ประเด็นร้อน

ปฏิรูปตำรวจไทย 99.99 เปอร์เซ็นต์ ดีจริง?

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 24,2017

ปฏิรูปตำรวจ(1)ตำรวจไทย 99.99% ดีจริง? 

คงไม่มีคำพูดใดที่สร้าง ความฉงนสนเท่ห์ให้คนไทยได้มากไปกว่าคำพูดของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ว่า

"ถามว่ามีตำรวจไว้ทำไม นี่ไง ไว้ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พี่น้องประชาชน ก็ยังย้ำอยู่เสมอว่า ตำรวจทั่วประเทศ 2 แสนกว่าคน ในนครบาลอีก 2 หมื่น ตำรวจร้อยละ 99.99 เป็นคนดี คนตั้งใจทำงาน ผมไม่อยากให้ลูกน้องผมท้อ ถ้าตำรวจท้อถอย ท้อแท้ บ้านเมืองจะไม่สงบสุข ขอกำลังใจกันด้วย ถ้าไม่ดีก็ว่ากันเป็นส่วนๆ ไป แต่ถ้าดีก็ขอกำลังใจจากทุกคน ตำรวจพร้อมที่จะทุ่มเท เสียสละชีวิตด้วยอุดมการณ์  คือพิทักษ์พี่น้องประชาชน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน"

เป็นความพยายามของ พล.ต.ท. ศานิตย์ ที่จะปกป้องการทำงานของตำรวจ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม โดยเฉพาะจากวงเสวนาวิชาการขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่ตั้งคำถามกระหึ่มทั้งเมืองว่า "ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร"   เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แต่ก็เป็นความเห็นที่ดูเหมือนจะสวนทางกับความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าตำรวจไทยมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์เป็นตำรวจดีจริง คำถามก็คือ ทำไมข่าวคราวที่ปรากฏเกี่ยวกับตำรวจ จึงเป็นเรื่องลบแทบทั้งสิ้น และทำไมจึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่ชาวบ้านทั่วไป ก็ยังต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในวงการตำรวจ "อยากให้ปฏิรูปครับ ทุกวันนี้ ตำรวจก็มีหลายแบบ คนดีก็มี คนไม่ดีก็มี ผมคิดว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่เอาด้วย มันก็ทำได้ครับ ถ้าเขาจะปฏิรูป ก็แล้วแต่คนที่มีอำนาจ ถ้าเขาทำมันก็ดี"

"อยากให้เอาใจใส่เพิ่มขึ้นให้มากกว่านี้ ถ้าบ้านเมืองไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็แย่ ขนาดนี้ยังแย่อยู่ คนนอกกฎมี คนอยู่ในกฎมี คนเราสร้างกฎขึ้นมา ก็ต้องทำ ตามกฎ" ประชาชนรับรู้เรื่องการปฏิรูปตำรวจ แต่ไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากเสียงของพวกเขาสามารถสะท้อนไปถึงผู้มีอำนาจ คำถามคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ทำอะไรไปบ้าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการปฏิรูปตำรวจ

สิ่งที่คาดหวังก็คงหนีไม่พ้นอยากเห็นวงการตำรวจไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจเหมือนหนังที่ฉายซ้ำไปซ้ำมา ทุกครั้งที่เกิดปัญหาบ้านเมืองวิกฤติ คำว่า "ปฏิรูปตำรวจ" จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันในสังคมล่าสุด สัญญาณการเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ ดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาลแนวทางการปฏิรูปตำรวจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นในเรื่อง การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลักนั่นคือ จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองหรือบอร์ดในระดับจังหวัด ระดับภาค มาจนถึงระดับส่วนกลาง รวมไปถึงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

คณะกรรมการกลั่นกรองระดับล่างขึ้นมา จะมีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้ง โดยระดับจังหวัดจะมีผู้บังคับการจังหวัดนั้น มีอำนาจในการแต่งตั้งด้วย แต่ในที่สุดก็ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามว่า การคลายปมเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย จะเป็นวิธีการปฏิรูปจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ถึงแม้ คสช.ได้วางการปฏิรูปตำรวจให้เป็นวาระเร่งด่วน แต่ดูเหมือนสังคมก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ คำสั่งของ คสช.ที่ออกมาเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ให้ความสำคัญเฉพาะกับกระบวนการแต่งตั้งตำแหน่งระดับสูง เพื่อป้องกันการวิ่งเต้นและการแทรกแซง แต่ยังไม่ใช่เป็นหลักประกันว่า การ แต่งตั้งจะมีความโปร่งใสหรือเป็นธรรมได้จริงๆ

ล่าสุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เห็นชอบรายงานปฏิรูปตำรวจของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับการปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเพื่อให้เป็นองค์กรบริหารงานบุคคล อิสระจากฝ่ายการเมือง และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจขึ้น วางเป้าหมายปฏิรูป 3 ระยะ และกำหนด 10 ประเด็น แต่จนถึงทุกวันนี้ความพยายามในการปฏิรูปตำรวจก็ยังไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม

เวทีเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในหัวข้อเรื่อง "ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร" เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ปัญหาของตำรวจไทยถูกตีแผ่ และตอกย้ำความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปวงการตำรวจอย่างจริงจัง

แต่ถ้าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยังยืนยันว่าตำรวจ 99.99 เปอร์เซ็นต์ เป็นตำรวจดี ก็คงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าตำรวจมองตัวเองอย่างไร

และคำถามที่ต้องตอบคือ ทำไมสังคมถึงเจอแต่ตำรวจไม่ดี ที่มีเพียง .01 เปอร์เซ็นต์องค์กรภาคประชาชนอย่าง เมธา มาสขาว เลขาธิการ คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 2553  เรียกร้องว่า

"99.99 เปอร์เซ็นต์ ถ้านับจากตำรวจ 2 แสนนาย  0.01 เปอร์เซ็นต์เท่ากับ 24 คน ถ้ามีรายชื่อตำรวจที่ไม่ดี จะเปิดเผยได้ไหม แล้วจะมีกระบวนการแก้ปัญหาอย่างไร ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาแค่ตัวบุคคลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องระบบงานตำรวจ ที่เกิดระบบส่วย เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายมีช่องว่างในการหาประโยชน์ คำถามเหล่านี้เกิดกับสังคมโดยรวม ประชาชนเรียกร้อง และมีความเห็น ตำรวจก็ต้องหาวิธีแก้ไขและมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ไม่ใช่พยายามปกป้องแต่องค์กร"

เมื่อย้อนกลับมาทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น จะพบว่า ปัญหาเดิมๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกวิจารณ์จากสังคมอย่างมาก
ตั้งแต่คดีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 2 เดือน ก่อนที่ต่อมาจะออกมาต่อสู้ โดยอ้างว่าไม่ได้ขับรถชนคนตาย แต่ต้องติดคุกฟรีไปแล้ว 1 ปี 6 เดือน


หรือแม้แต่ ล่าสุด กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถูกพบเป็น ศพอยู่ภายในห้องขัง สน.บางนา  หลังถูกตำรวจควบคุมตัวมาจากด่าน ตรวจวัดแอลกอฮอล์ จุดตรวจบนถนนบางนา-ตราด ด้านขาออก บริเวณ ถนนเทพรัตน กม.1 โดยตรวจวัดแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ 170 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงถูกแจ้งข้อหาเมาแล้วขับ และขณะเป่าเครื่องตรวจวัด เกิดหมดสติ ตำรวจจึงนำขึ้นรถไปยัง สน.เพื่อคุมขัง ก่อนเสียชีวิต

ขณะที่สถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของตำรวจ มีทุกลักษณะ ทุกหน่วยทั่วประเทศ เช่น  ตำรวจกระทำผิดกฎหมาย ทำผิดวินัย ไม่รับแจ้งความ หรือทำคดีล่าช้า ปล่อยให้เปิดบ่อนการพนัน สถานบันเทิง ยาเสพติด การจราจร  เฉลี่ยปีละประมาณ 1 หมื่นเรื่อง

เป็นเรื่องในกองบัญชาการตำรวจ นครบาล ราว  5,000  เรื่อง แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง สืบสวนสอบสวน หรือยุติเรื่องได้เกือบ 100%


"เราก็รู้ปัญหานี้อยู่แล้ว ปัญหาของไทยอย่างหนึ่งคือการล้มคดี ซึ่งยังทำได้ ไม่มีการควบคุม ล้มคดีแบบนี้มา 30 ปีแล้ว ถ้าดีอยู่แล้ว ทำไมประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูป ประชาชนสะท้อนปัญหามากมาย บ่อนการพนันก็เปิดอยู่ สถานบันเทิงลึกลับอะไร ทั่วประเทศต้องปิดตี 1 มันก็เปิด ตี 2-3-4 มันสะท้อนประสิทธิภาพ แล้วจะมาคุยได้ไงว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม" พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการปฏิรูประบบตำรวจ สปช.กล่าว

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจอย่างต่อเนื่องและเสียงกระหึ่มขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันตำรวจก็มีพฤติกรรมตกเป็นข่าวใน โซเชียลมีเดีย จึงเกิดคำถามว่า ตำรวจ จะปฏิรูปไปในทิศทางไหน และตำรวจจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่


ผู้ที่ศึกษาปัญหาตำรวจมาอย่างยาวนาน สะท้อนว่า หัวใจสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ คือการปฏิรูประบบงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยการเป็นอิสระ ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นองค์กรที่มีการจัดโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาที่มีชั้นยศแบบทหาร

"การสอบสวนที่อยู่ในมือตำรวจไทย ปราศจากการตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง อัยการก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ไม่ว่าการแจ้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรม การสอบแล้วสั่งไม่ฟ้อง ใครตรวจสอบ อัยการจะตรวจสอบได้ต่อเมื่อส่งไปถึงมืออัยการแล้วและอัยการก็ไม่มีโอกาสเข้ามาดูพยานหลักฐานเอง ทำให้การสอบสวนอยู่ในสภาพที่จะสอบสวนกันแบบไหนก็ได้ และการสอบสวนเป็นตัวกำหนดข้อเท็จจริง ทางคดี

ฉะนั้นงานสำคัญที่มีปัญหาของตำรวจ คือการสอบสวน นี่ยังไม่นับถึงประสิทธิภาพของการสอบสวน ที่มีปัญหาเรื่องพนักงานสอบสวน ที่เขาไม่ได้รับความเจริญก้าวหน้า ต้องสอบสวนตาม สั่ง นายสั่งสอบแบบไหน ก็ต้องสอบสวนแบบนั้น มันถูกไหมล่ะ" พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร กล่าว

ตราบใดที่ตำรวจยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจการเมือง การวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งในทุกฤดูโยกย้าย ก็ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และตราบใดที่เงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจยัง เป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ความฝันของ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่เห็นตำรวจไทย 99.99 เปอร์เซ็นต์เป็นตำรวจดีก็คงเป็นความจริงได้ยาก

"เป็นคำพูดที่ซ้ำซากมาก ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปเพื่ออะไร พื้นฐานง่ายๆ อย่างที่เขาพูดกันว่า ตำรวจเงินเดือนพอไหม สวัสดิการพอไหม ตำแหน่งหน้าที่ สิ่งที่เขาได้รับ ความก้าวหน้าทางราชการพอไหม เขาจะดูแลประชาชนได้อย่างไร ตราบใดที่ปากท้องตัวเองยังอยู่ไม่ได้ ต้องมานั่งเอาใจนาย วิ่งเต้นนักการเมือง คนที่จะมาปฏิรูปเขารู้ดีว่าจะปฏิรูปอะไร แต่พยายามหลอกตัวเอง จะทำอย่างไรให้ตำรวจหลุดพ้นจากอำนาจทางการเมือง ทำไมไม่ให้เขาอยู่ในระบบ ซึ่งก็พูดกันมานานมาก ไม่เห็นมีใครทำได้ ถ้าเขาไม่ต้องมาวิ่งเต้น เพราะเมื่อเสียก็ต้องไปรีดจากประชาชน จากธุรกิจสีเทา ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวงจรอุบาทว์ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับความจริง" ชนาธิป กฤษณสุวรรณ เจ้าของนิตยสาร COP'S กล่าวทิ้งท้าย

"ตราบใดที่ตำรวจ ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจการเมือง การวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งในทุกฤดู โยกย้าย ก็ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"

--สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 24 มีนาคม 2560--