บทความ
สินบนที่คน กทม. ต้องจ่ายเมื่อก่อสร้างต่อเติมบ้าน
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Feb 02,2023
สินบนที่คน กทม. ต้องจ่ายเมื่อก่อสร้างต่อเติมบ้าน
...
ใครจะเชื่อว่าคน กทม. มากถึงร้อยละ 43 ต้องจ่าย “สินบน เงินใต้โต๊ะ” ให้เจ้าหน้าที่ เมื่อไปยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง/ต่อเติมบ้าน และระหว่างการก่อสร้างยังต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่อีกหลายหน่วยงานเป็น “ค่าดูแล” หรือ “ค่ามองไม่เห็น” มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่และสภาพโครงการ ขณะที่บางรายเป็นฝ่ายเสนอสินบนให้เจ้าหน้าที่เพราะตนเองทำบางอย่างผิดกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนโดยรอบ
จำนวนเงินที่ต้องจ่าย..
การขออนุญาตก่อสร้าง/ต่อเติมบ้านและอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ กทม. มีจำนวนราว 1.6 หมื่นรายต่อปี โดยร้อยละ 70 เป็นบ้านอยู่อาศัย (ข้อมูล สนง. สถิติแห่งชาติ ระบุจำนวนโครงการ/ราย แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นบ้านทั่วไป หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และแต่ละประเภทจำนวนเท่าใด)
1. กรณีก่อสร้างต่อเติมบ้านพักอาศัย จะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือที่เรียกกันว่า “ค่าเร่งเวลา” ให้เจ้าหน้าที่ กทม. ประมาณ 3,000 – 20,000 บาทต่อราย เฉลี่ยรายละ 9,394 บาท (ข้อมูล TDRI)
2. กรณีก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเม้นท์ ตึกแถว อาคารขนาดใหญ่ ฯลฯ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะที่เอกชนเรียกว่า “ค่าใช้จ่ายที่บันทึกรายการไม่ได้” ให้แก่เจ้าหน้าที่จาก 15 – 22 หน่วยงานในแต่ละโครงการ เป็นเงินราวร้อยละ 1.5 ของมูลค่าโครงการ
ที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับข้อมูลจำนวนมากจากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงผู้มีวิชาชีพออกแบบอาคารทั้งวิศวกรและสถาปนิก ทำให้เชื่อว่า ผู้ประกอบการราวร้อยละ 98 ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเมื่อยื่นเรื่องขอก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ หน้าเก่าหรือหน้าใหม่
3. ค่าเร่งเวลาและค่าใช้จ่ายที่บันทึกรายการไม่ได้ที่กล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงิน “ค่าดูแลหรือค่ามองไม่เห็น” ที่เจ้าหน้าที่รีดไถระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งโครงการขนาดใหญ่อาจต้องจ่ายให้กับคนที่อ้างว่ามาจาก 22 - 25 หน่วยงาน เช่น โยธา เทศกิจ แรงงาน ตำรวจท้องที่ ตำรวจ ตม. (จับแรงงานต่างด้าว) ขึ้นอยู่กับพื้นที่เขตและสภาพโครงการ
4. เพื่อตัดปัญหาการเจรจาและจ่ายเงินใต้โต๊ะ เจ้าของโครงการบางรายยอม “จ้าง” เจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้ออกแบบบ้านหรืออาคารนั้น วิธีนี้แม้สะดวกแต่แพงมากเพราะรวม “ค่าดูแล” แล้ว แต่ผลงานที่ได้มักด้อยเรื่องความสวยงาม และประโยชน์ใช้สอย
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ..
มูลค่าเงิน 1,252 ล้านบาทต่อปี คือต้นทุนดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้าง เช่น ค่าเดินทาง ค่าจัดเตรียมเอกสาร ฯลฯ ยังไม่รวมสินบนเงินใต้โต๊ะ หากมีการปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ประชาชนและเอกชนประหยัดได้ โดย TDRI จำแนกไว้ดังนี้
ก. อาคารไม่เกิน 300 ตารางเมตร (บ้านพักอาศัย) 31,022 บาทต่อใบอนุญาต
ข. อาคารขนาด 5,000 ตารางเมตร 364,786 บาทต่อใบอนุญาต
ในปี 2561 สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานว่า ค่าเร่งเวลาที่ต้องจ่ายกันนั้นอาจมากถึงร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของประชาชนในการขอใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาออกใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ไว้ 165 วันหรือราว 5 เดือน แต่ปัจจุบัน กทม. ใช้เวลา 30 – 60 วัน คิดเฉลี่ย 42 วัน แยกเป็นช่วงแรก หลังยื่นเอกสารแล้ว 24 วัน โดยเฉลี่ย จึงจะได้ใบแจ้งหรือหนังสือรับรองว่า “ยื่นเอกสาร” แล้ว จากนั้นอีกประมาณ 18 วันจึงได้รับใบอนุญาต
การแก้ไข..
การจ่ายสินบนเงินใต้โต๊ะเพื่อมิให้ถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ดึงเรื่อง รอคิวนาน สั่งแก้ไขแบบก่อสร้าง ให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมอย่างไม่สิ้นสุด เป็นเรื่องที่คน กทม. รับรู้กันมานานแล้ว
ขณะนี้ ผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหาร ได้ตอบรับข้อเสนอจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจาก
มาตรการเร่งด่วน สร้างความโปร่งใสโดยเปิดระบบ “ใบอนุญาตยิ้ม” รองรับการยื่นขอก่อสร้างบ้านพักอาศัยพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 300 ตร.ม. ให้ประชาชนสามารถยื่นและติดตามเรื่องได้ทางเว็บไซ้ท์ และเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หากจำเป็นต้องให้แก้ไขหรือยื่นเอกสารเพิ่ม จะเรียกได้เพียงครั้งเดียว (http://smilepermit.bangkok.go.th/)
มาตรการระยะยาว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่รวดเร็วและแม่นยำ ทาง TDRI ได้ทำการวิจัยเรื่อง “กิโยตินกฎระเบียบ เพิ่มโปร่งใส ใบอนุญาตก่อสร้าง กทม.” ด้วยเงินทุนสนับสนุนของภาคเอกชน เพื่อหาทางยกเลิก แก้ไข ลดทอน กฎหมาย ระเบียบหรือขั้นตอนที่ล้าสมัย สร้างภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น พร้อมแนะนำกลไกใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการบริการประชาชน (https://tdri.or.th/.../regulatory-guillotine.../ )
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอ์รัปชัน (ประเทศไทย)
2 กุมภาพันธ์ 2566