ประเด็นร้อน
จับตา กพอ.บ่ายนี้ ชี้ขาด 'ไฮสปีด 3 สนามบิน-ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3'
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 29,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
ร.ฟ.ท.ชงร่างสัญญาไฮสปีด 3 สนามบินเข้า กพอ.บ่ายนี้ ตั้งเป้าลงนาม “ซีพี” 15 ต.ค.หลังเคลียร์เอกสารแนบท้ายจบ ยันส่งมอบพื้นที่ตาม RFP ไม่ต่ำกว่า 50% ชี้รัฐรับภาระรื้อเสา “โฮปเวลล์” "กทท." รายงาน กพอ.เคาะทางออกแหลมฉบัง
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานบ่ายนี้ (30 ก.ย. เวลา 13:30น.) จะประชุมหาข้อสรุปของ 2 โครงการสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ
1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่มีปัญหาการเจรจาเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาที่จะลงนามกับกิจ การร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี)
2.การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งตัดสิทธิการร่วมประมูลของ กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาร่างหนังสือและร่างสัญญาเอกสารแนบท้ายที่ประกอบด้วย เอกสารการส่งมอบพื้นที่เป็นหลัก โดยจะเสนอ กพอ.บ่ายนี้ (30 ก.ย.) เพื่อรับทราบร่างสัญญาและร่างเอกสารแนบท้ายสัญญา และถ้า กพอ.เห็นชอบจะแจ้งกลุ่มซีพีรับทราบและไม่ต้องนัดเจรจาอีก ซึ่งเบื้องต้นกำหนดวันลงนามสัญญาตามกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้ในวันที่ 15 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ การเจรจาเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาในประเด็นการส่งมอบพื้นที่นั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยึดตามข้อกำหนดในเอกสารข้อเสนอโครงการ (RFP) ที่ระบุให้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่อย่างน้อย 50% ของส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการก่อสร้างโครงการ 2 ส่วน คือ
1.ส่วนพญาไท–ดอนเมือง และ
2.ส่วนสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา
จบประเด็นส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ปัญหาส่งมอบพื้นที่ที่เจรจากันมานานได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว โดย ร.ฟ.ท.รับผิดชอบเคลียร์พื้นที่ 2 ส่วนหลัก คือ
1.ส่วนแรกบนดินที่มีผู้บุกรุก โดย ร.ฟ.ท.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายโยกย้ายผู้บุกรุก ส่วนเอกชนจะรับผิดชอบการเคลียร์พื้นที่และการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่เหลือ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของโครงการก่อสร้างที่ผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบในการรื้อย้ายและเคลียร์หน้าดินเพื่อเตรียมงานก่อสร้าง
2.ส่วนใต้ดิน โดย ร.ฟ.ท.ในฐานะคู่สัญญากับเจ้าของสาธารณูปโภคในพื้นที่จะรับหน้าที่ในการบอกเลิกสัญญากับสาธารณูปโภค ซึ่งสัญญาที่ทำร่วมกับสาธารณูปโภคได้กำหนดไว้แล้วว่าบอกเลิกสัญญาได้ และเจ้าของโครงการสาธารณูปโภคจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้าย แต่จะต้องบอกเงื่อนไขของการรื้อย้ายให้ทราบด้วยว่า จะรื้อย้ายสาธารณูปโภคดังกล่าวไปพื้นที่ใด โดยหน้าที่กำหนดแนวทางรื้อย้ายจะเป็นของกลุ่มซีพี เพราะกลุ่มซีพีเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง
สำหรับพื้นที่เวนคืนต้องจะดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งประเด็นนี้ไม่น่าหนักใจเพราะมีกรอบการดำเนินการชัดเจน โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อรอขั้นตอนออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว และเมื่อประกาศบังคับใช้ก็เริ่มดำเนินการเวนคืนได้เลย