ประเด็นร้อน
จาก 'ราชภักดิ์' ถึง 'ญาติบิ๊กตู่' 17 กฏแก้โกง เอาไม่อยู่
โดย ACT โพสเมื่อ May 02,2017
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา (2530-2560) มีคดีทั้งหมดที่สามารถรวบรวมไว้ในสารบบ 1,426 กรณี และสามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นคดีที่มีการชี้มูลความผิด-ศาลตัดสิน 110 คดี มี 71 คดี ที่สามารถคำนวณเป็นค่าเสียหายจากการทุจริตได้ถึง 977,460 ล้านบาท
ขณะที่ "โฉมหน้าคอร์รัปชั่นไทย"ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสามารถซอย ย่อยได้ 4 ยุค โดยรูปแบบกลโกงที่สามารถ จับกลุ่มรวมกันได้ทั้งหมด 110 คดี แบ่งออกเป็น ยุคฟองสบู่ (2530-2539)ได้แก่ การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารราชการแผ่นดิน ยุครัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540-2549) การจัดซื้อ จัดจ้าง การบริหารราชการแผ่นดิน
ยุคตุลาการภิวัตน์ (2550-2557) ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้าง งบประมาณ และแทรกแซงตลาด สินค้าเกษตร ขณะที่ ยุคปฏิวัติ (2557-ปัจจุบัน) ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารราชการแผ่นดิน
ในวาระที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT และ TDRI ออกมาล้อมวงให้คะแนนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ 7 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน ถือว่า "สอบตก"
โดยเฉพาะข้อครหาเรื่องไม่เอาจริงเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เช่น กรณีราชภักดิ์ กรณีหลาน-ลูก พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ค่ายทหารเปิดบริษัทรับงานประมูลโครงการของรัฐ และกรณีล่าสุด การอนุมัติจัดหาเรือดำน้ำ สัญชาติจีน ของพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร อย่างลับ ๆ
พิสูจน์ให้เห็นว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาฯ 57 เป็นต้นมา แม้ ACT จะได้รับเกียรติ-เชิญไปนั่งในคณะกรรมการ ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) คิดค้นมาตรการป้องกันการทุจริต ถึง 17 มาตรการ ทว่ากลับไม่สามารถแก้ปัญหา ระบบอุปถัมภ์-เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องได้
17 มาตรการ ประกอบด้วย 5 มาตรการกฎหมาย ได้แก่ 1.พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ 2.พระราชกฤษฎีกาทบทวนกฎหมาย 3.ข้อตกลงคุณธรรม 4.พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 5.เพิ่มบทลงโทษการให้สินบน และ 1 มาตรการนำร่อง คือ 1.ระบบ CoST
4 มาตรการอยู่ระหว่างพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แก่ 1.แก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2.พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 3.กฎหมายงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ 4.แต่งตั้ง/โยกย้ายข้าราชการโปร่งใส
2 มาตรการผลักดันแต่ไม่คืบหน้า ได้แก่ 1.EITI (เปิดข้อมูลพลังงาน) และ 2.ตรวจสอบภาษีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง และ 5 มาตรการ ยังเงียบ ได้แก่ 1.RIA ประเมินผลกระทบ กฎหมาย 2.สำนักวิเคราะห์งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ (Thai PBO) 3.องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค 4.คุ้มครองข้าราชการสุจริต และ 5.แก้กฎหมายหมิ่นประมาท
17 มาตรการที่ออกมา จึงได้ใช้บ้าง- ไม่ได้ใช้บ้าง
- - สำนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : m.prachachat.net/news_detail.php