ประเด็นร้อน
พลังทางสังคม พลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 03,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ลงมือสู้โกง : โดย พัชรี ตรีพรม
การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยง กันได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงข้อมูลได้เป็นจำนวนมากในเวลาสั้น การติดต่อสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนในสังคมได้มีโอกาสแสดงความหลากหลายขึ้นเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือความหลากหลายและ ซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของปัญหาในสังคมด้วย
พอพูดถึงปัญหาสังคม หลายคนมักคิดว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เรื่องปากท้อง จนไปถึงปัญหาใหญ่ๆ อย่างการทุจริตคอร์รัปชัน แต่เมื่อปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น การจะรอให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหานั้นคงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐหรือนักวิชาการจะบอกว่าประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วม ก็ดูจะเป็นการผลักภาระไปหน่อย หากไม่ได้มีการสนับสนุนด้วยอาวุธและเกราะป้องกันให้ประชาชน นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับการขับเคลื่อนพลังสังคมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการคอร์รัปชัน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลนิธิหัวใจอาสาได้จัดงานปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "พลังพลเมือง พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม" โดยนำเสนอมุมมองในการแก้ไขปัญหาสังคมในประเด็นต่างๆ บทความในตอนนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเนื้อหาภายในงานในประเด็นพลังสังคม...ต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยพลังสังคมที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน
องค์ปาฐกท่านแรก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวถึง "พลังพลเมือง พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย" ประเด็นที่น่าสนใจที่ท่านได้นำเสนอเป็นเรื่อง "พลังของภาคประชาสังคม" ที่มีการรวมตัวกันเป็นขบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยยกตัวอย่าง ขอนแก่นโมเดลที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มสำนึกรักบ้านเกิดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นการรวมตัวกันของนักธุรกิจและภาคเอกชน ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมโดยไม่รอการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ผ่านการระดมทุนจากสมาชิกในกลุ่ม และจัดตั้ง บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (Khon Kaen Think Tank - KKTT) เพื่อดำเนินการวางแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในขอนแก่น จนนำมาสู่โครงการรถไฟฟ้ารางเบา จากพลังของการรวมกลุ่มขอนแก่นโมเดลทำให้เกิดบริษัทพัฒนาเมืองที่มีลักษณะเดียวกันหลายพื้นที่ เกิดแนวคิดรถรางในเมืองใหญ่อีก 12 แห่ง
นอกจากการนำเสนอขบวนการวมตัวกันของภาคประชาสังคมแล้ว อาจารย์ยังนำเสนอตัวอย่างพลเมืองเข้มแข็งที่เป็น "ปัจเจกชน" และสามารถแสดงตนในการสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น น้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา ที่เป็นผู้ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จนนำไปสู่การตรวจสอบการทุจริตในหลายพื้นที่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของภาคสังคมสามารถทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโดยปัจเจกชน และการขับเคลื่อนโดยการรวมกลุ่มกัน ซึ่งล้วนสามารถเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสังคมได้
องค์ปาฐกอีกท่านที่น่าสนใจ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ต่อภัสสร์ได้เล่าถึง "พลังประชาสังคมเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน" โดยนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยพลังพลเมือง ซึ่งมีความสอดคล้องกับดร.สมเกียรติว่า พลังพลเมืองสามารถทำได้ทั้งการรวมกลุ่ม และการแก้ไขปัญหาโดยปัจเจกชน โดยท่านได้ชี้ให้เห็นว่าแนวทางขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของพลังพลเมืองที่จะประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการดังนี้
ประการแรก พลังของคนที่มีความสนใจและอยากเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน พลังประชาชนมีได้ทั้งสองรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบปัจเจกชนที่มีใจอยากร่วมแก้ไขปัญหาและ รูปแบบของการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อเข้าร่วมแก้ไขปัญหา ข้อจำกัดของพลังภาคประชาชนเป็นเรื่องของการขาดความเชื่อมโยงแนวทางที่สามารถสร้างความร่วมมือกันได้ แต่ในปัจจุบันมีโครงการที่สามารถดึงพลังประชาชนเหล่านี้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ เช่น โครงการปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เป็นการปฏิบัติการสู้โกงโดยอาศัยพลังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วมอบรมเป็นหมาเฝ้าบ้านที่ค่อยสอดส่อง เสาะแสวงหา สืบค้น โครงการภาครัฐต่าง ๆ ที่มีความไม่ชอบมาพากลเพื่อนำเสนอสู่สังคมให้รับทราบและนำไปสู่การตรวจสอบโดยพลังประชาชน
อีกโครงการที่น่าสนใจจาก Investigative Journalism สู่เพจ "ต้องแฉ Must Share" เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถร่วมกันแชร์ข้อมูลทุจริตในพื้นที่ต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจมีการให้ความรู้และข่าวสารเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น มีประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันที่พบเจอในแต่ละพื้นที่ จนนำมาสู่การพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีความเป็น Active citizen ไม่เพิกเฉยเมื่อพบเห็นความผิดปกติที่อาจเกิดการทุจริตในโครงการรัฐพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ประการที่สอง ประชาชน อาจารย์ได้กล่าวถึงงานผลงาน วิจัยที่มีการศึกษาว่าประชาชนในแต่ละช่วงอายุ หรือแต่ละท้องถิ่นมีความเข้าใจและความสนใจประเด็นคอร์รัปชันที่มีความแตกต่างกัน ประชาชนขาดช่องทางการร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันที่สะดวกและปลอดภัย ขาดความรู้ในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งอาจารย์เห็นว่าหากต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งที่ควรทำคือการทำความเข้าใจประชาชนในแต่ละวัยแต่ละพื้นที่ว่าเขาให้ความสำคัญและสนใจในปัญหาคอร์รัปชันด้านใด การให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน และการมีช่องทางที่ปลอดภัยและสะดวกต่อการใช้งานเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนเมื่อพบปัญหาคอร์รัปชัน หากมีการสนับสนุนตามแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเต็มที่
ประการสุดท้าย สังคม จากงานวิจัยของ SiamLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยขาดความโปร่งใสของข้อมูล ขาดการเปิดเผยข้อมูลให้สังคมรับรู้ จึงเป็นเรื่องดีที่ในปัจจุบันหลายหน่วยงาน ในประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนาระบบ Big Open Data เพื่อเปิดเผยข้อมูลสาธารณะต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย เช่น โครงการ ACT.AI ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นคลังข้อมูลสำหรับพลเมืองตื่นรู้สู้โกง และโครงการ Big Open Data เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายองค์กร ที่จะเป็นทั้งคลังข้อมูลสาธารณะและช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน
จากข้อมูลของนักวิชาการทั้งสองท่านที่ได้นำเสนอข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าพลังทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างดี ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของปัจเจกชนหรือการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก็สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ และในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของภาคประชาชน หากมีกลไกและแนวทางการสนับสนุนให้พลังประชาสังคมสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เหมือนกับติดอาวุธและเกราะให้พลเมืองตื่นรู้ สู้โกง เช่น การสร้างบรรยากาศสังคมให้มีความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ มีการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการคอร์รัปชัน และให้เครื่องมือที่ปลอดภัยและสะดวกกับประชาชนในการร้องเรียน พลังทางสังคมก็จะเป็นพลัง ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างแน่นอน
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน