ประเด็นร้อน

กลัว 'ทุจริต'

โดย ACT โพสเมื่อ May 15,2017

 ในการสัมมนาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า กำลังคิดจะร่างกฎหมาย ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.ร่วมตรวจสอบงบประมาณของภาครัฐ โดยไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เบื้องต้นจะให้ สตง.มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณภาครัฐว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ ป.ป.ช.ยึดรายงานจาก สตง.เป็นหลักเพื่อดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อ และเมื่อไหร่ที่ สตง.พบการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่ถูกต้องตามวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถประชุมร่วมกับองค์กรอิสระอื่นเพื่อท้วงติงรัฐบาลได้


นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดให้ สตง.อาจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หากพบว่าจะมีการใช้จ่ายเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือประชานิยม ลดแลกแจกแถม มีลักษณะหาเสียง นอกจากส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ยังต้องส่งไปยัง กกต.ด้วย เพื่อวินิจฉัยตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่เอาเงินแผ่นดินไปหาเสียง เมื่อ คตง.เห็นว่าเข้าข่ายก็จะไปหารือร่วมกับ ป.ป.ช.และ กกต. หากเห็นพ้องกันว่าการใช้จ่ายเงินเหล่านั้นจะก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องแจ้งไปยังรัฐสภาและ ครม.โดยไม่ชักช้า แต่ทั้งนี้ควรมีมาตรการกำหนดให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

แนวคิดเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานถึงขนาดไประงับยับยั้งนโยบายของฝ่ายการเมือง โดยอ้างเหตุผลว่าเกรงจะเกิดการทุจริต ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วยว่า แท้จริงแล้ว เป็น กระบวนการเพิ่มอำนาจของข้าราชการ และลดทอนอำนาจของนักการเมืองที่มาจากประชาชน เพื่อจะควบคุมการเมืองให้เป็นไปในรูปแบบที่ผู้มีอำนาจต้องการ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมีทั่วไปทั้งนักการเมือง ภาคราชการ และเอกชน ดังที่นักการเมืองผู้หนึ่งตั้งคำถามว่า 3 ปีมานี้นักการเมืองไม่ได้มีบทบาทในการบริหาร แต่ทำไมยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ การแก้ปัญหาทุจริตให้ได้ผล ต้องดึงภาคประชาชนและสังคมเข้ามาร่วม มิใช่ให้เป็นบทบาทของภาคราชการ เพราะจะมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางในการตรวจสอบ ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

- -สำนักข่าว มติชน วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 - -