ประเด็นร้อน
ป.ป.ช.กระตุ้นภาคประชาสังคมจับตานักการเมืองพรรคการเมืองหลังได้รับเลือกตั้งอย่าลืมสัญญา 'ต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ'
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 05,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สยามรัฐ - -
ป.ป.ช.เดินหน้ากระตุ้นภาคประชาสังคม สอดส่องจับตานักการเมือง/พรรคการเมืองหลังผลหย่อนบัตรเลือกตั้ง บรรลุผล ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มุ่งธงยุทธศาสตร์ชาติต้านทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560- 2564) หลังผนึก พรรคการเมือง นักการเมือง ประกาศเจตจำนงทางการเมืองต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ
พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยภายหลัง การประกาศผลคะแนน 100% ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของนักการเมืองและพรรคการเมือง ต่างมีเจตนา เพื่อเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในการวางนโยบายบริหารประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่โดยตรงต่อการ ป้องปรามการทุจริตทุกรูปแบบ โดยได้ดำเนินนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตที่มีกลยุทธ์สำคัญ คือการพัฒนากลไกการกำหนดให้นักการเมืองได้แสดงเจตจำนงทางการเมือง ในการต่อต้านการทุจริตจนนำไปสู่การลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร และสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการผลักดันให้พรรคการเมืองและนักการเมืองได้ประกาศเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตต่อสาธารณชน ในกิจกรรม Kick Off การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
โดยกิจกรรมดังกล่าว ป.ป.ช.ได้เปิดช่องทางให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมกันแสดงเจตจำนงทางการเมืองผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องการให้พรรคการเมืองมีนโยบายต่อต้านการทุจริตที่เป็นรูปธรรมและต้องการให้นักการเมืองมีความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใส
พลเอก บุณยวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประชาชนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยในการกระตุ้นและติดตามสอดส่องการดำเนินงานของพรรคการเมือง นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งติดตามตรวจสอบความเสี่ยงในการดำเนินการตามนโยบายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการสอดส่อง ตรวจสอบดูแล ที่รวดเร็วขึ้น ถ้าหากภาคประชาชนเข้มแข็ง ก็จะมีกลไกเพื่อการตรวจสอบป้องปรามการทุจริตของชาติที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่จะสามารถยับยั้งป้องปรามนโยบายที่เสี่ยงต่อการทุจริต โดย พลเอก บุณยวัจน์ ได้กล่าวถึง มาตรา 35 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ระบุว่าในกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหน่วยงานของรัฐดำเนินการอย่างใดอันอาจนำไปสู่การทุจริต หรือส่อว่ามีการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว ถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่า กรณีมีเหตุอันควรระมัดระวัง คณะกรรมการป.ป.ช.อาจมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนโดยเร็วและถ้าไม่เกี่ยวกับความลับของทางราชการให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งมาตราดังกล่าวเป็นมาตรการที่จะช่วยระงับยับยั้งนโยบายหรือกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตนั่นเอง
“เราทุกคนในฐานะประชาชนไทย ต้องจับตาต่อไปว่า นักการเมือง พรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาครั้งนี้ ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นใด จะนำนโยบายที่หาเสียงนั้น มาแถลงต่อรัฐสภาอย่างไร และหากบางนโยบายมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต ป.ป.ช.พร้อมตรวจสอบตามกฎหมาย ว่านโยบายเหล่านั้น มีมาตรการป้องกัน และควบคุมการทุจริตที่รัดกุมหรือไม่อย่างไร โดยประชาชนที่พบเห็นการทุจริต หรือต้องการแจ้งเบาะแสการทุจริต สามารถแจ้งผ่านเว็ปไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสายด่วน ป.ป.ช. 1205 เพราะประชาชนคือส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังการดำเนินนโยบายของนักการเมือง พรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาว่าได้ทำตามเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ เพื่อให้นักการเมืองมีความสำนึกรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล”
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน