประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแผนการปฏิรูปตำรวจในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้เสนอให้ย้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ใต้นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีการกำหนดคุณสมบัติให้เข้มข้นสำหรับคนที่จะมาเป็น ผบ.ตร. มีการเสนอขึ้นเงินเดือนตำรวจประมาณหนึ่งเท่าครึ่ง และมีข้อเสนอปลีก      ย่อยอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอการปรับเปลี่ยนที่ฉาบฉวย และไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ เลย
          
อำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนระดับ ปรับตำแหน่งยังคงอยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนที่จะกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น การสอบสวนยังคงอำนาจฝังแน่นอยู่กับตำรวจเหมือนเดิม
          
ขอถามว่า ข้อเสนอการปฏิรูปดังกล่าว จะไปมีผลแก้ไขปัญหาพฤติกรรมผิดกฎหมายได้หรือ เดิมนั้น สนง.ตำรวจแห่งชาติ เดิมเรียกว่ากรมตำรวจ อยู่ใต้กระทรวงมหาดไทย ต่อมาเมื่อ 10 กว่าปีมานี้ กำหนดให้มาอยู่ใต้นายกรัฐมนตรี แล้วนี่ยังจะโยกตำรวจไปอยู่กระทรวงยุติธรรม มันจะมีความหมายอะไร ในเมื่อการจับกุม การสืบสวนและการสอบสวน ยังรวมศูนย์อยู่ที่ตำรวจ
          
ใช่หรือไม่ว่า การจับกุมสืบสวนและสอบสวน ที่เป็นหนึ่งเดียวกันมาโดยตลอด เป็นที่มาของอำนาจ อิทธิพล ทรัพย์สินและเครือข่ายความชั่วร้ายสารพัด การจับกุมคนบริสุทธิ์เรียกค่าไถ่ การยัดเยียดยาบ้า การแปลงสารในสำนวนจากถูกเป็นผิด จากผิดเป็นถูก ทำให้อาณาจักรแห่งอิทธิพลเถื่อนดำรงอยู่ และขยายออกไปไม่รู้จบ
          
อดีตนายตำรวจชื่อ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เขียนเปิดโปงไว้ในหนังสือชื่อ "โรดแมปปฏิรูปตำรวจ" หน้า 188 ว่า
          
"ผู้กำกับสถานีคือ ผู้มีอำนาจสั่งการจะบังคับหรือไม่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอบายมุข หวย บ่อน ซ่อง สถานบริการผิดกฎหมาย ของเถื่อน คิวรถ รถบรรทุก ฯลฯ ในพื้นที่มีอะไร หัวหน้าสถานีสามารถเข้าควบคุมเก็บส่วยได้หมด เมื่อเก็บส่วยสินบนจากสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ได้ก็ย่อมจะต้องหวงแหนปกป้องเอาไว้เพื่อทำเงินให้ได้มากและนานที่สุด เมื่อได้มาแล้วก็สะสมไว้เป็นทุนเตรียมนำไปซื้อตำแหน่งที่ดีขึ้นไปในวาระการแต่งตั้ง
          
ส่วนฝ่ายสอบสวนนั้นเป็นตำรวจที่ผู้กำกับสั่งให้ทำสำนวนสอบสวนเมื่อมีการกระทำผิดอาญาเป็นคดีขึ้น กลุ่มอิทธิพลและเครือข่ายอบายมุขผิดกฎหมายจึงกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจในสถานีตำรวจไปโดยปริยาย เมื่อมีคดีเกิดขึ้นกับกลุ่มตนก็สามารถบอกหัวหน้าสถานีให้สั่งพนักงานสอบสวนให้ทำการสอบสวนโดยมิชอบบิดทำลายหรือบิดเบือนพยานหลักฐานช่วยมิให้ต้องรับโทษตามกฎหมายได้"
          
ด้วยเหตุนี้เอง ที่การสอบสวนควรเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวอาจประกอบด้วย อัยการและตัวแทนของภาคประชาชน ก็จะทำให้คดีความมีการถ่วงดุล ยิ่งถ้ามีการถ่ายวิดีโอการสอบสวนไว้ตลอดทั้งหมด ยิ่งทำให้การสอบสวนโปร่งใสและตรวจสอบได้ แทนที่ตำรวจจะรวบหัวรวบหางทั้งการจับกุม การสืบสวน และการสอบสวนไว้ที่ตำรวจเท่านั้น น่าสังเกตว่าทั้งๆ ที่ตำรวจควรต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนและให้เห็นผลจริงจัง แต่ตำรวจเป็นหน่วยงานเดียวที่รัฐบาลไหนๆ ก็ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาล คสช. ซึ่งมีมาตรา 44 อยู่ในมือ
          
ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนยุติธรรม เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด
          
ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ตำรวจเป็นบุคคลของชุมชน ตำรวจที่นั่นอาศัยและพึ่งพิงชุมชน ช่วยเป็นหูเป็นตา และใช้หลักการป้องกันก่อนปราบปราม ให้ชุมชนเป็นผู้ควบคุม ให้ตำรวจใช้อำนาจอย่างถูกต้องเป็นธรรม
          
ดังนั้น จึงขอชี้ประเด็น ณ ที่นี้ ว่า หากตำรวจไม่แยกการสอบสวนออกเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง และหากตำรวจยังคงรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ ผบ.ตร. ไม่กระจายอำนาจไปยังพื้นที่แล้ว การปฏิรูปตำรวจเป็นอันสิ้นหวัง.

- -สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.thaipost.net/