สื่อประชาสัมพันธ์
Ai ใช้เครื่องมือ สู้คนโกง
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 18,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ลงมือสู้โกง : โดย ณัฐภัทร เนียวกุล
ในแต่ละวันที่ท่านผู้อ่านก้าวเท้าออกจากบ้าน ขับรถไปทำงานนั่งรถโดยสารไปซื้อของ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทานข้าว ขี่จักรยานหรือแม้แต่เดินไปทำธุระ ท่านคงได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ที่กวนใจ ท่านอยู่ไม่น้อย ผมมั่นใจว่า หนึ่งในนั้นคงเป็น กระเบื้องปูทาง เท้าที่ชำรุดมาหลายปี หลังฝนตกแต่ละครั้ง เหยียบลงไปก็ไม่รู้ว่าแผ่นไหนที่น้ำจะพุ่งขึ้นมา ฝาท่อระบายน้ำที่ยุบตัวลงไปไม่รู้ว่าใครจะกลายเป็นผู้โชคดีร่วงลงไปก่อนกัน ถนนที่เป็นหลุมบ่อ เหมือนโลกพระจันทร์ ไฟฟ้าสาธารณะที่ดับสนิทมานานหลายปี เกิดเป็นความสงสัยว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นเพราะความเสื่อมสภาพตามกาลเวลาหรือเพราะการทุจริตคอร์รัปชันกันแน่
พอเงยหน้าจากทางเท้ามาอ่านหนังสือพิมพ์ก็เจอพาดหัวข่าวรายวันเป็นการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการใหญ่น้อยของภาครัฐจนชินตา ท่านทราบไหมครับว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เกิดขึ้นกว่าหลาย 5 ล้านโครงการ ใช้งบประมาณกว่า 1.3 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากระบบ E-GP ของกรมบัญชีกลาง) เคยมีงานศึกษาให้ข้อสรุปว่า งบประมาณดังกล่าวรั่วไหลไปสู่การทุจริตกว่า 30% (หรือเท่ากับประมาณ 3.9 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่างบประมาณของกระทรวง อันดับ 1 อย่างกระทรวงศึกษาธิการถึง 3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี'63)
ทั้งความสงสัยที่เกิดจากภาพที่ท่านเห็นอยู่ข้างหน้าด้วยตาท่านเอง และความเศร้าใจที่เห็นความสูญเสียของงบประมาณชาติในโครงการขนาดใหญ่ที่ไร้ประสิทธิภาพ กลายเป็นความรู้สึกอึดอัดกวนใจให้กับคนไทยจำนวนมากที่ปลุกเร้าพลังไม่รับ และไม่ทนกับการคอร์รัปชันอีกต่อไป ร่วมกันขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันในหลายๆ โครงการตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่การจับคนโกงชาติเข้าคุกไปหลายคน และประหยัด งบประมาณแผ่นดินไปได้มหาศาล แต่คำถามคือ พลังของคนไทย ที่ไม่รับและไม่ทนกับการคอร์รัปชันนี้เพียงพอแล้วหรือไม่ในการต่อสู้กับปัญหาที่หมักหมมอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน
ข่าวดีคือ ในวันนี้ที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นโอกาสที่จะนำปัจจัยนี้มาช่วย "เสริมพลัง" ให้กับประชาชนในการต่อสู้กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมาก ซึ่งช่องทางที่เป็นโอกาสสำคัญนี้ ก็คือการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ทางสังคม เพื่อสร้างความโปร่งใส ให้สังคมสามารถเข้าถึงข้อมูล เพิ่มช่องทางให้ประชาชนในการมีบทบาทร่วมกันตรวจสอบและใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ที่มากขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก พูดถึงประเทศที่ใกล้บ้านเราหน่อยเช่น ไต้หวัน ก็เป็นประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นอันดับ 1 จากการจัดลำดับของ global data index ในปี ค.ศ. 2016 เพราะมีการเปิดเผย ข้อมูลในหลายด้าน เช่น งบประมาณภาครัฐ ข้อมูลสถิติต่างๆ รวมไปถึงผลการเลือกตั้ง ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา นโยบายการเปิดเผยข้อมูลก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา ในปี ค.ศ. 2009 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Memorandum on Transparency and Open Government) เพื่อสร้างรัฐที่เปิดเผยและมีความรับผิดชอบ ลดอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนักล็อบบี้ เปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงง่ายสามารถติดตามการใช้จ่ายงบประมาณได้ และถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีบทบาทต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง และนำไปสู่การมี Open Government Initiative
เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร ภายใต้แนวนโยบาย Government Transformation Strategy : better use of data ที่ได้จัดทำเว็บไซต์ data.gov.uk ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลของภาครัฐไปใช้ได้อย่างเปิดเผย และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐยังถูกเขียนไว้ใน UK Anti-Corruption Plan เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ลดปัญหาการทุจริต
การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นข้อมูลสำหรับการต้านคอร์รัปชันเท่านั้น แต่สามารถเป็นชุด ข้อมูลใดๆ ที่จะสามารถเพิ่มโอกาสให้กับประชาชน ได้ใช้ข้อมูลเปิดเผยเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่ง ของภาครัฐไทยคือ วันนี้เราเห็นหลายหน่วยงานรัฐมีความพยายามในการเปิดเผยข้อมูล (แม้ว่าบางหน่วยงานจะค้นหาข้อมูลยากไปหน่อย แต่ก็ดีกว่าไม่เปิดเลยครับ) แต่หากจะใช้ข้อมูลเพื่อสู้กับปัญหาทุจริตแบบเฉพาะเจาะจงก็คงหนีไม่พ้น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณภาษี และรายละเอียดโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรมบัญชีกลางก็ใจดีเปิดเผยข้อมูลให้เราสามารถไปค้นหาได้
เมื่อเรามีชุดข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เปิดเผย จำนวนมหาศาลขนาดนี้ สนับสนุนด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน และความเชี่ยวชาญของกลุ่มคนที่ต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันมานานหลายปี ทำให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดทำเครื่องมือเพื่อ "เพิ่มพลัง" ให้กับประชาชน เรียกว่า ACT Ai ซึ่งได้เปิดตัวและเปิดเข้าใช้งานไปเมื่อวันต่อต้านคอร์รัปชัน (6 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา) ACT Ai เป็นเครื่องมือที่รวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเอาไว้ นำมาใช้กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจจับความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และจะแสดงเครื่องหมายเตือน (!)
เมื่อโครงการมีความสุ่มเสี่ยง จะเกิดการทุจริต เครื่องมือนี้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปลองเล่นลองใช้ โดยเริ่มจากใส่ค้นหาด้วยคำ keyword เพียงสั้นๆ (เหมือนเวลาเสิร์ช Google เลยครับ) ระบบจะทำการแสดงผลทุกโครงการที่มีคำ keyword นั้นขึ้นมาให้ท่านได้เลือกและ กดเข้าไปดูในรายละเอียด ซึ่งจะบอกข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ใช้ของโครงการ หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ประมูลชนะ เอกสารสัญญา และเอกสารสำคัญทั้งหมด และ ACT Ai ยังแสดงตารางเปรียบเทียบวิธีการและรูปแบบการเสนอราคาของแต่ละบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนั้น และสามารถค้นหาให้ "ลึก" ลงไปอีกว่า บริษัทที่ชนะการประมูลโครงการนี้ เซ็นสัญญากับหน่วยงานรัฐไปแล้วกี่โครงการ รับงานหน่วยงานไหนบ่อยที่สุด มีเจ้าของหรือกรรมการบริษัทเป็นใครบ้าง
ซึ่งหากจะอธิบายรายละเอียดทั้งหมดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ เกรงว่าพื้นที่คอลัมน์นี้คงจะไม่พอ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านได้เข้าไปลองใช้เครื่องมือนี้กันที่ actai.co (พิมพ์เข้าไปใน google ได้เลยครับ) นี่ถือเป็นก้าวแรกของการใช้ Ai และเทคโนโลยีมาต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย แต่มีหลายประเทศที่ทำแล้ว
แต่การจะทำให้เครื่องมือนี้ทรงอานุภาพมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมต่อชุดข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายและกว้างขวางมากขึ้น เช่น คำชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. คำพิพากษาของศาลฎีกาคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง และข้อมูลสำคัญที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างข้อมูลจากโครงการข้อตกลงคุณธรรมและโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดปัญหาการทุจริตและประหยัดเงินงบประมาณไปได้กว่า 9 พันล้านบาท ก้าวต่อไป ที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มจำนวนและปริมาณชุดข้อมูลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณของคนใช้เครื่องมือนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพลังให้กับประชาชนที่จะมาร่วมกันต่อสู้กับปัญหาทุจริต และเพิ่มประสิทธิภาพให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้และป้องกันการโกงได้มากขึ้น
เล่ามาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่า วันพรุ่งนี้ที่ท่านผู้อ่านก้าวเท้าออกจากบ้านไปเจอเป็น กระเบื้องปูทางเท้าที่ชำรุดมาหลายปี ฝาท่อระบายน้ำที่ยุบตัวลงไป ถนนที่เป็นหลุมบ่อ หรือแม้แต่ไฟฟ้าสาธารณะที่ดับสนิทมานานหลายปี ความรู้สึกคงไม่เหมือนเดิม และมาลองใช้ ACT Ai ค้นหาดูกันครับว่า โครงการที่ท่านเห็นว่าวันนี้มันชำรุด แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากกาลเวลาหรือเพราะมีใครกำลังตักตวงผลประโยชน์จาก งบประมาณแผ่นดินไปกันแน่ ....
เข้าใช้งาน ACT Ai ได้ที่ actai.co