บทความ
'เมกะโปรเจค' - ซ่อนโกงอย่างไร? (2)
โดย ACT โพสเมื่อ May 15,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -
"...ก่อนจะไปถึงการป้องกัน ขอเอาเรื่องจริงที่เป็น “ตัวอย่างสมมติ” มาเล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพว่ายังมีกลโกงอีกแบบที่เป็น “การซ่อนปมในสัญญา” ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร..แต่ความจริงแล้ว มันคือความสูญเสียขนาดใหญ่ที่นำมาสู่การจ่าย “ค่าโง่” มูลค่ามหาศาล ดังตัวอย่าง “โครงการรถไฟความเร็วสูง”..."
ตอนที่แล้ว ได้เปิดเผยให้เห็นกระบวนการกลโกงในโครงการขนาดใหญ่ หวังเป็นอุทาหรณ์ให้ “พลเมืองดี” ได้รู้เท่าทันเพื่อจะได้ไม่ยอม ไม่ตกเป็นเหยื่อ และลุกขึ้นมาช่วยกันระแวดระวังผลประโยชน์สาธารณะกันแต่เนิ่นๆ
ก่อนจะไปถึงการป้องกัน ขอเอาเรื่องจริงที่เป็น “ตัวอย่างสมมติ” มาเล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพว่ายังมีกลโกงอีกแบบที่เป็น “การซ่อนปมในสัญญา” ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร..แต่ความจริงแล้ว มันคือความสูญเสียขนาดใหญ่ที่นำมาสู่การจ่าย “ค่าโง่” มูลค่ามหาศาล ดังตัวอย่าง “โครงการรถไฟความเร็วสูง”
ถ้า “รัฐ” ยอมให้ “เอกชน” คู่สัญญา เสนอเพิ่ม หรือ กำหนด “จุดที่ตั้ง” และ “จำนวน” สถานีผู้โดยสาร
ผลที่ตามมา เอกชนคู่สัญญาจะเลือกทำเลที่ตัวเองได้ประโยชน์ และวางจำนวนสถานีให้ถี่ขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อให้บริการผู้คนจากแหล่งชุมชนหรือย่านการค้าอุตสาหกรรมตามรายทางได้มากขึ้น
ฉากทัศน์กลโกงที่เป็นไปได้
1) เอกชนจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาที่ดินที่ตัวเองได้กว้านซื้อรอไว้บริเวณรอบๆ สถานี เช่นทำศูนย์การค้า ขายตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร ทำสถานีรถโดยสาร โดยรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนสาธารณูปโภค
2) เมื่อมีสถานีมากขึ้น ระยะห่างระหว่างสถานีสั้นลง ทำให้รถไฟมีข้อจำกัดในการเร่งความเร็วสูงสุดในจังหวะออกตัวรถ และลดความเร็วลงเพื่อเข้าสถานี จึงเป็นข้ออ้าง “ขอลดสเปค” รถไฟจากเดิมที่ต้องทำความเร็วสูง 250 กม. ต่อชั่วโมง ลงเหลือ 180 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วปานกลาง นั่นหมายความว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถไฟสมรรถนะสูง
3) เอกชนได้ประโยชน์ทันทีจากการซื้อรถไฟ “สเปคต่ำ” กว่าเดิม ซึ่งราคาย่อมถูกลง แถมยังลดค่าดำเนินการ (Operation Cost) เช่น การซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายในการเดินรถได้อีกมาก
ใครเสียประโยชน์
1) ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะการมีสถานีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ ย่อมทำให้รถไฟใช้เวลาเดินทางนานขึ้นจากการใช้ความเร็วต่ำลง และต้องจอดพักตามสถานีรายทางมากขึ้น ซึ่ง “ผิดวัตถุประสงค์” การมี “รถไฟความเร็วสูง” ที่ต้องการให้คนเดินทางระยะไกล ด้วยเวลาน้อยที่สุด
2) ประเทศเสียประโยชน์ระยะยาว เพราะคำอธิบายว่า เพิ่มสถานีให้ถี่เพื่อบริการผู้โดยสารได้มากขึ้น ในระยะสั้นนั้น อาจดูดีเพราะมีคนได้ใช้งานตามรายสถานีมากขึ้นจริง แต่อย่าลืมว่า ในวันข้างหน้าเมื่อสังคมและการเดินทางสัญจรเปลี่ยนไป คนต้องการเดินทางระยะยาวมากขึ้น การเพิ่มสมรรถนะรถไฟจะทำได้ยาก
3) เป็นการเอาเปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นที่เสนอราคาตรงไปตรงมาตามทีโออาร์
นี่เป็นตัวอย่างสมมติที่อธิบายตามหลักการลงทุนและการตลาดครับ
สุดท้าย ประชาชนโดนหลอก?!? อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไป !
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
อ่านประกอบ : เมกะโปรเจคเขาโกงอย่างไร (1)
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน