สื่อประชาสัมพันธ์

กฎบัตรคณะกรรมการส่งเสริม โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และ โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 28,2020

กฎบัตรคณะกรรมการส่งเสริมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และ โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)

 

     องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ตระหนักถึงความสําคัญของการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จึงได้ดำเนินโครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP : Integrity Pact) และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST : Infrastructure Transparency Initiative) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดยขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ผ่านกระบวนการทำงานของผู้สังเกตการณ์ และการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ประชาชนทั่วไปทราบ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน

 

1.   หลักการ และวัตถุประสงค์

        ปี 2561 ACT ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ คปท.) ให้เป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อขึ้นบัญชีรายชื่อผู้สังเกตการณ์ คัดสรรผู้สังเกตการณ์ลงโครงการ รวบรวมติดตามการจัดทำรายงาน ให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาการทำงานในโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)  ACT จึงมอบหมายกรรมการองค์กรฯ และ/หรือกรรมการบริหารฯ จำนวน 4 คน เรียกว่า ACT IP-CoST ทำหน้าที่เป็นผู้แทน ACT รับผิดชอบกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ 

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของ (ACT IP-CoST) มีรูปแบบโครงสร้างการทำงานชัดเจน ขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรฯ จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (IP-CoST Facilitation Body : IP-CoST FB) และกําหนดกฎบัตรคณะกรรมการฯ ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

 

2. องค์ประกอบ และคุณสมบัติ

คณะกรรมการส่งเสริมโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (IP-CoST FB) มีจำนวนกรรมการอย่างน้อย 7 คน แต่ไม่เกิน 15คน ประกอบด้วย

2.1 กรรมการองค์กรฯ และ/หรือ กรรมการบริหารฯ ที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ จำนวน 4 คน โดยทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการฯ 1 คน   

2.2  กรรมการที่มาจากหัวหน้าทีมผู้สังเกตการณ์จำนวน 3 -10 คน ที่กรรมการองค์กรฯ ตามข้อ 1 แต่งตั้ง โดยกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจะต้องสามารถอุทิศเวลาเข้าร่วมการดำเนินงานและขับเคลื่อนภารกิจของโครงการฯ ได้อย่างสม่ำเสมอ

2.3 ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

 

 3. หน้าที่ และความรับผิดชอบ

3.1 กำหนดนโยบาย หลักการทำงาน แผนงานงบประมาณและกำกับดูแลโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

3.2 กำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์และจัดประชุมติดตามความคืบหน้าการทำงาน ให้คำแนะนำการทำงานให้แก่ผู้สังเกตการณ์

3.3 ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการ คปท. และฝ่ายเลขานุการฯ (กรมบัญชีกลาง) เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ 

3.4 สรรหา คัดเลือก แต่งตั้ง ปรับเปลี่ยนและถอดถอน ผู้สังเกตการณ์

3.5 จัดอบรมหรือกิจกรรมให้ความรู้และจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์

3.6 รวบรวมรายงานผลการติดตามโครงการจากผู้สังเกตการณ์ ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการและรายงานต่อคณะกรรมการ คปท. เพื่อพิจารณาดำเนินการ

3.7 ดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการจากองค์กรภายในและภายนอกประเทศ

3.8 ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และเปิดเผยข้อมูลโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ

3.9 ปฏิบัติงานตามที่ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มอบหมาย   

 

4. วาระการดํารงตําแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและค่าตอบแทน

4.1 วาระการดํารงตําแหน่ง

               • กรรมการที่มาจากหัวหน้าทีมผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับแต่งตั้งมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 3 ปี โดยสามารถเลือกกลับเข้ามาใหม่ได้

4.2 การพ้นจากตําแหน่ง

      4.2.1 กรรมการ IP-CoST FB พ้นจากตําแหน่งเมื่อ

               • ครบกําหนดวาระการดํารงตําแหน่ง

               • ลาออก

               • เสียชีวิต

               • คณะกรรมการองค์กรฯ มีมติให้พ้นจากตําแหน่ง    

4.2.2 ในกรณีที่ตําแหน่งกรรมการ IP-CoST FB ว่างลง เพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้กรรมการตามข้อ 2.1 แต่งตั้งหัวหน้าทีมผู้สังเกตการณ์ที่เหมาะสมทำหน้าที่แทน  โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจะอยู่ในตําแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่คงเหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน

4.3 ค่าตอบแทน

              • กรรมการไม่ได้รับค่าตอบแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

 

5.  การประชุม

          5.1 คณะกรรมการ IP-CoST FB ต้องจัดการประชุมตามที่เห็นสมควรอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง

       5.2 การประชุมคณะกรรมการ IP-CoST FB ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด จึงจะครบเป็นองค์ประชุม

       5.3 มติที่ประชุมใช้เสียงข้างมากของกรรมการฯ ที่มาประชุม ทั้งนี้กรรมการฯ ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องใดจะต้องไม่เข้าร่วมในการพิจารณา

 

6. การรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ IP-CoST FB

คณะกรรมการ IP-CoST FB มีหน้าที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการ ACT ภายในเวลาที่เหมาะสม

 

*กฎบัตรคณะกรรมการ IP-CoST FB ฉบับนี้ ได้รับอนุมัติ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป