บทความ

'เมกะโปรเจค' - ปลอดโกงได้ไหม? (3)

โดย ACT โพสเมื่อ May 15,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -

 

"...ยุคนี้ประชาชนรู้เท่าทันและข้าราชการที่ดีก็มีมาก เขาไม่ยอมให้ใครโกงง่ายๆ อีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งมี “พลเมืองดี” ตื่นรู้สู้โกงมากขึ้นเท่าไหร่ พวกที่คิดจะโกงโครงการขนาดใหญ่จึงยิ่งพยายามวางแผนเป็นขั้นตอน ครอบงำผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องระดับต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แผนและโครงการต้องซับซ้อนเข้าใจยาก..."


โกงมากๆ อย่าคิดว่าประชาชนโง่ ! ..


เมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะโดยหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหน่วยงานใด รัฐบาลชุดไหนก็ตาม ท้ายที่สุด ประชาชนตกเป็น “ผู้จ่าย” ดังหลายๆ กรณี ที่กลายเป็นกรณีพิพาททั้งระหว่าง “รัฐ” หรือ “รัฐวิสาหกิจ” และ “เอกชน” คู่สัญญา ดังบทเรียนจาก 2 คดี “ดอนเมืองโทลเวย์”


คดีแรก ค่าโง่ 4 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้เอกชนเจ้าของสัมปทาน “ทางด่วน ปากเกร็ด – บางปะอิน” เหตุเพราะรัฐให้ขยายดอนเมืองโทลเวย์จากดอนเมืองไปรังสิต เขาจึงฟ้องว่าเป็นการให้บริการแข่งขันกับเขา ทำให้ลูกค้าเขาลดลง รัฐต้องชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากที่เขา “คาดการณ์ไว้” แม้จะมีผู้ทักท้วงว่าทางด่วนสองเส้นนี้มีต้นทางและปลายทางห่างกันไกลหลายกิโลเมตร


คดีที่สอง ค่าโง่ 1.2 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้ทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เหตุเพราะรัฐไม่ยอมให้เขาปรับขึ้นค่าทางด่วนตามข้อตกลง


ยุคนี้ประชาชนรู้เท่าทันและข้าราชการที่ดีก็มีมาก เขาไม่ยอมให้ใครโกงง่ายๆ อีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งมี “พลเมืองดี” ตื่นรู้สู้โกงมากขึ้นเท่าไหร่ พวกที่คิดจะโกงโครงการขนาดใหญ่จึงยิ่งพยายามวางแผนเป็นขั้นตอน ครอบงำผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องระดับต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แผนและโครงการต้องซับซ้อนเข้าใจยาก


บางกรณีใช้นโยบายระดับสูงที่เรียกว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” บางครั้งอาจใช้อำนาจบิดเบือน อ้างความลับราชการ ความลับทางการค้า ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนักหน่อยก็แก้ไขหรือออกกฎกติกาใหม่เสียเลย


กฎหมายกับดุลยพินิจ - ปิดช่องโกง..


ตามกฎหมาย หน่วยงานใดจะทำสัญญาให้ต่างไปจาก“ทีโออาร์”และ “มติครม.” ที่อนุมัติโครงการนั้น--ไม่ได้ !


จะแก้ไขสัญญาในสาระสำคัญ และไม่ได้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับรัฐ--ก็ทำไม่ได้ ! แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาเพราะ “มีการสมรู้ร่วมคิด” บิดเบือนอำพราง ซึ่งอาจเกิดจาก


1. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ไปรู้เห็นหรือรับประโยชน์จากเอกชน


2. คณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจอาจอนุมัติไปโดยไม่รู้ตื้นลึก ไม่ได้ใส่ในเรื่องนั้น หรือเกรงใจใครบางคน แต่ที่แย่กว่านั้นคือมีผลประโยชน์ร่วมด้วย


3. ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาที่มีความพร้อมหลายด้าน ได้วางแผนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับไป ซึ่งคนนอกดูเนื้อหาที่ถูกแก้ไขอาจมองไม่ออกว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่ทำให้รัฐเสียหายได้ และกว่าจะรู้ก็สายเกินไป


แนวทางป้องกันการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ที่ได้ผลวิธีที่นิยมทั่วโลก คือ อย่าไว้ใจมนุษย์ปุถุชน วางระบบที่ดี ยอมรับการตรวจสอบ เช่น


1. ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเพื่อให้เกิดการตรวจสอบร่วมกัน


2. ใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมรู้เห็นตั้งแต่แรก และเป็นการบังคับให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างรับผิดชอบ มีวินัย ตรงไปตรงมา


3. การแก้ไขแบบหรือสาระในสัญญา ควรได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือสถาบันวิชาชีพที่สังคมยอมรับ เช่น สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา เป็นต้น



ดร. มานะ นิมิตมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)


ขอบคุณ คุณปิยะวรรณ ประยุกต์ศิลป์ ที่ช่วยตรวจแก้ไขบทความ

 


อ่านประกอบ :

'เมกะโปรเจค' - ซ่อนโกง อย่างไร? (2)

'เมกะโปรเจค' - เขาโกงอย่างไร? (1)

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw