บทความ

‘รัฐลึกลับ’

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Oct 29,2021

 ‘รัฐลึกลับ’

เบื่อไหมกับพฤติกรรมนักการเมืองและข้าราชการใหญ่ที่นิ่งเฉยเมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการปฏิบัติหน้าที่ แถมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังยกสารพัดเหตุผลที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ชาวบ้านเห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร
โพสต์นี้รวบรวมข้ออ้างเหล่านั้นมาให้ทุกท่านทราบ เพื่อหาทางฉุดให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากสภาพรัฐที่เต็มไปด้วยเรื่องลึกลับด้วยกัน
ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่รัฐ..
1. เป็นความลับราชการ ขัดต่อกฎหมาย - กฎระเบียบของหน่วยงาน ขัดต่อกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หลายกรณีพบว่าเป็นกฎระเบียบที่หน่วยงานรัฐจงใจออกมาเพื่อปกปิดข้อมูลที่เคยเปิดเผยได้ แม้มีผู้โต้แย้งว่าขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยคือ กรณีของ ป.ป.ช. และกองทัพ เป็นต้น
2. เป็นความลับทางการค้าหรือเป็นเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับเอกชนคู่สัญญา (มีเยอะเสียด้วย!!)
3. เจ้าหน้าที่ ‘เห็นว่า’ ผู้ขอข้อมูลบางรายมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ หรือขอเอกสารไปมากแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้นำข้อมูลไปใช้โดยมีวัตถุประสงค์ซับซ้อนแตกต่างกันมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงหากเปิดเผยข้อมูลมากเกินไป
4. ความลับของราชการอาจรั่วไหลแม้ว่าผู้ขอข้อมูลจะเป็นหน่วยราชการก็ตาม (ท่านคงลืมไปว่าสามารถป้องกันได้ ที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานจะทำให้งานราชการแผ่นดินลุล่วงเร็วขึ้น มีข้อมูลรัดกุมรอบด้านมากขึ้น)
5. ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้กฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ เพราะมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ เมื่อคนใหม่ไม่เข้าใจกฎหมายก็ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือเลือกทำในแบบที่เคยปฏิบัติกันมา
6. เอกสารที่เกี่ยวข้องมีเยอะมากและมีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาราชการ เมื่อผู้ขอไม่ระบุชื่อให้ถูกต้องก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร เจ้าหน้าที่จึงปฏิเสธไป (แม้จะรู้ว่าผู้ขอต้องการอะไร)
จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐมานาน ผู้เขียนเห็นเพิ่มเติมว่า..
7. เจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจปกปิดข้อมูล เพราะ
ก. ต้องการปกปิดความผิด ข้อบกพร่องที่ตนและพวกได้ทำลงไปหรือกำลังจะทำ
ข. ไม่แน่ใจว่างานที่พวกตนรับผิดชอบมีข้อบกพร่องหรือมีอะไรเบื้องหลังหรือไม่ จึงไม่อยากมีภาระต้องชี้แจงในวันข้างหน้า
ค. ทัศนคติหัวโบราณของเจ้าหน้าที่ เช่น ไม่เห็นความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ประชาชนต้องรู้ ความเคยชินที่เคยอะไรง่ายๆ มานาน ดังสะท้อนจากคำพูดที่ว่า “ให้แค่นั้นพอแล้ว”
8. รัฐบาลไม่มีนโยบายที่เด็ดขาดชัดเจน ถึงแนวทางการเปิดเผยข้อมูล บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนและการปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูล เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะปกปิดข้อมูลไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
9. กฎหมายขัดหรือแย้งกัน เจ้าหน้าที่จึงเลือกทำสิ่งที่ง่ายหรือปลอดภัยกว่า เช่น ข้อมูลการจัดซื้อฯ ที่ต้องเปิดเผย พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ จะเข้มงวดน้อยกว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ
10. แม้จะรู้ว่ากฎหมายหรือนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนไปแล้ว แต่บ่อยครั้งยังพบว่า เจ้าหน้าที่จำต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือนโยบายของหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา
11. แม้แต่การเปิดเผยข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองก็มีปัญหา เช่น
ก. เจ้าหน้าที่หวงข้อมูล เพราะเชื่อว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นผลงานของตนหรือของหน่วยงาน และเป็นปัจจัยให้ตนมีผลงานเหนือผู้อื่น
ข. เจ้าหน้าที่เห็นว่า หน่วยงานที่ขอข้อมูลไม่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนั้นจึงปฏิเสธความร่วมมือตัวอย่างชัดเจนคือ ความล่าช้าในการบริการประชาชนโดยไม่ต้องเรียกสำเนาบัตรประชาชนและเอกสารอื่นที่ราชการเป็นผู้ออกให้ เรื่องนี้ล่วงเลยมาหลายปีแล้ว
12. ระบบงานหรือระบบสารสนเทศเป็นอุปสรรค เช่น ความไม่พร้อมของระบบจัดเก็บ ขั้นตอนปฏิบัติงาน ขาดการจำแนก สะสางและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมเป็นระยะ
บทสรุป..
เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดที่กล่าวมา เราคงต้องเห็นพ้องกันก่อนว่า ก) “ประโยชน์ของสาธารณะ สำคัญกว่าประโยชน์ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ” ข) “นักการเมือง” คือผู้เสนอตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนและรับผลประโยชน์จากรัฐ จึงต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยอย่างโปร่งใสยิ่งกว่าใคร ค) “เอกชนที่สมัครใจเข้าทำธุรกิจหรือแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐ” เช่น ซื้อขาย - ให้บริการ รับสัมปทาน รับเงินทุนจากรัฐ ย่อมมีหน้าที่แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจและข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย
การปฏิบัติตามบันทัดฐานร่วมกันจะทำให้มีเรื่องลึกลับจะน้อยลง ข้าราชการที่ตั้งใจทำสิ่งถูกต้องจะปฏิบัติตัวง่ายขึ้น สังคมก็สบายใจว่าอย่างไรคือความโปร่งใส สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ด่าประนามลงโทษคนฉ้อฉลได้เต็มที่
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
29 ตุลาคม 2564