ยุบ กกต.จังหวัดประหยัดงบหวังลบข้อครหา
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 17,2017
"มีชัย" เดินหน้าเคาะ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5-8 คน แทน กกต. จังหวัด เผยถ้า "กสม." สละเรือ องค์กรอิสระอื่นอาจต้องรีเซตด้วย ก่อนเปิดร่าง "ก.ม.กกต." ก่อนชง สนช. 18 เม.ย.วางหลักสรรหา ถ้าเกิน 2 รอบ หรือวุฒิสภาตีตก ให้เริ่มใหม่ หน้าเดิมห้ามเวียน พร้อมผุดอาสาส่อง ลต. ติดดาบ "สตง." สอบเส้นทางเงินพรรคการเมือง "กกต." กางแผนระยะสั้น-ยาว สร้างพื้นฐานสู่ยุทธศาสตร์ 20 ปี ระบุ 5 ปีแรกกำหนดเป้าหมาย-กิจกรรมให้สอดคล้อง โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จ 10 ด้าน มุ่งยกระดับ ลต. ให้บริสุทธิ์ ไร้โกง พร้อมนำนวัตกรรมใหม่ "แอพดาวเหนือ" ให้บริการคนชรา-ป่วยไข้ได้ใช้สิทธิลงคะแนน ส่วน "สนช." ไม่กังวลพิจารณา พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อ ครม. ทำตาม ม.77 ก่อนเสนอ ก.ม. ขณะที่"มาร์ค" มองมาตรา 5 ใน รธน.ใหม่ ยืดหยุ่นกว่า มีกรรมการตัดสิน ย้ำวิกฤติการณ์ในอดีตแก้ไม่ได้ เพราะผู้นำเสพติดอำนาจไม่ปล่อยวาง
เมื่อวันที่ 15 เม.ย.60 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ กรธ. จะส่งให้ สนช. พิจารณาวันที่ 18 เม.ย. นี้ ว่า
รายละเอียดของร่างกฎหมายลูก กรธ. ได้นำขึ้นเว็บไซต์แล้ว ซึ่งจะเป็นเนื้อหาล่าสุด
ที่เราจะส่งให้กับ สนช. ในส่วนร่างกฎหมายลูก กกต. ไม่ได้ปรับไปจากเดิม เพียงแต่มีการเกลาถ้อยคำ หลักการใหญ่ยังเป็น
แบบเดิมคือ เราไม่อยากให้มี กกต.จังหวัดเพราะมีปัญหาและข้อติฉินนินทาเยอะส่วนทาง กกต. ยังอยากให้มี กกต.จังหวัดแล้วก็ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย ตรงนี้จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ยิ่งเปลืองงบประมาณและไม่คุ้มค่า
นายมีชัยกล่าวต่อว่า กรธ. ยังยืนในหลักของผู้ตรวจการเลือกตั้ง เฉพาะช่วงที่มีเลือกตั้ง เพราะหากเอาเขาไปอยู่ประจำ พอตกเย็นก็เจอหน้าคนในพื้นที่แล้วจะไปจับใครได้ ตนไม่เข้าใจว่าจะอยากมี กกต.จังหวัด ไปทำไม โดยโครงสร้างของผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะมีจำนวน5-8 คน จังหวัดไหนใหญ่ก็มีมาก และอาจจะมีส่วนกลางเป็นม้าเร็วไปเสริมได้ซึ่งการจะส่งม้าเร็วลงไปก็ต่อเมื่อได้ข่าวว่าจะมีการทำการทุจริต ก็จะลงไปได้ทันที
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ส่วนข้อกังวลจากหลายฝ่ายเรื่องการรีเซตกรรมการองค์กรอิสระนั้น ตรงนี้ก็แล้วแต่ทาง สนช.เพราะ กรธ. ก็ยังยืนยันคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้กำลังจะมีปัญหาเพราะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เขาสมัครใจอยากรีเซต ทีนี้ถ้าไปรีเซต กสม. ขึ้นมาก็จะเกิดคำถามว่าแล้วทำไมองค์กรอื่นถึงไม่รีเซต องค์กรแรกที่จะต้องมาดูในเรื่องของคุณสมบัติ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะจะเป็นกฎหมายลูกที่เสร็จออกมาเป็นฉบับแรก ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอิสระที่เหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาร่างกฎหมายว่าด้วย กกต. ที่ กรธ. ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น4 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 78 มาตรา ในส่วนขั้นตอนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระมีเนื้อหาดังนี้ มาตรา 12
นอกจากประกาศรับสมัครการสรรเข้ารับสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นแล้ว คณะกรรมการสรรหา สามารถคัดเลือกจากบุคคลทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น โดยคำนึงถึงความหลากหลายและประสบการณ์ในแต่ละด้าน ให้กรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร หรือให้ผู้สมัครแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม ประกอบการพิจารณาด้วยและให้นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้แก่การคัดเลือกในส่วนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วย
การสรรหาให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ผู้ได้รับการสรรหาต้องได้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงถึงตามที่กำหนด หรือยังได้บุคคลไม่ครบจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่
หากยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบนี้จะเข้ารับการสรรหา ใหม่ไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ไม่ได้
สำหรับอำนาจหน้าที่ กกต. เช่นมาตรา 35 กกต. อาจตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถาบันการศึกษา ที่สมัครใจ ไปทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อรายงานต่อ กกต. ได้ มาตรา 21 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง กกต. จะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมหลักสูตรหรือโครงการใด
ไม่ได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่ กกต. เป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ มาตรา 32 กกต. อาจขอให้มีอำนาจดำเนินการดังนี้ (1) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สอบบัญชีของพรรคการเมือง อย่างเร่งด่วนในช่วงที่มีการเลือกตั้งก็ได้
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากรกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ กกต. ว่า แม้แผนที่วางไว้จะไกลจึงได้มีการกำหนดแผนแผนระยะสั้น 1 ปี และระยะยาว 5 ปี เป็นการสร้างพื้นฐานไปสู่ยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยช่วง 5 ปีแรก จะกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมให้สอดคล้องกัน รวมถึงกำหนดเป้าหมายในการทำงานในแต่ละปี โดยใช้ตัวชี้วัดความสำเร็จ 10 ด้าน และจะมีความหลากหลายในแต่ละปี บางตัวก็อาจจะวัดทุกปีหรือบางตัวก็อาจจะเป็นการวัดเมื่อมีกิจกรรมใหญ่ๆ เช่น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมีอะไรเกิดขึ้น และแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างไร และบางตัวก็จะเป็นการวัดโดยมองจากเวลาที่กำหนดไว้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายสมชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้การบริหารจัดการเลือกตั้ง ก็มีตัวชี้วัดที่จะประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปีใดจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างน้อย 11 อย่าง เพื่อที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หรือทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมมากขึ้น ส่วนในเรื่องของการประเมินจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องดูถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยว่า คนจะมาใช้สิทธิมีความตื่นตัวมากน้อยขนาดไหน อย่างไรก็ตามกกต. จัดเตรียมกลไกทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนทุกกลุ่มทุกประเภทให้มากที่สุด
"ดังนั้น การที่จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าให้เพียงพอ ขยายเวลาเลือกตั้งล่วงหน้าให้มากขึ้น การกำหนดเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกทุกกลุ่มยกตัวอย่าง เช่น แอพพลิเคชั่นในการนำคนไปยังหน่วยเลือกตั้ง ที่เรียกว่าแอพดาวเหนือหรืออำนวยความสะดวกกับผู้สูงอายุ ถ้าใครต้องการเพิ่มหน่วยเลือกตั้งพิเศษ ก็สามารถแจ้งมาได้ ซึ่ง กกต. พยายามให้ทุกสิทธิทุกเสียงมีความหมาย เพื่อให้ กกต.กระจายไปตามเขต หรือผู้ที่มาใช้สิทธิไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยก็จะนำรถเคลื่อนที่ไปโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยที่อยู่ประจำอำนวยความสะดวกให้"
ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวถึงการพิจารณา พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอว่า กฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ซึ่งจะต้องจัดทำตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน นอกจากนี้ จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรืออาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายตามมาตรา 77 โดยในส่วนนี้ตนเชื่อว่า ครม. ได้จัดทำความเห็นประกอบมาเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้ที่เสนอกฎหมายโดยตรง ดังนั้นเราจึงไม่กังวลทั้งเรื่องกรอบระยะเวลา รายละเอียดของกฎหมาย โดยสมาชิก สนช. อาจจะเพิ่มเวลาในการพิจารณา พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะเราจะต้องทำให้ทันเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มีการแก้ไขมาตรา 5 ว่า ถือเป็นเนื้อหาที่ดีแล้ว คือกลับมาเหมือนมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งตนเคยพูดก่อนหน้านี้แล้วว่าการกำหนดรูปแบบกรรมการอาจจะรัดตัวเกินไป ขอบเขตการวินิจฉัยทำได้แค่เรื่องของข้อกฎหมาย การเขียนกว้างแบบเดิมเปิดโอกาสให้หาทางออกได้มากกว่า เพราะตนไม่เคยมองว่ากรรมการเหล่านั้นจะปฏิบัติราบรื่นได้จริง แม้มีกรรมการฯ ตัดสินความขัดแย้งแล้วความขัดแย้งเหมือนเดิมก็ไม่จบ จึงไม่ได้อยู่ที่จะมีกรรมการเหล่านี้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการยอมรับทางออกที่ตรงกัน การกำหนดตามรัฐธรรมนูญนี้จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากกว่า
"ต้องเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ จะใช้มาตรานี้ได้ ต้องเกิดสถานการณ์ที่เข้าข่ายว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ครอบคลุมว่าต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายไหนจะสามารถเขียนรองรับได้ทุกสถานการณ์ เช่นปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุที่มาตรา 7 เดิมไม่สามารถนำมาแก้ไขได้ ก็เป็นเพราะผู้มีอำนาจไม่พร้อมที่จะสละอำนาจตนเอง เพื่อเปิดทางให้แก้ปัญหา ผมจึงบอกว่าปัญหาการเมืองในอดีตนั้นอยู่ที่พฤติกรรมและวัฒนธรรมการเมือง ในประเทศที่สามารถหาข้อยุติได้คือการยอมถอยไม่ใช่คิดว่าตัวเองมีสิทธิก็ต้องอยู่อย่างนั้น จึงจะลดแรงกดดันทางสังคมได้ ซึ่งรูปแบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีหลักการอยู่แล้ว"
- -สำนักข่าว สยามรัฐ วันที่ 16 เมษายน 2560 - -