ประเด็นร้อน

เปิดงบมหาวิทยาลัยไขคำตอบ ป.ป.ช.

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 19,2017

 เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจพอสมควร หลัง 13 รองอธิการบดีมหาวิทยามหิดล ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งก่อนที่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2560 กำลังจะบังคับใช้


ท่ามกลางกระแสข่าวว่า 13 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่พอใจประกาศของสำนักงาน ป.ป.ช.ดังกล่าว ที่กำหนดให้ตำแหน่งรองอธิการบดีจะต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
          
ถัดจากกรณี 13 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลลาออกไม่นาน ปรากฏว่า รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 1 ราย ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า เตรียมเอกสารหลักฐานการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน หลังประกาศสำนักงาน ป.ป.ช.มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 เมษายน
          
เรื่องดังกล่าวทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางกัน เป็น 2 ทาง ทางหนึ่งมองว่า สำนักงาน ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งจุกจิกเกินไป แต่อีกทางสนับสนุนแนวทางของสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะเห็นว่า เป็นการแสดงความโปร่งใส โดยเฉพาะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ซึ่งให้ความเห็นเอาไว้ว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหนึ่งใน 3 แนวทางในการควบคุมปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐ
          
1.แนวทางการลดอำนาจการผูกขาดของผู้ใช้อำนาจ โดย การสร้างกลไกการกำกับ ถ่วงดุล คานอำนาจ เช่น ให้มีสภา มหาวิทยาลัยเพื่อถ่วงดุลอำนาจอธิการบดี 
2.แนวทางการลดการ ใช้ดุลพินิจ โดยการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับฯ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนในแต่ละเรื่อง และ 
3.แนวทางการ สร้างความโปร่งใสและพัฒนากลไกสร้างความรับผิดชอบ
          
และดูเหมือนว่า เสียงสนับสนุนแนวทางของ ป.ป.ช.จะมีเยอะพอสมควร เนื่องจากเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐได้ และไม่เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นเรื่องอะไรที่เสียหาย เพราะในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้จำเป็นจะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. แต่ไม่ต้องเปิดเผยสู่สาธารณะเหมือนกับตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ที่ในยุคนี้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
          
อีกทั้งสิ่งที่รองอธิการบดีให้เหตุผลว่า จะเตรียมเอกสารหลักฐานไม่ทันนั้น เรื่องนี้ "บิ๊กกุ้ย" พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ย้ำ หลายครั้งว่า มีความเข้าใจถึงเหตุผลดังกล่าว แต่พร้อมจะยืดหยุ่นให้ และพร้อมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้หากมีการร้องขอ เหมือนกับที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ สนช. เคยร้องขอ และ ป.ป.ช.ส่งเจ้าหน้าที่ระดับรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ไปชี้แจงแนวทาง
          
ดังนั้น เมื่อปราศจากเหตุผลหรือข้ออ้างที่จะมาหักล้าง กระแสจึงตีกลับ 13 รองอธิการบดีพอสมควร
          
ส่วนเครื่องหมายคำถามว่า ทำไมถึงเจาะจงมาที่ตำแหน่งรองอธิการบดี หากค้นไปที่ประกาศสำนักงาน ป.ป.ช.ดังกล่าว จะพบว่าในคราวเดียวกันมีการประกาศเพิ่มหลายตำแหน่ง ทั้งที่อยู่ในระนาบเดียวกับตำแหน่งรองอธิการบดี หรือเล็กกว่า
          
ประกอบด้วย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักช่าง, ปลัดเทศบาล, จเรตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชา การตำรวจแห่งชาติ, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชา การสำนักงานส่งกำลังบำรุง, ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล, ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี, ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจสอบภายใน, ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล,
          
ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, ผู้บัญชาการสำนัก งานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, ผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, รองผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง, รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล, รองผู้บัญชาการสำนัก งานกฎหมายและคดี, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9, รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
          
รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, รองผู้บัญชา การตำรวจตระเวนชายแดน, รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, รองผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, จเรตำรวจ (สบ 8) (หัวหน้าจเรตำรวจ), นายแพทย์ใหญ่, รองจเรตำรวจ (สบ 7), ผู้บังคับการกองพลาธิการ, ผู้บังคับการกองโยธาธิการ, ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ, ผู้บังคับการกองทะเบียนพล, ผู้บังคับการกองสวัสดิการ, ผู้บังคับการ กองคดีอาญา, ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้, ผู้บังคับการตำรวจปราบปราม ยาเสพติด 1-4, ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด, ผู้บังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด, ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1-4, ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1-4 และผู้บังคับการตำรวจสื่อสาร
          
ส่วนประกาศก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 59 มีตำแหน่ง รองปลัดกรุงเทพมหานคร, หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล, ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์, ผู้อำนวยการสำนักอนามัย, ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักการโยธา, ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ, ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม, ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว, ผู้อำนวยการสำนักการคลัง, ผู้อำนวยการเทศกิจ, ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม, ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง, ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง, ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขต
          
ปลัดเมืองพัทยา, รองปลัดเมืองพัทยา, หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา, ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุข, ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม, ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการท่องเที่ยว, ผู้อำนวยการสำนักการช่าง, ผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาล, ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม, ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และงบประมาณ, ผู้อำนวยการสำนักการคลัง
          
รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ด้านการตรวจราชการ), ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง, ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ, ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ, ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ, ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง, ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ, ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
          
ประธานศาลอุทธรณ์, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค, ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, รองประธานศาลอุทธรณ์,รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค, รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, ประธานแผนกในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกในศาลอุทธรณ์ภาค, รองประธานแผนกในศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค, พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง, รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรองปลัดทุกกระทรวง
          
เหตุผลของ ป.ป.ช.ใน การเลือกแต่ละตำแหน่งมาจากการวิเคราะห์ว่า หน่วยงานนั้นและตำแหน่งงานนั้นมีความสุ่มเสี่ยงเพียงใดที่มีโอกาสอาจเกิดการทุจริตได้ สำหรับตำแหน่งรองอธิการบดีพบว่า ใน 84 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีตำแหน่งรองอธิการบดีถึง 564 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนอยู่ใน ป.ป.ช. 311 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 16 เรื่อง และที่เหลืออยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
          
เมื่อลองไปสำรวจจากภาพใหญ่พบว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดเกือบทุกปี โดยในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ได้รับการจัดสรรถึง 519,292 ล้านบาท
          
และเมื่อลองสำรวจลงไปว่าแต่ละปีมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้รับการจัดสรรเท่าไรพบว่า ในปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการจัดสรร 14,164,900,400 บาท รองลงมาเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5,904,363,900 บาท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5,805,316,100 บาท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5,114,151,200 บาท และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5,049,881,300 บาท
แม้จะไม่ใช่งบการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด แต่งบประมาณที่มหาศาลขนาดนี้ น่าจะให้คำตอบแก่สังคมได้ว่า ทำไมสำนักงาน ป.ป.ช.จึงเพิ่มตำแหน่งรองอธิบการดีเพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากตำแหน่งอธิการบดี.

- - สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 19 เมษายน 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : 
goo.gl/aS831s