ประเด็นร้อน

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 11,2017

 กิตติกร แสงทอง


หมายเหตุ : "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "สยามรัฐ"เพื่อวิเคราะห์ และสะท้อนถึงการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้รัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินมาโดยต่อเนื่อง มีสาระที่น่าสนใจดังนี้

2 ปี นับตั้งแต่ คสช.เข้ามา ปัญหาการทุจริตของประเทศไทยอยู่ในระดับใด

ดิฉันคิดว่า 2 ปีที่ผ่านมาดีขึ้น เพราะตั้งแต่ที่คสช.เข้ามามีอำนาจนั้นก็มีความพยายามปราบทุจริตและมีความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือการให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เรียกกันว่า Integrity Pact หรือข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเรื่องการจัดซื้อรถประจำทาง ซึ่งไม่สามารถจัดซื้อได้เพราะว่าทางเอกชนเข้าไปสำรวจแล้วบอกว่าการกำหนดขอบเขตของงานหรือTerm of Reference (TOR) นั้นยังมีปัญหาอยู่

ดิฉันทราบว่ามีเอกชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในโครงการต่างๆของภาครัฐถึง 28 โครงการ รวมถึงโครงการการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่มาก  ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช.มี แต่รัฐบาลอื่นไม่มีตรงนี้ก็คงจะช่วยในเรื่องการปราบทุจริตได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรณีที่ "คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล"ที่เขาไปทำหน้าที่บอร์ดของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเข้าไปแก้ไขในส่วนของ TOR และเรื่องของทางรถไฟรางคู่ และมีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในรัฐบาลนี้ยังมีการจัดตั้ง "ศาลทุจริตคอร์รัปชัน"หรือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งคงช่วยได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาทาง TDRI ได้ศึกษามาพบว่าคดีทุจริตจะใช้เวลานานมากที่ศาลชั้นต้น โดยบางกรณีอาจจะนานถึงสิบกว่าปี เพราะต้องรอเข้าคิว แต่ในเวลานี้คดีทุจริตก็ไม่ต้องรอนานอีกต่อไปแล้ว สามารถวิ่งเข้าไปที่ศาลทุจริตคอร์รัปชันได้เลย หากเทียบกับเมื่อก่อน ประเทศไทยมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก่อตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยศาลดังกล่าวก็พิพากษาลงโทษแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีศาลสำหรับลงโทษบุคคลทุจริตที่ไม่ใช่นักการเมืองเลย

รัฐบาลทหารมีข้อจำกัดอหรือไม่ในการปราบปรามการทุจริต

ก็มีข้อจำโดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งตรงนี้ก็มีคนพูดกันเยอะว่าเพราะเสรีภาพสื่อยังมีปัญหาอยู่จึงส่งผลให้ อันดับของประเทศไทยในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นหรือ Corruption Percep tions Index (CPI) ของประเทศไทยนั้นลดลงจากเดิมอยู่อันดับที่ 76 ของโลกก็ลงไปอยู่ที่อันดับที่ 101 ซึ่งหากไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าที่อันดับประเทศไทยตกลงมาถึง 30กว่าจุดนั้นก็เพราะว่าคนที่จัดอันดับในดัชนีเขาเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไปใช้ดัชนีค่าธรรมาภิบาลหรือ Governance Index ของธนาคารโลก ซึ่งดูรายละเอียดของ Governance Index จะพบว่าคะแนนที่ประเทศไทยลดลงจาก 42 คะแนนไปอยู่ที่ 22 คะแนนก็คือคะแนนในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเสรีภาพในการแสดงออก

โดยสรุปก็คือการตรวจสอบภาคทุจริตนั้นดีขึ้นเพราะมีศาลคอร์รัปชัน แต่ในทางกลับกันยังไม่เห็นกลไกของภาคประชาชนที่ไม่ใช่ภาคธุรกิจหรือไม่ได้อยู่ในข้อตกลงคุณธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบทุจริตอย่างชัดเจน รัฐบาลทหารนั้นจะเน้นไปที่การปราบปรามการทุจริตโดยอาศัยองค์กรของรัฐเป็นหลักในการทำหน้าที่มากกว่า แต่ก็มีส่วนดีอย่างที่บอกไปก็คือการให้เอกชนมามีส่วนร่วมด้วยซึ่งรวมไปถึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ ACT ที่มี "ประมนต์ สุธีวงศ์" นั่งเป็นประธานอยู่

ที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์ทำให้ประชาชนได้ตื่นรู้ถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตอย่างเพียงพอหรือไม่

ที่ผ่านมามีการจัดทำผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่จัดทำผลสำรวจทุก 6 เดือน สอบถามคนประมาณ 2,000 คนทั่วประเทศไทย เพื่อวัดระดับความตื่นตัวของประชาชนต่อเรื่องของการทุจริต โดยเขามีคำถามว่าคิดว่าการทุจริตเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือไม่ และมีอีกคำถามที่ถามว่าคุณพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทุจริตหรือไม่ ถ้าหากดูจากผลสำรวจนั้นก็จะพบว่าความตื่นตัวนั้นมีมากขึ้นมาโดยตลอด ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาคนที่ตอบว่าคิดว่าการทุจริตเป็นเรื่องใกล้ตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ60 เมื่อ 6 ปีก่อนเป็นร้อยละ 90 ณ ขณะนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะโครงการประชาสัมพันธ์อย่างโครงการโตไปไม่โกงหรือไม่ ก็คงไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ดิฉันคิดว่าผลของการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนั้นชี้ชัดว่าคนไทยมองว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่หนัก มีการพูดถึงกันมากและทุกรัฐบาลก็ประสบกับปัญหานี้

มาตรการต่อต้านการทุจริตนั้นถือว่ามีหลากหลายมาก และโครงการโตไปไม่โกงเองก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น ที่จะใช้เพื่อการปลูกฝังเป็นมาตรการระยะยาวเพื่อคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงปัญหา แต่อย่างไรก็ตามมาตรการอื่นๆ ก็จำเป็นและต้องนำมาปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย อาทิ การปราบปราม จะต้องทำควบคู่กับการปลูกฝัง ถ้าหากไม่มีการขจัดการทุจริตที่ดีก็ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าจะโตไปแล้วถ้าทุจริตจะถูกทำโทษอย่างไร

หากพูดถึงเรื่องการปราบปรามก็คงทราบกันดีว่าในขณะนี้มีคดีที่ออกมาเป็นข่าวมากมายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องของการป้องกัน คิดว่าการรณรงค์นั้นก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากจะทำให้การป้องกันการทุจริตสามารถทำได้มากขึ้นกว่านี้จะต้องดูรูปแบบที่จะสามารถทำให้เข้าถึงประชากรในวงกว้างได้

เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อาทิ ที่เกาหลีใต้คิดว่าสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยเป็นอย่างไร

ก็ตามอันดับจาก CPI สถานการณ์ของประเทศเกาหลีใต้นั้นดีกว่าเรา แต่เกาหลีใต้เองก็มีปัญหาทุจริต ดิฉันศึกษาเรื่องเกาหลีใต้มาพบว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 5 คน ที่ผ่านมา ไม่มีใครไม่มีปัญหาเรื่องทุจริต แม้ว่าตัวประธานาธิบดีจะไม่ได้ทุจริตแต่ก็ติดร่างแหไปกับการที่ญาติพี่น้องมีปัญหาเรื่องการทุจริตทุกคน แต่ถ้าหากพูดถึงความก้าวหน้าด้านการปราบปรามและป้องกันการทุจริตต้องยอมรับว่าที่เกาหลีใต้นั้นก้าวหน้าไปกว่าไทยมาก ในเรื่องของการปราบปรามจะเห็นว่าประธานาธิบดีโดนกันหมดไม่มีการไว้หน้าใคร

ส่วนเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล ประเทศเกาหลีใต้ก็พัฒนาตรงนี้ไปเยอะมาก กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในด้านการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้กับประชาชน คุณภาพของการบริการสาธารณะของกรุงโซลนั้นจะมีการวัดคุณภาพและให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียนได้ ซึ่งนี่ก็คือตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องการทำให้การบริหารจัดการภาครัฐนั้นมีประสิทธิภาพต่อประชาชนมากที่สุดมีการดำเนินคดีทุจริตกับข้าราชการระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นจำนวนมาก คิดว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเป็นแค่การจัดการกับตัวเล็กเท่านั้น
          
คิดว่าที่ผ่านมามีกรณีการดำเนินคดีกับ "จุฑามาศ ศิริวรรณ" อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นตัวเล็กแต่อย่างใด แต่ปัญหาก็คือว่าเรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องที่ทางสห รัฐอเมริกาได้ลงดาบไปก่อนแล้ว ทางประเทศไทยถึงได้ตื่นมารับรู้ว่ามีข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องหรือติดร่างแหการทุจริตไปด้วย ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาคดีทุจริตระดับใหญ่นั้นหน่วยงานประเทศไทยไม่ได้เป็นหน่วยที่ริเริ่มหาข้อมูลเอง ต่างชาติเขาโวยวายขึ้นมาก่อนแล้วเราก็มารับรู้ว่ามันเกี่ยวกับคนไทยเช่นเดียวกับกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์หรือกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX เป็นต้น
         
สรุปก็คือว่าประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทนำเชิงรุกในการเปิดเผยการทุจริตหรือลุกขึ้นมาจับผู้ทุจริตรายใหญ่ๆเองได้จะต้องมีการกระทุ้งจากภายนอกประเทศหรือเกิดเหตุการณ์จากต่างประเทศขึ้นมาก่อน ก็แปลว่ากลไกในการตรวจสอบการทุจริตของประเทศไทยนั้นยังอ่อนแออยู่
          
ส่วนเรื่องการดำเนินคดีทุจริตซึ่งที่ผ่านมาไปไม่ถึงผู้ทุจริตรายใหญ่ ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงเพราะผู้บงการรายใหญ่นั้นฉลาดและไม่ทิ้งร่องรอยแต่ก็เชื่อว่าการแยกศาลออกเป็นการพิจารณาคดีในส่วนต่างๆ ทั้งข้าราชการ นักการเมือง ศาลปกติ ก็น่าจะช่วยแยกผู้ทุจริตรายเล็กรายใหญ่ได้
          
มีการเสนอความเห็นว่าควรลดโทษหรือให้ประโยชน์ผู้ทุจริตรายเล็กหากนำไปสู่การจับกุมผู้ทุจริตรายใหญ่หรือที่เรียกกันว่าหลักการ Whistle Blowing ซึ่งหลักการนี้ที่ต่างประเทศถือว่าใช้กันมากและถือว่าเป็นมาตรฐานสากลเพราะถ้าไม่ใช้จะไม่มีใครมาแจ้งเบาะแสเลยเพราะกลัวตัวเองจะโดนด้วย แต่สำหรับการใช้ในเมืองไทยนั้น เคยได้ยินว่ามีข้อเสนอนี้เช่นกัน แต่รู้สึกว่าประชาชนจะไม่ค่อยยอมรับว่าเรื่องทุจริตนั้นแค่มาแจ้งเบาะแสแล้วจะปล่อยไปเลย และก็มีความคิด ค่านิยมในประเทศไทยว่าการแจ้งเบาะแสนั้นเป็นการหักหลังกัน การหักหลังก็จะมีการเอาคืนโดยถึงแก่ชีวิต มีการฆ่าตัดตอนกัน และถ้าหากจะมาพูดถึงเรื่องการคุ้มครองพยานตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ก็ต้องยอมรับโครงการคุ้มกันพยานในประเทศไทยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับในต่างประเทศที่เห็นในภาพยนตร์ว่ามีการให้ตั๋วเครื่องบิน เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนชื่อ มีการคุ้มครองอย่างจริงจัง
          
หลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงใช้ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปราบโกงมากขึ้นหรือไม่
          
ดิฉันอ่านรัฐธรรมนูญ ดูก็ไม่เห็นว่ามีอะไรบ่งบอกตรงนี้ได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในแง่ของการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องบอกว่าสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้นจะเป็นเรื่องของหลักการแต่สิ่งที่จะเป็นการปฏิรูปนั้นจะเป็นเรื่องระบบการเมืองมากกว่า อาทิ ส.ส.จะมาจากไหน นายกฯจะมาจากไหน เช่นเดียวกันกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นแม้ในร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนว่าประชาชนจะมีสิทธิแสดงออกในเรื่องอะไรบ้าง แต่ก็จะมีเขียนเพิ่มเติมอีกว่ายกเว้นแต่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นข้อยกเว้นได้
          
อาทิ ยกเว้นไม่ให้กระทำในสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นต้น ดังนั้นถ้าหากจะดูว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปราบโกงมากน้อยไหน คงจะต้องไปดูในสิ่งที่เขียนลงในกฎหมายลูก ด้วยว่าจะบังคับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน รัฐธรรมนูญก็เป็นแค่สิ่งที่เขียนกว้างๆ เท่านั้นในแง่ของหลักการ และบางทีกฎหมายลูกก็ยังดูไม่ออกอีก ต้องลงลึกไปถึงกฎหมายที่ย่อยลงไปภายใต้กฎหมายลูกอีกว่าจะทำให้เกิดการบังคับใช้ได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
          
มีการพูดถึงการปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบาย ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ลำบาก
          
จริงๆ แล้วที่มาของปัญหาเรื่องทุจริตเชิงนโยบายนั้นมาจากความหละหลวมในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ถ้าหากเราบอกว่าโครงการนี้เป็นทุจริตเชิงนโยบายก็หมายความว่าโครงการนั้นทำมาเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะถ้าหากการจัดสรรงบประมาณของประเทศไทยมีหลักเกณฑ์ที่รอบคอบและมีเกณฑ์ที่ชัดเจน โครงการจะเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะไม่ผ่าน
          
เช่นถ้าบอกว่ารัฐบาลจะทำโครงการอะไรสักอย่าง ผลการประเมินนั้นจะต้องออกมาแล้วว่าใครจะได้ประโยชน์และใครจะเสียประโยชน์บ้าง จะใช้เงินแค่ไหนอะไรจะเป็นหลักการรับรองความสำเร็จ ต้องใช้เงินจากตรงนี้เพราะอะไร จะมีทางเลือกอื่นหรือไม่ เพราะฉะนั้นในต่างประเทศเรื่องทุจริตเชิงนโยบายจะออกมายาก เพราะจะมีการจับได้ตั้งแต่เสนอโครงการขึ้นมาแล้ว และเขาก็จะมีการตรวจสอบผลกระทบจากนโยบายอย่างชัดเจน
          
เช่น โครงการนี้ประชาชนทุกคนจะได้ผลประโยชน์ตามที่ รัฐบาลได้กล่าวอ้างจริงหรือไม่ แต่ถ้าหากประเทศไทยยังเป็นระบบที่ว่ารัฐบาลของบประมาณอะไรมา ก็ให้หมด ไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจนก็จะทำให้เกิดการทุจริตได้ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องปฏิรูปในเรื่อง การจัดสรรงบประมาณได้ด้วย เพื่อจะให้หยุดการทุจริตตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มทำให้เกิดความเสียหาย ดีกว่าจะไปหยุดโครงการกลางคันเพราะถือว่าสายไปแล้ว
          
กรณีตัวอย่างของการปราบทุจริตที่เด่นชัดที่สุดของประเทศไทยที่ผ่านมาคืออะไร
          
ดิฉันคิดว่าเป็นกรณีของนายรักเกียรติ สุขธนะ(สันติ สุขธนะ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2540-2541 แล้วถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตจัดซื้อยาซึ่งเรื่องนี้ถือเร็วมากมีการดำเนินคดีแค่ 3 ปีเท่านั้น โดยนายรักเกียรติถือว่าเป็นนักการเมืองคนแรกและคนเดียวที่ติดคุกเพราะกรณีทุจริต เป็นคดีแรกที่เห็นว่าการปราบทุจริตของประเทศไทยนั้นมีน้ำยาอย่างแท้จริงต้องยอมรับว่ากรณีนี้ถือว่าเร็วมาก แค่ศาลเดียวจบ
          
สิ่งที่อยากฝากไปยังผู้ร่างกฎหมายลูกเพื่อป้องกันการทุจริต และฝากไปยังประชาชน
          
ขอฝากผู้ที่จะทำกฎหมายเพื่อปราบการทุจริตว่า ขอให้เน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดเพราะปัญหาทุจริตในเมืองไทยไม่สามารถแก้ได้ด้วยองค์กรอิสระทั้งหมด เพราะเป็นภาระที่ใหญ่เกินไปจึงต้องการคนมาทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา มาเพื่อช่วยเหลือ ดังนั้นการเปิดข้อมูลจะให้พลังกับภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบทุจริตมากที่สุด
          
ในทางกลับกันถ้ายิ่งเก็บข้อมูลก็จะทำให้เกิดการทุจริตมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลเรื่องจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐบาลชุดนี้ได้เปิดเผยออกมาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะทำให้รู้เลยว่าพื้นที่ไหนมีการประมูลโครงการของรัฐกันอย่างไร มีเจ้าไหนชนะไปกี่รอบแล้ว เรียกได้ว่ารัฐบาลนั่งอยู่เฉยๆก็มีคนมาช่วยดูเรื่องการทุจริตให้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ขอย้ำว่ารัฐบาลต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ไม่ใช่ปกปิดข้อมูลเอาไว้เหมือนเมื่อก่อน และประชาชนเองก็ต้องกระทุ้งตัวเองให้มีส่วนร่วมมากที่สุดในการตรวจสอบการทุจริตให้มากที่สุดเช่นกัน

- - สำนักข่าว สยามรัฐ วันที่ 11 เมษายน 2560 - -