ประเด็นร้อน
กองทัพเรือยืนยันประมูลเมืองการบินถูกต้อง
โดย ACT โพสเมื่อ May 03,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก TheBangkokInsight - -
“กองทัพเรือ” ยันประมูล “เมืองการบิน” ถูกต้อง คณะกรรมการคัดเลือกไม่ยอมรับข้อเสนอเกินเวลา ชี้ถ้าเอกชนไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องตามกฎหมาย
รายงานข่าวจากกองบัญชาการกองทัพเรือ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาควันตะวันออก วงเงิน 2.9 แสนล้านบาทว่า กองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการ ได้ดำเนินการจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองบินภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 16-29 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกชนจากประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าซื้อ RFP จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย และได้กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอในวันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยมีผู้ให้ความสนใจยื่นข้อเสนอจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอ์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF, บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
3.กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP), บริษัท Orient Success International Limited, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด
การรับซองข้อเสนอในในวันที่ 21 มีนาคม 2562 กองทัพเรือได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดใน RFP ซึ่งกำหนดให้เอกชนผู้สนใจยื่นข้อเสนอระหว่างเวลา 9.00-15.00 น. โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้รับข้อเสนอของกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 รายที่ได้ยื่นภายในกำหนดเวลา 15.00 น. ไว้พิจารณาแล้ว
แต่คณะกรรมการคัดเลือกจะไม่พิจารณาเอกสาร ที่ผู้ยื่นข้อเสนอมายื่นเพิ่มเติมหลังจากเวลา 15.00 น. ในส่วนที่เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอบางรายอาจไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือก ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ยื่นข้อเสนอจะใช้กระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด
คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุใน RFP กล่าวคือ เมื่อตรวจสอบเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 เสร็จแล้ว จะประกาศผลให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบและเชิญผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินซองที่ 1 มาร่วมเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นกระบวนการประเมินข้อเสนอจนได้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก หลังเปิดซองที่ 2 ภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อเสนอด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด
ในขณะนี้คณะกรรมกรคัดเลือกอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย โดยการยื่นข้อเสนอของเอกชนแต่ละรายนั้น เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกนิติบุคคลที่มีความสนใจในการเข้ามาร่วมทุนในโครงการ ซึ่งเมื่อรวมจำนวนสมาชิกของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 รายแล้ว มีนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน 11 บริษัท
นอกจากนี้ผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละราย ยังได้เสนอใช้ผู้รับจ้างที่มีนัยสำคัญต่อโครงการ ซึ่งมีผู้รับจ้างของผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายรวมทั้งสิ้น 6 บริษัท ดังนั้น เมื่อรวมจำนวนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเสนอจึงมีถึง 17 บริษัท ซึ่งต้องดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนิติบุคคลทุกบริษัทอย่างละเอียดและรอบคอบ ในขณะนี้เอกสารข้อเสนอซองที่ 1 ส่วนใหญ่ได้รับการตรวจสอบและมีความก้าวหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว คาดว่าจะประเมินข้อเสนอซองที่ 1 แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ด้วยโครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ กองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมกันในการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหลายหน่วยงาน จะดำเนินการตามเงื่อนไขใน RFP และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นอกจากนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP) ซึ่งมีการแต่งตั้งผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จำนวน 5 คน เป็นผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าร่วมการประชุมและการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาควันตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติและรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ภายใต้ EEC ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกของประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในระดับภูมิภาค
โครงการประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และศูนย์ธุรกิจการค้า, ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ระยะที่ 2, ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน ระยะที่ 2, ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ระยะที่ 2 และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาครัฐ 6% และเอกชน 94% ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน