บทความ
รัฐสภาใหม่ อย่าปล่อยให้เสียหายกว่านี้
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 07,2019
รัฐสภาใหม่: อย่าปล่อยให้เสียหายกว่านี้
ท่ามกลางข่าวคอร์รัปชัน ใช้งบบานปลายและความล่าช้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ได้เกิดคำถามว่า ใครต้องรับผิดชอบความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ควรเป็นผู้รับเหมา คนออกแบบ บริษัทควบคุมงาน ที่ปรึกษาโครงการ หรือรัฐสภาต้องยอมสูญเสียเอง แต่ปัญหานี้จะชี้ขาดโดยองค์กรหรือหน่วยงานใดที่เหมาะสมและพร้อมให้คำอธิบายเป็นที่ยอมรับของสังคม
รัฐสภาใหม่ที่แยกเกียกกายควรสร้างเสร็จตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2558 หรือเมื่อกว่าสามปีที่แล้ว แต่ผู้รับเหมาอ้างเหตุที่ทำให้งานล่าช้ามาตลอดและรัฐสภาก็ยอมขยายเวลาให้ 3 ครั้งจาก 900 วันเป็น 2,382 วัน คือไปสิ้นสุดวันที่ 15 ธันวาคม 2562 จนถึงวันนี้งานยังคืบหน้าไปราวร้อยละ 60 เท่านั้น แม้ล่าสุดมีข่าวว่าจะเปิดใช้เฉพาะ “ห้องประชุมวุฒิสภา” ได้ในเดือนพฤษภาคมศกนี้เพื่อต้อนรับ ส.ส. และ ส.ว. ใหม่และจะเปิดใช้อาคารทั้งหมดกลางปี 2563 แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าคงเป็นการเปิดแบบประชุมไปก่อสร้างไปมากกว่า ส่วนจะเสร็จสมบูรณ์คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกสองปี
เกิดอะไรขึ้นในห้าปีครึ่งที่ผ่านมา
1. การที่รัฐสภายินยอมให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปทำให้ผู้รับเหมาไม่ต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท รวมเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1.77 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลเช่น การส่งมอบที่ดินล่าช้า แบบงานก่อสร้าง - งานระบบไม่ตรงกันหรือไม่ชัดเจน ผู้แทนของรัฐสภาชักช้าในการพิจารณาตัดสินปัญหาติดขัด พื้นที่เฉพาะส่วนโรงเรียนโยธินบูรณะส่งมอบล่าช้า แต่ปัญหาน่าสนใจที่สุดคือ การขนย้ายดินจากการก่อสร้างจำนวนมากที่นำไปสู่การตีความที่ขัดกับ ทีโออาร์ จนสุดท้ายรัฐสภาต้องตกเป็นผู้รับภาระนี้เอง เป็นต้น ทั้งๆ ที่อุปสรรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรู้เงื่อนไขอยู่ก่อนประมูลงานอยู่แล้ว
2. โครงการนี้เป็นการจ้างเหมาแบบล่ำซำที่ปกติแล้วผู้รับเหมาต้องทำงานให้สำเร็จตามแบบก่อสร้าง รายการปริมาณงานและราคา (BOQ.) และสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง จะเรียกร้องเพิ่มเติมอีกไม่ได้แม้มีการปรับแก้ เว้นแต่เป็นงานใหม่หรือที่ให้ทำเพิ่มเติมโดยชัดแจ้ง แต่มีการวิจารณ์ว่า โครงการนี้มีการโยนภาระงานให้เป็นของรัฐสภาหรือผู้รับเหมาอื่น มีการเปลี่ยนแบบลดสเปคแต่ไม่ลดเงิน งานที่คิดว่าขาดทุนหรือกำไรน้อยก็ยกเลิกหรือแก้ไขหรือเปลี่ยนเป็นแบบที่มีกำไรมากขึ้น งานบางอย่างไม่สามารถทำตามแบบได้หรือต้องใช้เวลามากก็เปลี่ยนแบบหรือคืนงาน เหล่านี้ทำให้รัฐสภาต้องจ่ายเงินเพิ่มจำนวนมาก
3. ข้อมูลจากเอกสารโครงการ ข้อร้องเรียนของข้าราชการ อดีตข้าราชการระดับสูงของรัฐสภาและผู้เกี่ยวข้องพบว่า มีงานเพิ่มเติมที่ต้องเพิ่มงบประมาณอีกหลายรายการ เช่น การออกแบบและก่อสร้างอาคารจอดรถ ระบบไอทีและสารสนเทศ รวมทั้งมีประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ด้วยความกังวลว่า ใครคือผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและการประสานงานในการเชื่อมโยงระบบไอทีและระบบเสียงเข้ากับระบบหลักของอาคาร
โดยทั่วไปการบริหารสัญญาก่อสร้าง ต้องยึดเอาผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ แต่หลายการตัดสินใจในโครงการนี้น่าจะมีการทบทวนว่าโปร่งใสและเป็นธรรมต่อราชการจริงหรือไม่ แม้ที่ผ่านมาจะผู้เกี่ยวข้องทั้ง คณะกรรมการจัดซื้อฯ คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการตรวจการจ้าง คณะกรรมการเร่งรัด ผู้ออกแบบ บริษัทที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่โครงการระดับต่างๆ แต่อุปสรรคสำคัญคือ “โครงการนี้มีผู้มากบารมีเกี่ยวข้องหลายคน ทำให้ข้าราชการทำงานลำบากและต้องเกรงใจ” เห็นได้จากการที่ข้าราชการของรัฐสภาหลายรายโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิด โดนโยกย้าย ทั้งที่เป็นข่าวและรู้กันภายใน ขณะที่เอกชนรายอื่นๆ ก็ถูกกดดันจนหลายอย่างบิดเบือนไป
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดในการทำให้สังคมมั่นใจว่า เงินภาษีของประชาชนที่ถูกใช้ไปจำนวนมาก รวมทั้งชื่อเสียงและเวลาที่รัฐสภาสูญเสียไปจากข้ออ้างและเหตุผลที่รัฐสภาเองยอมรับมาตลอดนั้น ว่า “เป็นเรื่องสมเหตุสมผลตามหลักวิชาชีพแล้ว” จริงหรือไม่ รัฐสภาควรให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเปิดกว้าง โดยเชิญสถาบันที่เป็นเสาหลักในวิชาชีพคือ สภาสถาปนิก สภาวิศวกร สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ให้เข้ามาศึกษากระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้คือความถูกต้องที่เป็นประโยชน์ต่อราชการและเกิดความรู้ที่มีคุณค่าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
07 เมษายน 2562
ข้อมูลประกอบ:
1. สัปปายะสภาสถาน https://www.facebook.com/100004076388880/posts/1696276307184899/
2. https://news.thaipbs.or.th/content/271240, https://voicetv.co.th/read/SkU1H_85M
3. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/801914
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน