ประเด็นร้อน
'ปราบโกงจะมีหรือไม่ ในรัฐบาลประยุทธ์สอง'
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 15,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต : โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร
“ปราบโกงจะมีหรือไม่ ในรัฐบาลประยุทธ์สอง”
การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ประชาชนหวังให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขจริงจัง
เพราะคอร์รัปชันบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศให้มีมากขึ้น และนำไปสู่การเมืองที่อำนาจเงินเป็นใหญ่ ไม่มีหลักการ เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศและคนในประเทศเสียโอกาส
ความห่วงใยของนักลงทุนและประชาชนขณะนี้ คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นอาจรุนแรงขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ “ประยุทธ์สอง” ถ้ารัฐบาลไม่จริงจังกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือทำให้ปัญหาแย่ลงโดยพฤติกรรมของรัฐบาลเอง ซึ่งถ้าเกิดขึ้น ศักยภาพของประเทศก็จะยิ่งถูกทำลาย และสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลประยุทธ์สอง ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งในท่าทีและในนโยบายของรัฐบาลว่าจริงจังและจะมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่ประเทศมีต่อไป ด้วยการมีแผนงานต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนในเรื่องที่มีความสำคัญมากต่ออนาคตของประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ความห่วงใยว่าปัญหาคอร์รัปชั่นอาจรุนแรงขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ ไม่ได้มาจากความรู้สึก หรือความมีอคติต่อรัฐบาล แต่มาจากแนวโน้มที่ชี้ชัดเจนว่า ปัญหาอาจแย่ลง
หนึ่ง สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศมีแนวโน้มแย่ลง ในช่วงสิบแปดเดือนที่ผ่านมา พิจารณาจากข้อมูลต่างๆ ที่เปิดเผยออกมา เช่น ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทย ปี 2018 (Corruption Perception Index) จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ที่ชี้ว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยแย่ลงในความรู้สึกของนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันดับของประเทศไทย ปี 2018 อยู่ที่ 99 ด้วยคะแนน 36 เทียบกับอันดับ 96 ที่คะแนน 37 ปีที่แล้ว และสถานการณ์ช่วงเจ็ดเดือนแรกปีนี้ แม้ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่นักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศต่างเห็นว่า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและอาจแย่ลง เพราะความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในช่วงปีนี้ได้หายไปหรืออ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีความเป็นห่วงว่า ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ สถานการณ์จากนี้ไปอาจแย่ลงและอาจควบคุมไม่ได้(The Situation is out of control) เพราะความอ่อนแอของการเมืองในประเทศที่จะแก้ไขปัญหานี้
สอง พรรคการเมืองที่มาร่วมเป็นรัฐบาลประยุทธ์สอง ต่างไม่มีนโยบายชัดเจนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วงหาเสียง เน้นแต่การแจกเงิน แจกสวัสดิการ ปลูกกัญชา แทรกแซงราคาสินค้า และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลเองไม่มีนโยบายที่จะต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นจริงเป็นจัง รัฐบาลประยุทธ์สอง ก็อาจไม่ให้ความสำคัญและไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ ทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งจะยากขึ้น และจะเปิดทางให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเติบโตแบบพุ่งกระจาย
สาม บุคคลากรต่างๆ ที่เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล ร่วมเป็นรัฐมนตรี ที่จะเข้ามารับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีใครที่มีประวัติการทำงานที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ตรงกันข้าม หลายคนเป็นคนที่ประชาชนอาจมีความแคลงใจเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ประชาชนมองว่ามีความเสี่ยงที่ปัญหาคอร์รัปชั่นอาจรุนแรงขึ้นในรัฐบาลใหม่นี้ ทั้งจากความไม่สนใจของนักการเมืองที่จะปราบคอร์รัปชั่นตามอำนาจหน้าที่ของการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และการปล่อยวางให้เกิดช่องโหว่ในการทำนโยบายที่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรงขึ้น
นี่คือความห่วงใยที่นักลงทุนและประชาชนมีต่อรัฐบาลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ที่อาจทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นแก้ไขยาก และ/หรือรุนแรงมากขึ้น เป็นความห่วงใยที่ปฏิเสธไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นที่รัฐบาลต้องแสดงความขัดเจนในเรื่องนี้ ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ด้วยการมีแผนงานและมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมที่ประชาชนสามารถจับต้องและติดตามการทำงานของรัฐบาลได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลจะพูดถึงเรื่องนี้แบบผ่านๆ ในการแถลงนโยบายเพื่อให้มีประเด็นครบถ้วน แต่ไม่มีสาระอะไรที่จะเข้าใจได้ว่า รัฐบาลจะเข้ามาทำอะไรในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น การมีแผนงานที่ชัดเจน มีรายละเอียดของสิ่งที่จะทำ รวมถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เป็นสิ่งเดียวที่จะสร้างความเชื่อมั่นและลดความห่วงใยของประชาชนและนักลงทุนต่อปัญหานี้ลงได้
ในประเด็นนี้ เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์และปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมี ขณะนี้ จำเป็นที่ต้องมีอย่างน้อยสามมาตรการที่รัฐบาล “ประยุทธ์สอง” ต้องประกาศออกมาในการแถลงนโยบายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนในบทบาทของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหา
หนึ่ง ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ และองค์กรตรวจสอบที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย และการเอาผิดลงโทษคนทุจริตคอร์รัปชั่นสามารถเกิดขึ้นได้ตามตัวบทกฎหมายอย่างที่ควรต้องเป็น ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายเป็นจุดอ่อนอันดับหนึ่งของการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย ทำให้ประเทศไม่สามารถเอาผิดคนใหญ่คนโตในสังคมที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้ การยืนยันการไม่แทรกแซงนี้จะเป็นความกล้าหาญที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจในบทบาทและความซื่อตรงของรัฐบาล ตรงกันข้าม การไม่พูดถึงเรื่องนี้ก็เหมือนให้สัญญาณว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นก็คงจะเกิดขึ้นอีกได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยน
สอง รัฐบาลต้องยืนยันที่จะให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการทำหน้าที่ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับรัฐบาลชุดที่แล้วที่การทำงานขาดความโปร่งใส ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานและการตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างที่ควร โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ประชาชนมีข้อมูลน้อยและรู้สึกว่ามีการดำเนินการอย่างรวบรัด ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ ทั้งระดับเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง การยืนยันในเรื่องความโปร่งใสในการทำหน้าที่จะทำให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ แตกต่างกับรัฐบาลชุดที่แล้ว และจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
สาม รัฐบาลต้องเรียกหาความมีจริยธรรมในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ ที่เป็นต้นเหตุให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในทุกระดับในภาคราชการในสายตาประชาชน โดยออกประกาศเป็นคำสั่งที่ระบุพฤติกรรมที่รัฐมนตรีและข้าราชการไม่ควรทำเมื่ออยู่ในตำแหน่ง ที่แสดงถึงความฟุ้งเฟ้อและการเบียดเบียนทรัพยากรจากภาคเอกชน เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ขัดแย้งในการทำหน้าที่ เช่นการจัดเลี้ยง การเดินทางต่างประเทศ การมีบัญชีเงินฝากและทรัพย์สินในต่างประเทศ การรับสินบนหรือสินน้ำใจโดยตัวเองและคนในครอบครัว และความโปร่งใสในการส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้หลายประเทศใช้ปฏิบัติ และประสบผลสำเร็จเพราะประชาชนจะช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในการทำหน้าที่ เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถประกาศได้เพื่อแสดงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเอาจริงกับการทุจริตคอร์รัปชัน
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ควรทำ ที่จะสร้างความแตกต่าง ตรงกันข้าม ถ้าการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่มีนโยบายหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน ความห่วงใยของนักลงทุนและประชาชนก็จะมีต่อไป ความเชื่อมั่นต่อประเทศและต่อรัฐบาลในแง่ความซื่อสัตย์สุจริตก็จะลดลง นำมาสู่ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลในการบริหารประเทศในที่สุด
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน