ประเด็นร้อน
กลุ่มไหนบ้างควรถูกตรวจสอบภาษี
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 22,2017
เป็นกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากคนในหลายแวดวงอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 60 คนในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเมื่อพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี
ขณะที่มีนักการเมืองเสนอให้ตรวจสอบการเสียภาษีของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้วย
นักวิชาการ และนักการเมือง มีความเห็นดังนี้
ชำนาญ จันทร์เรือง
นักกฎหมายมหาชน
ทุกองค์กร ส่วนราชการ มีบทบาทอำนาจหน้าที่ของ ตัวเองอย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับ สตง. หากดูตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ประกอบกับกฎหมายลูกของ ตัวเอง เห็นชัดว่า หน้าที่หลักคือ ดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง
ต้องถามว่า ที่ผ่านมา สตง.ทำตรงนี้ แล้วหรือยัง หากไม่ทำ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ของกฎหมายอาญาหรือไม่
การไล่บี้กรมสรรพากรให้ตรวจสอบภาษี 60 นักการเมือง ในสมัย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่า แสดงให้เห็นถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ตรวจสอบทุกคน ไม่ใช่เจาะจงแต่เพียงคดีภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปเพียงอย่างเดียว
คำถามคือ นี่ใช่ภาระหน้าที่ของ สตง.หรือไม่ แน่นอนโดยบทบาทแล้ว ผู้ว่าฯ สตง.อาจออกมาให้ข่าว ให้ข้อมูลต่อสังคม ตลอดจนถึงแจ้งเตือนให้กรมสรรพากรตรวจสอบการขายหุ้น ชินคอร์ป การเลี่ยงภาษีของนักการเมืองได้
แต่สตง.ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จนถึงขนาดออกมาไล่บี้กรมสรรพากร ต่อ 2 กรณีดังกล่าวอย่างน่าเกลียด ใช้มาตรา 157 มาข่มขู่ทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนได้เสีย
กรมสรรพากรก็มีระเบียบของเขา มีอำนาจหน้าที่ให้ทำ ถ้าผิดพลาด เขาก็รับผิดชอบ อัยการฟ้อง เหมือนอย่างอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ล่าสุดศาลตัดสินไปแล้ว
ดังนั้นจึงต้องถามอีกว่า ทริปฮาวาย 21 ล้าน ที่สังคมให้ความสนใจ อยู่ในอำนาจหน้าที่สตง.โดยตรงนั้นเป็นอย่างไร ไปถึงไหน ทำหรือไม่ หากไม่ทำ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 เสียเองหรือไม่
คดีหุ้นชินคอร์ป ปลายทางจะไปจบที่ศาลภาษีอากร ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี แน่นอน วันนั้น คสช.ก็ไม่รู้ไปอยู่ไหนแล้ว ประเด็นทั้ง 2 จึงเป็นเรื่องการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น สังคมรับรู้ได้
ผู้ว่าฯ สตง.เหลืออายุงานอีกไม่นาน ที่จะมีต่อจากนี้ก็อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.สรรหา กรรมการองค์กรอิสระ หรือออกตัวเพื่อให้ผลงานเข้าตา หากชิงธงการเมืองได้ ก็อาจถึงระดับรัฐมนตรี
แต่อยากให้ระวังดวงชะตามีขึ้นมีลง น้ำลดแล้วตอผุด ตัวอย่างก็มีให้เห็น
องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ในฐานะที่เป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะพร้อมให้มีการตรวจสอบทุกรูปแบบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตรวจสอบการทำงาน หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงานการเมือง
ส่วนตัวไม่รู้ว่ามีชื่ออยู่ใน 60 คนหรือไม่ เพราะตรวจสอบมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 ผ่านมา 2 ปี ยังไม่เชิญไปชี้แจง แต่ถ้ามีชื่ออยู่ใน 60 คน ก็พร้อมไปพบเจ้าหน้าที่ เพราะเชื่อมั่นว่าไม่ได้หลบเลี่ยงภาษี และเสียภาษีโดยถูกต้องมาโดยตลอด จึงไม่ควรมีปัญหาในเรื่องนี้ มีแต่เสียภาษีเกินแล้วกรมสรรพากรเรียกไปเอาภาษีคืนมากกว่า
แต่เรื่องตรวจสอบการเสียภาษี โดยเฉพาะอดีตนักการเมืองที่ไม่เสียภาษีถึง 60 คนนั้นไม่แน่ใจว่าสตง.มีฐานะการตรวจสอบจากตรงไหน
จริงๆ แล้วทุกครั้งที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ว่าใครก็ตามทั้งรัฐมนตรี ส.ส. ข้าราชการ ทรัพย์สินจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแตกต่างกันในแต่ละครั้ง น่าจะมีน้อยรายที่บัญชีทรัพย์สินเท่ากันทุกครั้งที่แจ้ง
การที่สตง.สงสัยว่ามีหลายคนที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยแจ้งไว้ ก็ต้องไปดูว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนั้นเพราอะไร ถ้าเพิ่มขึ้นและเป็นไปตามกฎหมายประมวลรัษฎากรที่ต้องเสียภาษี หากมีเงินได้พึงประเมินก็ต้องไปแจ้งประเมินภาษี
หากใครไม่ได้แจ้งประเมินภาษี เพื่อจะจ่ายภาษี กรมสรรพากร ก็มีหน้าที่ต้องเรียกบุคคลนั้นๆ ไปพบ แล้วแจ้งให้บุคคลนั้นทราบว่าต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ถ้าไปพบแล้วยังอยู่ในระยะเวลาการชำระภาษี เมื่อชำระแล้วเรื่องก็จบ ถ้าเลยระยะเวลาก็เสียค่าปรับเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าผู้ที่ถูกกรมสรรพากรเรียกไปมีความเห็นว่าเสียภาษีถูกต้อง แต่กรมสรรพากรบอกว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องไปสู้กันในศาลว่าใครถูก
อย่างไรก็ตาม มีรายได้บางประเภทที่ถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่พึงประเมิน ภาษี เช่น รายได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้นก่อนที่ สตง.จะเผยแพร่เรื่องนี้ต่อสาธารณะควรตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่าเขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายการที่พึงประเมินเพื่อเสียภาษีหรือไม่
ถ้ามีรายได้หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ควรนำเสนอข้อมูลเพียงแค่พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วไปตั้งข้อสังเกตว่าไม่เสียภาษี เท่ากับทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบุคคลเหล่านี้ มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่ยอมเสียภาษี
เพราะการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไม่ได้หมาย ความว่าเขามีรายได้ที่ต้องเสียภาษีทุกกรณีไป
เมื่อสตง.เริ่มต้นตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินแล้ว ไม่ใช่แค่ตรวจสอบนักการเมืองรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ ทุกคนที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ควรถูกตรวจสอบด้วย
ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน ทั้งรัฐมนตรี ส.ส. สมาชิกท้องถิ่น บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการแต่งตั้ง เช่น สปท. สนช. รวมทั้งรัฐบาล คสช.
หรือแม้แต่ข้าราชการระดับสูง กรรมการ ในองค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ ก็ควรถูกตรวจสอบด้วย
ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย
เมื่อสตง.มีนโยบายเพื่อมุ่งเน้นการตรวจสอบ การจัดเก็บรายได้ในลักษณะดังกล่าวก็ควรใช้ หลักการและมาตรฐานเดียวกัน ในการตรวจสอบ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบันด้วย
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในรัฐบาล สนช. และสปท. เพราะบุคคล เหล่านี้ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคล ดังกล่าว มีทรัพย์สินใดบ้าง จำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ทราบว่าทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า สตง.ไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีโดยตรง เป็นเรื่องของกรมสรรพากร จึงดูแปลกๆ เหมือนว่าจะให้สรรพากรทำ ถ้าไม่ทำจะโดนมาตรา 157 อะไรทำนองนั้น จึงคิดว่าถ้าจะทำก็ต้องทำให้หมด รวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ด้วย คนรวยๆ ก็มาก มีเงินได้มาอย่างไร เสียภาษีอย่างไร
ไม่อย่างนั้นอาจมองได้ว่าไม่กล้า กลายเป็นว่า สตง.เลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน
ส่วนการที่ สตง.จะเข้ามาตรวจสอบการเสียภาษีของนักการเมืองทั้งในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเนื่องจากระยะเวลาในการประเมินภาษีมีกฎหมายกำหนดไว้ การจะย้อนไปตรวจสอบรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งผ่านมานานแล้วคงทำได้ยาก
แต่กรณีของรัฐบาลปัจจุบันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 สมควรอย่างยิ่งที่ สตง.จะต้องเข้าไปตรวจสอบ
แม้บุคคลเหล่านี้จะยังไม่พ้นจากตำแหน่งก็สามารถตรวจสอบได้ เพราะไม่ใช่ตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ ที่ต้องนำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินขณะดำรงตำแหน่งมาเปรียบเทียบกับกรณีพ้นจากตำแหน่ง แต่เป็นการตรวจสอบการเสียภาษีซึ่งสามารถทำได้
และเมื่อได้พิจารณาจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สินของบุคคลในรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ ลงไป มีหลายคนที่ทั้งชีวิตมีอาชีพรับราชการมาตลอด แต่กลับปรากฏว่ามีทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับฐานรายได้จาก เงินเดือน จึงควรตรวจสอบว่าได้ทรัพย์สินเหล่านั้น มาอย่างไร
หากซื้อมาก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าเงินรายได้นั้นมาอย่างไร จากที่ไหน และเสียภาษีโดยถูกต้องหรือไม่
ส่วนที่สตง.ควรเข้าไปตรวจสอบภาษีทั้งในส่วนของกรรมการองค์กรอิสระและข้าราชการระดับสูงด้วยหรือ ไม่นั้น ก็คงต้องแล้วแต่สตง.ว่าจะเอาอย่างไร พูดไปอาจไปกระทบกับข้าราชการได้
แต่ที่เห็นว่าควรต้องตรวจสอบอย่างยิ่งคือกรรมการ ในองค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึง สตง.ด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้มีช่องทางตามกฎหมายน้อยที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้
การใช้มาตรการทางภาษีเข้าไปตรวจสอบ จะได้เปิดหน้าให้ประชาชน ได้เห็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นนั้น ตัวเองมีทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน และได้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่
ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่องการตรวจสอบเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดความโปร่งใส และเกิดธรรมาธิบาล ดังนั้น การตรวจสอบทุกภาคส่วนอย่างครบถ้วน จึงเป็นเรื่องสำคัญ
วันนี้การตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองไม่เพียงพอ และการจำกัดการตรวจสอบ และเรียกเก็บภาษีเฉพาะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่เพียงพอ เช่นกัน
เพราะที่จริงควรต้องตรวจสอบทุกรัฐบาล ภายใต้ขอบเขตอายุความที่ทำได้ รวมถึงนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นผู้ถืออำนาจสาธารณะเกี่ยวข้องกับประชาชน และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสจริงจังในบ้านเมือง
ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสมาชิกสปท. และสนช. ไม่ได้ถูกจับตาจากสังคมมากเท่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ควรต้องตรวจสอบภาษีสปท.และสนช.ด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องของการตรวจสอบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คนเหล่านี้เสียสละเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง ยิ่งต้องสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้เปรียบเทียบ ว่านักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งยังถูกตรวจสอบได้ ยิ่งเสียสละก็ยิ่งต้องเป็นตัวอย่าง
ขณะเดียวกัน ต้องดูมิติอื่นๆ ด้วย ที่บอกว่าเสียสละนั้นยังรับเงินจากต้นสังกัดหรือไม่ หรือหากรับเงินค่าตอบแทนทั้งสองทาง ก็ควรถูกตรวจสอบ
ทั้งนี้ จุดตัดของการตรวจสอบคือคนที่ถูกตรวจสอบได้ถืออำนาจสาธารณะหรือไม่ ถ้าถืออำนาจสาธารณะยิ่งต้องได้รับการตรวจสอบ แม้แต่ข้าราชการประจำยังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ
ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากไหนก็ต้องถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบุคคลอื่นที่อยู่ในอำนาจรัฐ ยิ่งต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นอำนาจอิสระในการตรวจสอบคนอื่น ตัวเองจึงควรถูกตรวจสอบก่อน
สิ่งสำคัญของการตรวจสอบคือการตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้การตรวจสอบเป็นเครื่องมือทางการเมือง
--สำนักข่าว ข่าวสด วันที่ 22 มีนาคม 2560--
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : www.khaosod.co.th/hot-topics/news_265688