ประเด็นร้อน
ฉีกหน้ากากบิ๊กไปรษณีย์ไทย
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 20,2017
ผู้จัดการรายวัน360 - สาวไส้ "บิ๊กไปรษณีย์ไทย" พบ 2 ประเด็นส่อไปในทางประพฤติมิชอบ ทั้งการกำกับดูแลบริษัทลูก อย่างไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น ที่ สตง.ตรวจสอบหลังพบข้อพิรุธส่งกลิ่นหลายเรื่อง และโครงการจัดซื้อจัดจ้างใน ปณท ที่หลายโครงการดูยังไงก็ไม่โปร่งใส ข้างนอกสดใส ข้างในเป็นโพรง
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่มีนางสมร เทิดธรรมพิบูล เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีตัวเลขผลประกอบการสวยหรูกำไรกว่า 3.3 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา จากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล แต่เมื่อขุดเข้าไปดูภายในกลับพบแต่ความเน่าเฟะ เละเทะของการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่อไปในทางเอื้อให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชันภายในองค์กร ที่เกิดขึ้นชนิดเห็นได้ชัด และพิสูจน์ได้ ในบริษัทลูกอย่างบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท ดบ.) และการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆในบริษัทแม่ อย่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ความไร้ประสิทธิภาพ ถนัดหมกเม็ด ปิดปาก เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ทำให้พนักงานบางกลุ่มทนไม่ไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร แม้จะไม่เจ๊งวันนี้ แต่อนาคตถูกขีดเส้นให้ดิ่งลงเหว จนต้องฟ้องโลกโซเชียล ใช้กระแสกดดัน อย่างการโพสต์รูปป้ายร้องเรียนจากสหภาพฯ ถึงประธานบอร์ดให้ช่วย กรณีเกี่ยวกับใครได้ ใครเสีย? แม่ (ปณท) หาเงินแทบตาย สุดท้ายไปละลายที่บริษัทลูก (ปณท ดบ.) พร้อมระบุถึงข้อความเกี่ยวกับ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจ มาตรา 40(4) ว่า ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีสหภาพ แรงงานได้เพียงสหภาพแรงงานเดียว โดยมองว่า แค่การติดป้ายประกาศไม่ถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ควรนำข้อมูลข้อดีข้อเสีย มาสรุปกับสมาชิก หรือจะเสนอให้ยุบไปเลย เพราะบริษัทขาดทุนมากกว่า พร้อมโยงไปเรื่องการนำจ่ายรวมที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ ออกเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่า พร้อมกับการปิดเรื่องเงียบภายในองค์กร ไม่มีข้อมูลหลุดออกสู่ภายนอกให้เกิดการตรวจสอบ
นายวิเลิศ การสะสม ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (สรร.ปณท) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เกิดจากการที่ปณท ได้มีการตั้งบริษัทลูกในชื่อบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท ดบ.) ขึ้นมาดำเนินงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการ ขนส่ง (ลอจิสติกส์) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปรากฏว่ามีผลขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เปิดบริษัท "ตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 3 ปี ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 350 ล้านบาท ปัจจุบัน ปณท ดบ. ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องสะสมกว่า 168 ล้านบาท ทำให้ทางสหภาพฯต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดความชัดเจนของ ปณท ในการบริหารบริษัทลูกให้สามารถสร้างรายได้" หลังจากที่มีการขึ้นป้าย ทางประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ปณท พล.อ.สาธิต พิธรัตน์ ได้รับทราบปัญหา และพูดคุยกับสหภาพฯ ในเรื่องดังกล่าวแล้ว และมีความตั้งใจที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งทางสหภาพฯ ก็จะคอยติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะล่าสุดได้มีการตั้งกรรมการ ปณท ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท ดบ. เพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพฯ ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ปณท ในบางประเด็นที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งได้มีการยื่นหนังสือเข้าไปที่ประธานบอร์ด และสำนักนายกรัฐมนตรีที่ควบคุมกระทรวงดีอีโดยตรงแล้ว
สวาปามมูมมามบริษัทลูก
แหล่งข่าวจากไปรษณีย์ไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ปณท ดบ.ขาดสภาพคล่องในการดำเนินการ ต้องมีการเบิกงบประมาณจากบริษัทแม่ไปช่วยเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของการทุจริต ประพฤติมิชอบ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบ ความโปร่งใสในการดำเนินการ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งเรื่องของเอกสารสั่งจ่าย ซึ่งพบว่ายอดเรียกเก็บเงินไม่ตรงตามเอกสาร ,การสั่งจองรถขนส่งทั้งๆ ที่ไม่มีงาน รวมถึงการเพิ่มจำนวนรถในการขนส่งสินค้าปริมาณเท่าเดิม โดยแจ้งว่าส่งถึงคนละปลายทาง แต่ในความเป็นจริงนำจ่ายถึงสถานที่เดียวกัน
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดคือได้มีการชิงลาออกจากตำแหน่งของ นายสมประสงค์ เนตรสว่าง รองกรรมการผู้จัดการด้านตลาดและพัฒนาธุรกิจ พร้อมหัวหน้าส่วนงานอีกหนึ่งตำแหน่ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการตัดตอนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ "สายสืบในโลกโซเชียล แอบส่องเฟซบุ๊กของผู้บริหารที่ลาออกไป พบว่ามีการโชว์ทรัพย์สินหลายรายการที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังใหญ่ นาฬิกาปาเต๊ะ ฟิลลิป รถยนต์อัลพาร์ด รถยนต์พอร์ช ดูอู้ฟู่สวนทาง ปณท ดบ.ที่สนุกสนานกับการขาดทุน"
ส่อทุจริตโครงการจัดซื้อ ปณท
แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลโครงการอื่นๆ ที่ส่อถึงความไม่โปร่งใสในแง่ของการประมูลจัดซื้อจัดจ้างใน ปณท อย่าง ล่าสุดในโครงการเช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2560 ที่จะถึงนี้ โดยมีมูลค่าโครงการกว่า 360 ล้านบาท มีข้อพิรุธน่าสงสัยในหลายประเด็น อย่างเช่นมักมีการทำประชาพิจารณ์ การขายซองประกวดราคา ในช่วงคาบเกี่ยววันหยุดต่างๆ รวมทั้งมีการยื่นซองประกวดราคาทันทีหลังจากวันหยุดช่วงเทศกาล ชนิดที่เรียกได้ว่าถ้าไม่มีข้อมูลวงในมาก่อนอาจเตรียมตัวไม่ทัน ทำให้การยื่นซองประกวดราคาก็จะมีแต่รายเดิมที่พูดจาประสาเดียวกัน ประเด็นที่น่าสนใจกับการใช้วิธีเช่าในครั้งนี้ ภาษาการประมูลจะเรียกว่าสามารถซุกราคาได้ เพราะไม่มีการกำหนดราคากลาง หรือ ไม่รู้ว่าราคามาตรฐานควรเป็นเท่าไหร่ เพราะอุปกรณ์บางอย่างหากใช้วิธีซื้อ สามารถซื้อได้ในราคาเพียง 31,500 บาท แต่พอมาใช้วิธีเช่า ราคากลับโดดขึ้นไปถึง 60,000 บาท ซึ่งมีเวนเดอร์บางรายระบุว่า เหตุที่ปณท เลือกวิธีเช่า เพราะเคยอิ่มเอมมาแล้วกับโครงการลักษณะนี้ 400 กว่าล้านบาท แต่ที่สำคัญที่สุดคืออุปกรณ์พวกนี้ไม่ว่าจะซื้อหรือจะเช่ามา ก็ต้องมาวางกองไว้ ไม่สามารถทำงานได้ เพราะหัวใจสำคัญคือระบบไม่รองรับ ไม่มีซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันมารองรับ
เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ทางปณท ได้มีการลงทุนพัฒนาระบบให้บริการอัตโนมัติในชื่อ (NEW CA Pos) ในสัญญา สป(ส) 18/2557 ในวันที่ 7 มีนาคม 2557 ด้วยการว่าจ้างบริษัท ideal ที่ตามสัญญากำหนดแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน กันยายน 2558 แต่ปัจจุบันการพัฒนาระบบดังกล่าวยังล่าช้า และไม่เสร็จตามที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อการนำจ่ายที่ไม่มีคุณภาพ โดยพบว่ามูลค่าโครงการในการพัฒนาระบบดังกล่าวอยู่ที่ 120 ล้านบาท เมื่อมีการพัฒนาล่าช้า ผิดสัญญา ก็ไม่มีการปรับเงินจากผู้ผลิตตามที่กำหนด เพราะกลัวว่าทางบริษัทผู้ผลิตจะไม่พัฒนาต่อให้แล้วเสร็จ ซึ่งคำนวนเป็นค่าปรับจนถึงปัจจุบันด้วยอัตรา 0.10% ของมูลค่า อยู่ที่ 75 ล้านบาท แต่ในช่วง 2 ปีที่ไม่ยอมปรับ ระบบทำงานไม่ได้ แต่ ปณท ก็ยังมีการสั่งซื้ออุปกรณ์มารองรับการใช้งานมูลค่ากว่า 90 ล้านบาท ที่ถูกกองทิ้งไว้ใช้งานไม่ได้
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ภายในปีนี้ ปณท ได้มีการขออนุมัติงบประมาณประจำปี เพิ่มเติม อีกจำนวน 4 แผนงานมูลค่าเกือบ 1,500 ล้านบาท ที่นำเสนอต่อกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยแผนการติดตั้งตู้รับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ จำนวน 250 ตู้ วงเงิน 200 ล้านบาท แผนการติดตั้งตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ (iBox) จำนวน 550 ตู้ วงเงิน 330 ล้านบาท แผนการติดตั้งเครื่องคัดแยกด้านจ่ายสำหรับชิ้นงานประเภทซอง 5 เครื่อง วงเงิน 250 ล้านบาท สุดท้ายคือแผนการจัดหาอุปกรณ์นำจ่ายแบบพกพา จำนวน 16,926 เครื่อง วงเงิน 541.63 ล้านบาท "การจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ตั้งงบขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการให้บริการ หรือการศึกษาล่วงหน้าว่า ปณท จะได้รับประโยชน์อะไรเพิ่มเติม แถมในแง่ของตู้อัจฉริยะที่ใครก็ได้สามารถฝากส่งสิ่งของได้ทำให้อาจเกิดอันตรายหากใครมาซุกระเบิด ที่สำคัญที่สุดคือระบบยังไม่พร้อม แต่ชอบซื้อของมากองทิ้งไว้ล่วงหน้า"
- - สำนักข่าว ผู้จัดการรายวัน วันที่ 20 เมษายน 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx