ประเด็นร้อน
องค์กรต้านโกงกระตุกรัฐบาล นโยบายปราบทุจริตต้องจับต้องได้
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 21,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -
บทสัมภาษณ์ คุณ วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ Anti-Corruption Organization of Thailand (ACT) : โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร - 21 กรกฎาคม 2562
ก่อนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าบริหารประเทศแบบเต็มรูปแบบ หลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายการบริหารประเทศต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในช่วงสัปดาห์หน้า 25 ก.ค.
ได้มีข้อคิดเห็นจากตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม คือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการ “ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน” มาหลายปี เพื่อส่งเสียงสะท้อนความเห็นถึงตัวนายกฯและรัฐบาล ในการทำงานเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ต่อจากนี้ว่าควรต้องมีแนวทาง – วิธีการ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ภาพสวยๆ ในเอกสารนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา และที่สำคัญนายกฯต้องไม่ปล่อยให้เกิดข่าวเรื่องทุจริตใดๆ เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
“วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” หรือ Anti-Corruption Organization of Thailand (ACT) กล่าวถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในสัปดาห์หน้านี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เราไม่ได้เพียงแค่อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่ยกระดับการให้มีธรรมาภิบาล การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มันก็จะมีภาพสวยๆว่ารัฐบาลมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน อย่างโน้น อย่างนี้ แต่เราอยากเห็นนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะอย่างที่ผ่านมา กลไกต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่มีผลบังคับใช้แล้วแต่ก็ยังไม่ค่อยมีการนำไปปฏิบัติเท่าใด หรือการลดทอนกฎระเบียบข้อบังคับที่ไม่จำเป็น ก็ยังไม่ค่อยเริ่มเท่าใด หรือพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็ยังไม่มีการปรับปรุงเท่าที่ควร หรือกฎหมายป้องกันความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ฯ ก็ยังไม่ได้ออกมา
“ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ” ย้ำว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งเรื่องที่ค้างท่ออยู่ก็มีเยอะอยู่แล้ว และอาจมีเรื่องใหม่ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ที่รัฐบาลบอกว่าจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องบอกไว้ในโยบายรัฐบาลด้วยว่าจะต่อต้านอย่างไรบ้าง พวกเราจะได้ช่วยกันติดตาม ช่วยกันเชียร์ได้ เช่น ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pacts) เป็นกลไกที่ประหยัดงบประมาณรายจ่ายของประเทศ หรือพรบ.อำนวยความสะดวกฯ ให้กับประชาชนที่ต้องไปใช้บริการกับภาครัฐ ต่อจากนี้ไปพวกขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีช่องทางให้มีการเรียกรับสินบน มันเริ่มลดหายไป
เราอยากให้เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งการทำให้เกิดขึ้นไม่ยากเพราะมีเรื่องที่ค้างการพิจารณาดำเนินการอยู่ไม่น้อย สิ่งเหล่านี้รัฐบาลสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ และควรต้องมีนโยบายที่จะทำให้มันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อถามความเห็นว่าการกลับมาเป็นนายกฯรอบสองของพลเอกประยุทธ์ มารอบนี้ ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดแบบเดิมในช่วงห้าปีก่อนหน้านี้ที่มีดาบมาตรา44ที่ก่อนหน้านี้ เวลามีข้าราชการหรือนักการเมืองท้องถิ่น ถูกร้องเรียน มีเรื่องถูกตรวจสอบ ก็สามารถย้ายหรือพักงานได้เป็นจำนวนมาก พอเกิดข่าวอะไรเช่น ทุจริตโครงการต่างๆ อาทิเงินทอนวัด ก็ย้ายทันที แต่มารอบนี้พลเอกประยุทธ์ไม่มีดาบนี้แล้ว จะทำให้การป้องกันปราบปรามทุจริตช้าไม่เหมือนเดิมหรือไม่ “ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ” มองประเด็นนี้ว่า ผมคิดว่า การทำทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่แล้ว ก็บังคับใช้กฎหมาย และตอนนี้มีกลไกสอดส่องดูแลเพิ่มเติม ส่วนจะต้องใช้กลไกกฎหมายพิเศษหรือไม่ ก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นอะไรแล้ว ที่ผ่านมาก็อาจได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่ามันพลิกผันอะไรกันมากมาย
ผมคิดว่าเข้าสู่ระบบปกติจะดีกว่า แต่อยากเชิญชวนภาคประชาชน ว่าเราอย่าไปฝากอะไรไว้กับรัฐบาลหรือผู้นำท่านใดท่านหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้พูดเจาะจงผู้นำคนปัจจุบัน คือต่อไปเราอย่าไปฝากเรื่องนี้ไว้กับใครแต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่นอกจากตื่นรู้แล้ว ยังต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการที่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องไม่ยอมอย่างที่สุดในการไม่ยอมให้สินบน ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ช่องทางเพื่อหาประโยชน์ และเมื่อทำธุรกิจ ก็ต้องเลิกใช้วิธีช่องทางพิเศษไปให้ผลประโยชน์ใครเพื่อให้ได้โอกาสทางธุรกิจ
“เพราะเมื่อไม่มีคนจ่าย ก็ไม่มีคนรับ ประชาชนเรามีอำนาจนี้อยู่ในมืออยู่แล้ว อำนาจนี้ยิ่งกว่ามาตรา44เพราะหากเราเอาชีวิตไปฝาก เราก็อาจมีทั้งสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำคนไหน รัฐบาลชุดใด จะมาแก้ปัญหานี้ แทนเราทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม”
- บทบาทองค์กรฯในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะจริงจังมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันอย่าง คุณประมนต์ สุธีวงศ์ อดีตประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็ไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่พลเอกประยุทธ์ นำชื่อขึ้นเสนอแต่งตั้งเป็นสว.?
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง อย่างผมก็ทำหน้าที่ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกที่มีร่วม 54 องค์กร ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครเยอะมาก มีทั้งเป็นกรรมการ ,กรรมการบริหาร หรือเข้ามาร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรฯ และยังมีภาคีที่ช่วยสร้างกลไก มีอาสาสมัครที่มาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระ มีคนมาช่วยพัฒนาเครื่องมือที่จะไปปลูกฝังให้กับเยาวชน เป็นต้น เพราะฉะนั้น อย่างคุณประมนต์ ท่านทำงานด้วยความเสียสละมาก ซึ่งองค์กรฯ ก็ไม่ใช่ตัวคุณประมนต์คนเดียวอยู่แล้ว และมาถึงผม ที่มาทำหน้าที่ในฐานะประธานองค์กรฯ ก็ไม่ใช่ผมคนเดียวแน่ๆ ที่จะไปทำอะไรที่จะไปเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญได้ด้วยตัวผมเอง ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมทำงาน พยายามจัดการให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ดังนั้น การที่คุณประมนต์ทำงานด้วยความเสียสละมาร่วมเจ็ดปีกว่า และหน้าที่นั้นได้ถูกส่งต่อมาที่ผม ซึ่งก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ซึ่งอยู่ในองคาพยพขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ผมก็ทำหน้าที่ต่อจากที่คุณประมนต์ทำมาอย่างดี อย่างหนึ่งในหน้าที่สำคัญคือการที่เราต้องทำงานกับภาครัฐ เช่นการต้องผลักดันเรื่องนโยบาย กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไขกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำกับทุกรัฐบาล เราจึงต้องทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ด้วย
...การที่เราทำงานกับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งไม่ได้หมายความว่า เรื่องส่วนตัวอย่างผมจะไปเลือกใคร ก็เป็นคนละเรื่องกัน คนละหน้าที่กัน แต่ในหน้าที่ของประชาชน เมื่อมีรัฐบาล เราก็ทำงานกับรัฐบาล ดีมาก ดีน้อย ไม่เป็นประเด็น เรายังจำเป็นต้องผลักดัน ควบคู่ไปกับการต้องตรวจสอบ การที่เราร่วมมือ แต่จะต้องไม่ละเลยหน้าที่ในการที่เราต้องตรวจสอบด้วย
..ส่วนเรื่องอุปสรรคด้านต่างๆ มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเจอมาตลอดอยู่แล้ว และคงเจอต่อไป แต่เมื่อใดที่พวกเรามาก การเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม ก็จะไปถึงจุดที่เราสะดวกมากขึ้น ความท้าทายที่เราเจอมาในอดีต ก็จะเจอน้อยลง ไม่ต้องมาพูดกันมากแล้วในการไปบอกว่าไม่ควรทำอะไร เพราะคนจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม
- ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ของพลเอกประยุทธ์ มองว่าเรื่องการสร้างหลักธรรมาภิบาล การส่งเสริมเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริต ถือว่าสอบผ่านหรือไม่?
ถ้าเราดูจากผลลัพธ์ ดูจากสถานภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน ก็ต้องถือว่ายังไม่มีใครทำมาเพียงพอ รัฐบาลก็ทำมาไม่เพียงพอ รัฐบาลคสช.ก็ทำมาไม่เพียงพอ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หรือ องค์กรอิสระที่ทำเรื่องเหล่านี้ก็ถือว่ายังทำมาไม่เพียงพอ ยังมีเรื่องต้องปรับปรุง ต้องพัฒนาอีกเยอะมาก
พลเอกประยุทธ์รับหน้าที่มาห้าปีกว่า ก็เชื่อว่ามีเรื่องที่ท่านได้เรียนรู้ระหว่างทางอยู่มาก ก็หวังว่าท่านจะมาใช้ประโยชน์ในการที่จะมาขยายผลในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นต่อไป
- มีเสียงวิจารณ์ว่านายกฯพลเอกประยุทธ์ ห้าปีที่ผ่านมา อาจไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานบางเรื่องแต่ก็มีจุดแข็งในเรื่องการไม่ปรากฏข่าวเรื่องทุจริต เห็นด้วยหรือไม่?
เรื่องไม่ทุจริต ผมว่าคงไม่น่าจะพูดแบบนั้นได้ เพราะงานสำรวจทั้งหลายทั้งปวง ก็ยังเชื่อว่ายังมีปัญหาทุจริตอยู่ในสังคมไทยอยู่เยอะ ยังมีอยู่แบบนั้นจริง เราอาจได้แก้ปัญหาไปบ้าง แต่ที่บอกว่า”บ้าง”มันก็ยังน้อยไป ก็ต้องมาคิดว่าวิธีการที่จะทำต่อไปข้างหน้าคืออะไร เช่นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมที่สำคัญอย่างมาก หรือเรื่องของการต้องหนักแน่นในหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเรื่องความพยายาม ผมก็เชื่อว่าท่านก็พยายามและมีความสำเร็จสักระดับหนึ่ง แต่ก็มีเรื่องต้องทำอีกเยอะมาก มากมายทวีคูณในสัดส่วนที่มากกว่าที่ทำสำเร็จมาบ้างแล้ว
6 ข้อเรียกร้องต้านโกงถึงรบ.
อนึ่งก่อนหน้านี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯได้แถลง6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งในเรื่องการปราบปรามการทุจริต ที่เน้นให้รัฐบาลลงมืออย่างจริงจังไม่เลือกปฏิบัติ
โดยมีรายละเอียดแต่ละข้อเช่น ต้องกำกับดูแลคนในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีพฤติกรรมฉ้อฉล คดโกง และมีมาตรการลงโทษ ถอดถอนอย่างชัดเจน หากมีปัญหาส่อเค้าไปในทางทุจริต ควรแก้ไขโดยพลันหรือข้อเสนอให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการควรมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีหลักการเหตุผลชัดเจน ไม่เห็นแก่พวกพ้อง
ซึ่งเมื่อเราถามย้ำเรื่องนี้อีกครั้งถึงสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเกิดผลสำเร็จ “วิเชียร-ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ”ย้ำว่า หกข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพราะองค์กรฯเห็นว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้าไปบริหารประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพราะจากภาพรวม ก็พบว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังมีอยู่เยอะ มองย้อนกลับไปที่ตัวรัฐบาลเอง ความมั่นคง เสถียรภาพรัฐบาล จะอยู่ได้นานแค่ไหน ปัจจัยเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ที่เราได้เรียนรู้มาในอดีต จะเห็นว่ามีเยอะที่รัฐบาลไม่มั่นคง รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ล้มไป ก็ด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นหากมองในแง่ความมั่นคงการบริหารจัดการของรัฐบาลเอง เรื่องนี้มันสำคัญ เพราะรัฐบาลจะอยู่รอด อยู่ได้นาน มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ สามารถบริหารจัดการประเทศได้ต่อไป ท่านต้องจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ได้อย่างจริงจัง
เราก็เสนอไปหกข้อ ที่พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะรัฐบาล และรัฐไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ด้วยตัวรัฐบาลเองเพราะปัญหามันเยอะและใหญ่มาก รวมถึงเรื่องความโปร่งใส การให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อให้ประชาชนได้ไว้วางใจว่าทุกอย่างทำด้วยความโปร่งใสเช่นการจัดซื้อจัดจ้าง และการทำโครงการต่างๆ ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชน สื่อ หน่วยงานภาควิชาการเข้าถึงและใช้งานง่าย หรืออย่างเรื่อง การบริหารราชการ คนก็มักบ่นว่าระบบราชการแย่ ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับจำนวนมากเพราะก็มีข้าราชการดีๆ ก็มีเยอะอยู่ การแต่งตั้งคนไปรับหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ของระบบราชการที่อำนาจมาจากฝ่ายรัฐบาลเช่น การตั้งปลัดกระทรวง อธิบดี รัฐบาลต้องให้ความสำคัญโดยต้องทำอย่างถูกต้องตามกระบวนการ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เอาพวกพ้องเข้าไปแต่ต้องเลือกคนที่ดี ซื่อสัตย์สุจริตและเหมาะสมเข้าไปทำงาน ไม่ตั้งคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไปทำหน้าที่
..นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเรื่อง การจัดการในเครือข่ายท่านเอง รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม หากเราคำนึงถึงเรื่องแรก ความอยู่รอด เสถียรภาพรัฐบาล หากรัฐบาลอยากอยู่ทำหน้าที่ของเองต่อไปให้นานๆ ก็ต้องดูแลคนของรัฐบาลไม่ให้ไปทำเรื่องทีมิชอบเกิดขึ้น ต้องกำกับให้ได้ ต้องไม่ยอม หากใครทำผิดต้องลงโทษ ใครทำไม่ดีต้องเอาออก ต้องกำกับตรงนี้ให้ได้ หากทำได้ ภาพลักษณ์ของรัฐบาลก็จะดี ความไว้วางใจจากประชาชนก็จะเกิดขึ้น แต่หากกลับด้านกัน หากท่านปล่อย แล้วให้มีการเข้าไปอาละวาด ทั้งหลายทั้งปวง ท่านก็จะอยู่ไม่ได้ ก็เป็นความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าผมไปแช่งอะไร เป็นความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นและเราเห็นมาแล้วในอดีต
...ขณะเดียวกัน เราก็เสนอเรื่องกลไกรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลให้เกิดธรรมาภิบาล เหตุผลเพราะปัจจุบัน เรามีระบบรัฐสภา มีทั้งสภาฯและวุฒิสภา ก็มีกลไก ผู้รู้ต่างๆ เมื่อเข้ามาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นการออกกฎหมาย และก็มีกลไกตรวจสอบที่มีอำนาจในระดับหนึ่ง ที่จะต้องตรวจสอบดูแลพฤติการณ์ต่างๆ ของพวกท่านเองในรัฐสภา และมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ด้วย จึงอยากให้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชน เป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยตรวจสอบสอดส่องดูแลให้รัฐบาลทำหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ” ย้ำว่า ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่เราเสนอไปและหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายเหล่านี้ ที่รัฐบาลอาจทำสิ่งอื่นๆ เพิ่มเติมจากนี้ก็ได้ โดยในส่วนของพวกเราที่เป็นประชาชน ก็จะเฝ้าติดตามว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่ แต่สำหรับเราที่เป็นประชาชนเฝ้าติดตามอยู่แล้ว เพราะเมื่อใดที่มีการทำอะไรไม่ดีเกิดขึ้นมา ปัจจุบันพลังของประชาชนก็แรงขึ้นเรื่อยๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ไม่รอดกัน จากเหตุผลนี้ (การทุจริต) ผมก็ว่าในอนาคต จะไม่รอดเร็วกว่าสมัยก่อน เพราะปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเร็วกว่าสมัยก่อนมาก และเนื่องจากนายกฯก็ไม่ได้มือใหม่ เพราะทำงานมาแล้วห้าปี ก็มีเรื่องที่ทำต่อเนื่องหลายเรื่อง เพราะมันเป็นเรื่องต่อเนื่องก็ทำได้ทันที ไม่ต้องเริ่มใหม่ แต่เรื่องใหม่ก็ทำได้ อย่างเช่นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาแล้วก็ทำได้ทันที หรือการแต่งตั้งโยกย้ายก็ทำได้ทันที คือใช้คนดี เลือกข้าราชการที่ดีมาทำหน้าที่สำคัญๆ เรื่องเหล่านี้ก็อยากเชียร์ให้นายกฯทำ
ถามถึงว่า หากว่าฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง นักการเมืองจะขอเข้ามาร่วมแจมหรือทำงานด้วยกับองค์กรฯ เช่นขอเข้ามาเป็นภาคี ขอข้อมูล อะไรต่างๆ ทางองค์กรมีเส้นแบ่งหรือไม่ว่าจะให้ความร่วมมืออย่างไรหรือว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย”วิเชียร”ตอบว่า ในข้อเสนอเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่องค์กรฯได้แถลงไปก่อนหน้านี้ที่มีด้วยกันหกข้อ มีเรื่องหนึ่งในเรื่องกระบวนการตรวจสอบจากฝ่ายรัฐสภา ที่ก็หมายถึงก็ต้องมีฝ่ายค้าน มีสว.ด้วย เพราะกลไกการตรวจสอบเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ถ้าองค์กรฯจะต้องทำงานกับฝ่ายรัฐบาลในการผลักดันเรื่องต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันโดยเราไม่ละทิ้งการตรวจสอบ ดังนั้น หน่วยที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็ต้องถือว่าเป็นภาคีเราหมด รวมถึงฝ่ายค้านด้วย
“วิเชียร-ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ” กล่าวหลังเราถามว่าบทบาทขององค์กรฯนับจากนี้เมื่อรัฐบาลเข้ามาทำงานแล้ว อย่างตอนตั้งรัฐบาล ก็มีข่าวการต่อรองขอคุมกระทรวงใหญ่ๆ เช่นก.พลังงาน ก.เกษตรและสหกรณ์ แบบนี้ องค์กรจะเริ่มเข้ามาติดตามเลยตั้งแต่นี้เลยหรือไม่ หรือว่ารอให้รัฐบาล ทำงานกันไปก่อน โดยเขาย้ำว่า เรื่องจับตามอง เป็นเรื่องที่ต้องทำตลอด เพราะปัญหามันไม่เคยหายไป ปัญหาคอร์รัปชันยังไม่ได้หายไปจากประเทศไทย ต้องยอมรับ ดังนั้น การทำงานของภาครัฐ ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย ก็เป็นเรื่องที่เราเองต้องคอยจับตา เสนอแนะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาก็แล้วแต่ หน้าที่ขององค์กรฯ ในการเสนอแนะและตรวจสอบเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องเสมออยู่แล้ว
- เสียงวิจารณ์จากคนบางส่วน ที่มองบทบาทขององค์กรฯก่อนหน้านี้เช่นเรื่องโครงการรับจำนำข้าวหรือสิ่งที่เกิดกับรัฐบาลคสช.บางเรื่องอาทิกรณีการครอบครองนาฬิกาหรูของรัฐมนตรีชุดที่แล้ว บางคนอาจยังมองว่าทำไมองค์กรฯ ไม่ออกมาแอ็คชั่น หรือออกมาช้า?
คือเราอาจไม่ได้ทันกับทุกเรื่อง ต้องเข้าใจความเป็นจริง เพราะด้วยกำลังที่เรามี แต่กับสองเรื่องที่ได้ตั้งคำถามมา เป็นเรื่องที่เราได้เทคแอคชั่น
...โครงการรับจำนำข้าว เราก็ทำอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น เพียงแต่การทำงานแบบนี้เราอาจไม่ได้ไปเปิดเผยกับประชาชนผ่านสื่อในทุกขั้นตอน แต่ต่อไปเราอาจสื่อสารมากขึ้นก็ได้ หรือบางเรื่องก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่เรายังไม่สามารถไปสื่อสารกับสาธารณะได้ แต่เรื่องจำนำข้าวเราทำงานอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับเรื่องนาฬิกา เราก็มีหนังสืออย่างเป็นทางการไปมากกว่าหนึ่งฉบับกับท่านนายกฯ และทวงถามคำตอบจาก ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เราละเลย แต่ว่าการที่เราทำเรื่องพวกนี้ องค์กรฯไม่ได้มีหน้าที่ไปชี้ขาด เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่เราก็ชี้ให้เห็นถึง ความเสี่ยง ความบกพร่อง การชี้ให้เห็นว่าบางเรื่องทำถูกต้องหรือไม่
...ยืนยันทั้งสองเรื่องที่ยกตัวอย่างมาเราได้เทคแอคชั่น แต่ก็คงทำไม่ได้กับทุกเรื่อง เพราะเรื่องเยอะมากปัญหาบ้านเรา แต่หลายเรื่องเราก็เป็นผู้ริเริ่ม เช่นงบอาหารกลางวันเด็ก ที่ทางโครงการ “หมาเฝ้าบ้าน” ของเรา ก็มีส่วนเยอะ ในการทำเรื่องพวกนี้ คือการทำงานของเรา มีการทำงานกับเครือข่ายคนจำนวนเยอะ หลายคนช่วยกัน องค์กรฯ ก็คอยจัดระบบให้มีการทำงานร่วมกัน เราจึงไม่ได้ทำแบบจะมาโปรโมตว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นฮีโร่
ข้อมูลจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/41490
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน