ประเด็นร้อน

ราชการไทย ระบบที่รอวันรื้อแล้วสร้างใหม่

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Nov 01,2023

ราชการไทย: ระบบที่รอวันรื้อแล้วสร้างใหม่

ทุกข์เมื่อต้องไปติดต่อราชการ เริ่มจากการเตรียมเอกสารมากและหยุมหยิม ต้องเดินเรื่องผ่านหลายโต๊ะ ไปหลายหน่วยงาน เทียวไปเทียวมาส่งเอกสารเพิ่มเติม สับสนไปด้วยเงื่อนไข กฎระเบียบและดุลยพินิจ
หลายคนแก้ปัญหาด้วยการจ่ายใต้โต๊ะเป็น ‘ค่าเร่งเวลา’ ใครเงินมากก็ตัดรำคาญโดยจ้างนายหน้าไปเดินเรื่อง
 
การพัฒนาเพื่อขจัดปัญหา ลดอุปสรรค ลดขั้นตอน..
 
มีความพยายามแก้ที่รากเหง้าของปัญหา โดยหวังว่าเมื่อทุกหน่วยงานเข้าระบบแล้วต่อไปเวลาประชาชนติดต่อใช้บริการก็ไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยราชการก็ได้ การใช้เทคโนโลยี่ที่ดียังเกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ช่วยให้งานเร็ว ประหยัดในระยะยาว แม่นยำผิดพลาดน้อย เป็นธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจ ลดคอร์รัปชัน ลดความขัดแย้ง โดยผู้เขียนแบ่งภารกิจแก้ไขปัญหาเป็นสองกลุ่มคือ
 
กลุ่มแรก: เปลี่ยนรัฐบาลให้ทันสมัย มุ่งเป้าวางระบบและวางโครงสร้างพื้นฐาน ให้ภาครัฐในแต่ละกรม กระทรวง หรือหน่วยปกครองท้องถิ่น ได้ลงทุนพัฒนาระบบ Information Technology (IT) และก่อตั้งหน่วยงานใหม่หลายแห่ง เพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่เชื่อมโยง วิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของรัฐ
ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงและนำไปใช้ได้ง่าย เข้ากับวิถีชีวิตและความต้องการของคนรุ่นใหม่ มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนผู้มาใช้บริการและเปิดเผยต่อสาธารณชน (Open Data Government) เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
สภาพปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ‘การลงทุน’ เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ ‘ผลที่ได้’ หลายอย่างถือว่าต่ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤต เป็นต้นว่า ‘ความพึงพอใจ’ ของประชาชนต่อบริการของรัฐปี 2565 แย่ลงเมื่อเทียบกับสี่ปีก่อนหน้า
เนื่องมาจากความพร้อมหน่วยงานระดับกรมซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการยังต่ำอยู่ การปรับเปลี่ยนการทำงานให้เป็นดิจิทัลได้จริง บุคลากรยึดมั่นการทำงานแบบมืออาชีพ ขาดเจตจำนงค์เพื่อบริการประชาชนล้วนอยู่ในเกณฑ์วิกฤตเช่นกัน (รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 2565, สภาพัฒน์ฯ, น. 802 – 810)
เกิดข้อขัดข้องจากการที่แต่ละหน่วยงานต่างฝ่ายต่างจัดการ ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นไปได้ยาก อีกทั้งหน่วยงานหลายแห่งมีข้อจำกัดตามกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลหรือให้ผู้อื่นนำไปใช้
 
กลุ่มที่สอง: รื้อระบบบริการประชาชนใหม่ เริ่มด้วยการออก พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตฯ พ.ศ. 2558 ประกอบกับคำสั่ง คสช. และมติ ครม. มี ก.พ.ร. เป็นแม่งานรวบรวม ศึกษา เสนอแนะ และติดตามการปฏิรูปการให้บริการประชาชน เพื่อขจัดความยุ่งยาก ลดขั้นตอน ลดเอกสาร ลดภาระประชาชนและพ่อค้านักธุรกิจ
 
เป็นต้นว่า ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งมี e – Service, e – Payment, e – License, ศูนย์บริการ One stop service เปิดรับจองคิวทางออนไลน์ ประชาชนรู้โดยง่ายว่าต้องใช้เอกสารอะไร มีขั้นตอนอย่างไร จะเสร็จในกี่นาที กี่วัน ติดตามได้ว่าเรื่องของตนไปถึงไหนแล้ว ไม่เรียกเก็บค่าคำร้อง/ค่าธรรมเนียมพร่ำเพรื่อ
 
วางระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานจะได้ไม่ต้องเรียกสำเนาจากผู้มาติดต่อ ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดขั้นตอนและลดเอกสารลงให้ได้ 35% – 50% ที่สำคัญคือเงื่อนไขกฎระเบียบที่ล้าสมัยก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสีย เป็นต้น
 
สภาพปัจจุบัน นักการเมืองและผู้บริหารขาดความเข้าใจเป้าหมายของชาติ ไม่พยายามทำสิ่งใหม่ พัฒนาให้ดีขึ้น แต่กลับตีกรอบสร้างข้อยกเว้นให้ตนเอง ขาดการทบทวนแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบภายในหน่วยงาน
 
บทสรุป
เราหมดงบประมาณไปมากแต่ผลสำเร็จที่ได้ยังน้อยเกินไป เพราะหน่วยงานส่วนใหญ่ยัง ‘หวงอำนาจและผลประโยชน์’ อยู่กันแบบเคยชิน รอแต่คำสั่งว่าต้องทำอะไร ไม่กระตือรือร้นปรับปรุงตัวเอง
ปฏิเสธการทำงานอย่างโปร่งใสโดยอ้าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ อ้างสิทธิส่วนบุคคล ความลับราชการหรือความลับทางการค้า ที่เพิ่มความงุนงงสงสัยให้ประชาชนทุกข์หนักไปอีก
การรื้อแล้ววางระบบใหม่ในการบริหารราชการและบริการประชาชน จะยกระดับประเทศไทยให้ทันโลก ช่วยลดคอร์รัปชันได้ตรงจุดและยั่งยืน
แต่การขับเคลื่อนโดยภาครัฐเพียงลำพังนั้นเป็นไปได้ยาก จำต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนช่วยกันเสนอแนะ ตรวจสอบ กระตุ้นหน่วยงานรัฐเดินหน้าอย่างถูกต้อง เปิดเผยกว่าที่เป็นอยู่
ขอจบบทความนี้ด้วยข้อเรียกร้องขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
ข้อแรกและเร่งด่วนคือ ‘กำหนดให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์’ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะไม่มีทางหยุดยั้งคอร์รัปชันที่กำลังวิกฤตได้เลย
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
1 พฤศจิกายน 2566