ประเด็นร้อน

5 ปีรัฐประหาร – 5 ปีปราบโกง ในสายตา ‘มานะ นิมิตรมงคล’

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 31,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ดิ วันโอวัน - -

 

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

 

8 ปี นับจากการเกิดขึ้นขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผ่านช่วงเวลาความขัดแย้งทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องที่ถูกใช้โจมตีทุกสีทุกฝ่าย กระทั่งกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการทำรัฐประหารปี 2557

 

แน่นอนว่าเรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งต้องถูกแก้ไขควบคู่ไปกับการมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม มีกลไกที่ทำให้การตรวจสอบเกิดขึ้นทั่วถึงและถ้วนหน้า ตั้งแต่ภาคการเมือง ธุรกิจ ข้าราชการ รวมถึงกองทัพ ไม่ใช่กลายเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกหยิบใช้เมื่อต้องการทำลายกันทางการเมือง

 

101 ชวน มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) คุยถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของคสช. ที่มีกรณีทุจริตเกิดขึ้นมาตามหน้าสื่อให้สะกิดใจประชาชน มีการออกกฎหมายปิดกั้นข้อมูลมากขึ้น รวมถึงการใช้อำนาจของคสช.ที่ตรวจสอบไม่ได้

 

สิ่งหนึ่งที่เขามองว่าเป็นทิศทางที่น่าจะเป็นความหวังในการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไปในอนาคต คือการมีกลไกใหม่ในการใช้ตรวจสอบภาครัฐอย่าง ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ (Integrity Pact) และ ‘โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ’ (CoST) ที่ให้ผลน่าพอใจ และควรขยายไปใช้ในโครงการที่ยังมีข้อกังขามากในปัจจุบัน

มานะ นิมิตรมงคล

 

ภาพรวมการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล คสช. เป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเรื่องคอร์รัปชันเป็นเหตุผลหนึ่งในการทำรัฐประหาร

 

การต่อต้านคอร์รัปชันช่วง 5 ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร มีการออกมาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่จับต้องได้หลายอย่าง เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกการอนุญาตของราชการ, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง, ตั้งศาลคอร์รัปชัน, กำหนดระยะเวลาทำคดีของ ป.ป.ช. มีความพยายามแก้ไขปัญหาที่เป็นรากฐานของการโกง

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากคือกระแสความตื่นตัวของภาคประชาชน รวมถึงนักธุรกิจและข้าราชการที่ดีจำนวนมาก วัดได้จากผลการสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติและการสำรวจในประเทศ เช่น การสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภาคประชาชนพยายามช่วยกันสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะคดีทุจริต ล่าสุดมีการจัดตั้งกองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรม ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน


แต่พอพูดถึงคนโกง ในช่วง 2 ปีแรกของรัฐบาลจะเห็นความความเอาจริงเอาจังชัดเจน ผลสำรวจของสถาบันต่างๆ จะออกมาดูดี แต่หลังจากนั้นมาทั้งผลสำรวจและในสื่อจะพูดถึงการโกงเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย ทั้งการโกงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การโกงที่กระทำโดยคนที่มีอำนาจใกล้ชิดรัฐบาล ในช่วงหลังเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่ามีการโกงเหมือนช่วงรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร


สถานการณ์คอร์รัปชันบ้านเรามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ยังมีการโกงกันอยู่ แต่มีแพลตฟอร์มที่คนจะมาเข้าร่วมต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นเครือข่ายมากขึ้น ภาครัฐที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน อย่าง ป.ป.ช. หรือ สตง. ก็เริ่มเห็นความจำเป็นของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน


ปัจจัยถดถอยของการต่อต้านคอร์รัปชันคือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ การใช้อำนาจของภาครัฐ ข้อมูลเหล่านี้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงมากขึ้น แม้รัฐธรรมนูญหลายมาตราจะเขียนว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ และหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาหรือเปิดเผยข้อมูล แต่ในความเป็นจริงไม่มีการแก้ไขกฎหมายมารองรับ ป.ป.ช.หรือ สตง. ก็มีระเบียบนโยบายที่จะปิดกั้นข้อมูลมากขึ้น หรือมีความพยายามออกกฎหมายอื่นมาปิดกั้นข้อมูล เช่น พ.ร.บ.ความลับของทางราชการ และพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล กลายเป็นปัจจัยทำให้ตรวจสอบภาครัฐยากขึ้น

 

แม้มีจะมีกลไกตรวจสอบใหม่ๆ ออกมา แต่มองผลในทางปฏิบัติแล้วประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้โปร่งใสขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง ‘นาฬิกาหรู’ เรื่องนี้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลด้วยหรือเปล่า

 

ถูกต้อง ถ้าเปิดหนังสือพิมพ์ย้อนหลังจะพบว่าทุกรัฐบาลจะมีประเด็นสีดำสีเทาอย่างนี้ไม่แตกต่างกัน แต่พออยู่ในช่วงรัฐประหารในรัฐบาลที่เป็นเผด็จการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ การปิดกั้นการตรวจสอบก็มีมากขึ้น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติบอกว่าสาเหตุที่คะแนนประเทศไทยลดลงเพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย การตรวจสอบทำไม่ได้และการใช้อำนาจมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการทุจริต


เรื่องไมค์ทองคำ, นาฬิกา, หลานนายกฯ ใช้ค่ายทหารเป็นที่ตั้งบริษัทประมูลงานราชการ ต่างชาติเขาเอาไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในทางลบ ขณะเดียวกันประชาชนก็รับรู้สิ่งเหล่านี้ ความเชื่อมั่นศรัทธาก็ถดถอยลง ไม่แตกต่างจากเรื่องการใช้อำนาจผูกขาดสัมปทานหรือเรื่องที่ดินรัชดา

 

5 ปีที่ผ่านมารูปแบบการคอร์รัปชันเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

 

ก่อนหน้านี้เวลาสำรวจความคิดเห็น ประชาชนจะบอกว่านักการเมืองใครๆ ก็โกง แต่พรรคนี้โกงแล้วมีผลงานก็ไม่เห็นเป็นไร โกงแต่ฉันได้ประโยชน์ ประชาชนคิดแบบนี้อาจเพราะมีข่าวออกมาเสมอว่าพรรคนั้นก็โกง พรรคนี้ก็โกง


แต่ในความเป็นจริงถ้าดูจากผลการสำรวจของ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ พบว่าสินบนครัวเรือนลดลงอย่างมีนัยยะเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เวลาประชาชนไปติดต่อหน่วยงานราชการจะมีโอกาสโดนรีดไถน้อยลงมาก ความเดือดร้อนโดยตรงที่ประชาชนได้รับมันน้อยลง


แต่สิ่งที่เราพบคือการคอร์รัปชันในระบบราชการเพิ่มขึ้น เช่น การโกงกินในการจัดซื้อจัดจ้าง การออกนโยบาย โกงกินกองทุน โกงกินสหกรณ์ หรือโกงโดยใช้อำนาจรีดไถเวลาใครมาขอใบอนุญาตโน่นนี่ การเพิ่มขึ้นตรงนี้ไม่กระทบประชาชนทั่วไป แต่กระทบคนที่มีเงินในระดับหนึ่ง ถ้าคุณไม่มาติดต่อเรื่องสร้างบ้าน สร้างหอพัก ขุดบ่อ ขุดสระ ทำสะพาน คุณก็ไม่โดนโกง ปัญหาเหล่านี้เบ่งบานทุกที่แต่ไม่กระทบประชาชนที่เป็นรากหญ้า


ถามว่าประชาชนรู้ไหมว่าการโกงในระดับนี้เพิ่มมากขึ้น คนรู้ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะไม่ใช่เงินของฉัน มันเป็นเงินของหลวง มันเป็นเงินของคนที่ไปติดต่อแล้วจ่าย ถือว่าสมรู้ร่วมคิดมีส่วนได้ส่วนเสียกัน ประชาชนรู้สึกว่ายอมรับได้ในเรื่องการโกงเพราะเขาไม่เดือดร้อน


ฉะนั้นนักการเมืองที่ออกนโยบายประชานิยมหรือโกงแล้วประชาชนรู้สึกว่าเขาดีขึ้นก็เลยไม่เดือดร้อน ทำให้เห็นภาพว่าการคอร์รัปชันเปลี่ยนไป สิ่งที่กระทบกับประชาชนลดน้อยลงแต่การโกงที่กระทบกับทรัพย์สินของแผ่นดินหรือผลประโยชน์ของประเทศชาติเกิดขึ้นอย่างรุนแรง


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมองยังไงกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ขณะที่การโกงในภาครัฐรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราตั้งคำถามในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการอย่างไร

ภายใต้คำว่าการโกงในภาครัฐจะมี 2 ส่วน

1.การโกงในระบบราชการ โกงเงินกองทุน โกงเงินจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป

2.การโกงที่มีนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในทุกประเทศทั่วโลก ยากที่จะไปหวังว่ากลไกรัฐจะฟังก์ชัน

 

เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์หรือทัศนคติว่าต้องทำเพื่อส่วนรวม ทำความดี ไม่โกงกิน ไม่แสวงหาอำนาจในทางไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองในทุกประเทศทั่วโลก ประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ฮ่องกง, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น เขากระตุ้นพลังจากภาคประชาชนทั้งนั้น แล้วจึงเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันและวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้


เราพยายามให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความตื่นตัวของประชาชน ให้เขาส่งเสียงและเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เราเชื่อว่าคนที่มีส่วนร่วมในการเก็บขยะ ต่อไปเขาจะไม่ทำลายธรรมชาติ พอเขาตื่นตัวแล้วต้องให้เขามีส่วนร่วมได้ จึงพยายามรณรงค์ภาคประชาชนและภาคธุรกิจว่าใครที่รวมตัวกันทำอะไรได้ก็ต้องทำ


กลไกตรวจสอบคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นใหม่มีอันไหนที่น่าสนใจและสร้างผลสำเร็จชัดเจนแค่ไหน

 

มีมาตรการที่เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจของรัฐโดยตรง โชคดีที่รัฐบาลให้การยอมรับแล้วบรรจุในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ปฏิเสธที่จะไม่ทำตามยาก ปัจจุบันใช้อยู่ 2 มาตรการ 1.ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) 2.โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มีหลักการว่าการดำเนินโครงการของภาครัฐต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนรู้เห็นตามกฎหมาย เป็นมาตรการบังคับให้หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่


ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นข้อตกลงที่หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการกับเอกชนที่จะเข้ามารับงานตกลงกันว่าจะดำเนินโครงการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดให้ผู้สังเกตการณ์ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนได้รับรู้ แล้วถ้าผู้สังเกตการณ์อยากรู้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดหาให้


เช่น เราเข้าไปดูโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แล้วอยากรู้ข้อมูลเปรียบเทียบว่าโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่เปิดดำเนินการแล้วก่อนหน้านั้นเงื่อนไขเป็นอย่างไร รฟม. ก็ต้องไปจัดหามาให้


ผู้สังเกตการณ์มีสิทธิที่จะดูข้อมูลทุกอย่างและมีหน้าที่แสดงความคิดเห็นว่าทุกอย่างโปร่งใสถูกต้องตามทีโออาร์ไหม แต่ผู้สังเกตการณ์จะไม่ตัดสินว่าโครงการนี้ไม่เป็นไปตามทีโออาร์แล้วต้องหยุดโครงการ หากเห็นว่าโครงการไม่โปร่งใสและไม่หาข้อมูลมาตอบคำถาม เราจะแจ้งเรื่องไปที่กระทรวงการคลัง แล้วถ้ายังไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น เราจะแจ้งไปที่ ป.ป.ช. และเปิดเผยให้ประชาชนรู้ โดยไม่เป็นผู้ตัดสินว่ามีการโกงหรือเปล่า แต่เปิดเผยต่อสาธารณะว่ามีความไม่ชอบมาพากล


ข้อตกลงคุณธรรมทำมาได้ประมาณ 3-4 ปี มีการเข้าร่วม 102 โครงการ วงเงินทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท เช่น โครงการรถไฟฟ้า สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการซื้อดาวเทียม มีผู้สังเกตการณ์ประมาณ 250 ท่าน โครงการละ 3-6 คน


ส่วนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) จะใช้กับโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อน จะมีสูตรมาตรฐาน ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา ก็ใช้มาตรการ CoST เขาเปิดเผยอะไร ประเทศไทยก็ต้องเปิดเผยตามนั้น เช่น ถ้าสร้างถนนยาว 20 กิโลเมตร ใช้เงินเท่าไหร่และต้องเปิดเผยเรื่องอะไรบ้าง ใครเป็นผู้รับเหมา ใครเป็นคู่เทียบ ได้ราคาเท่าไหร่ สเปคการก่อสร้างพื้นฐานมีอะไรบ้าง โดยมีสำนักงานแห่งหนึ่งที่จัดตั้งโดยภาคประชาชนเข้าไปมอนิเตอร์ข้อมูลเหล่านี้ ปัจจุบันมีโครงการเข้าร่วม CoST ประมาณ 108 โครงการ และปี 2562 จะมีเพิ่มอีก 105 โครงการ

 

หลังจากใช้มาแล้วทุกโครงการที่ผ่านกลไกนี้สามารถยืนยันได้เลยไหมว่าโปร่งใส

 

เป็นที่พึงพอใจมาก โครงการที่เซ็นสัญญาไปแล้วประมาณ 3-4 แสนล้านบาท สามารถประหยัดได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้นคือผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ เข้าใจและให้ความร่วมมือ

 

สาเหตุที่ทำให้ประหยัดได้มากเพราะเราเลือกผู้มีประสบการณ์สูงเข้าไปสังเกตการณ์ โดยเชิญมาจากองค์กรวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมสถาน สภาสถาปนิก สมาคมผู้ตรวจสอบบัญชี สภาหอการค้าไทย สมาคมอุตสาหกรรม

 

ถ้ามีความผิดพลาด เขาต้องรับผิดชอบต่อชื่อเสียงองค์กรและชื่อเสียงของเขาเอง ขณะเดียวกันก็จะมีความระมัดระวังมากเรื่องการคัดสรร การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยผู้สังเกตการณ์ต้องผ่านการอบรมก่อน คนเหล่านี้มีประสบการณ์สูง ไปดูปุ๊บก็จะเข้าใจทันที ผู้สังเกตการณ์บางส่วนเป็นนักธุรกิจก็จะเข้าใจว่าถ้าเขียนทีโออาร์แบบนี้จะเสียเปรียบเอกชนหรือจะเกิดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนได้ โดยแต่ละโครงการจะมีคณะทำงานที่ประชุมปรึกษากันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การทำงานของผู้สังเกตการณ์มีความคล่องตัว รู้สึกอิสระและปลอดภัยที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ

 

สิ่งที่ได้จากข้อตกลงคุณธรรม นอกจากตัวเลขที่จับต้องได้ชัดเจนแล้ว สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าคือ

 

เจ้าหน้าที่รัฐที่ตั้งใจทำงานจะมีความสุข เขาสามารถมีหลักพิงได้เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือนักการเมืองจะมาแทรกแซง เขาสามารถอ้างได้ว่าข้อมูลถูกเปิดเผยแล้ว มีคนนอกรู้เห็น เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

การใช้ดุลพินิจหรือเส้นสายเหมือนในอดีตจะทำได้ยาก คนที่ตั้งใจทำงานจะสบายใจ วันข้างหน้าจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในการดำเนินโครงการของรัฐที่โปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับเจ้าหน้าที่และภาคประชาชน แล้วจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศในระยะยาวได้ดีกว่าทุกเรื่อง

 

ช่วงนี้มีประเด็นไหนที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกำลังจับตา และโครงการเหล่านี้อยู่ในกลไกตรวจสอบของข้อตกลงคุณธรรมหรือ CoST ไหม

 

มีบางโครงการใช้ข้อตกลงคุณธรรม แต่ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ใส่ใจ เช่น การซื้อมอเตอร์ไซค์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมโครงการแต่เขียนทีโออาร์แล้วไม่ให้ข้อมูล ซื้อมอเตอร์ไซค์พันกว่าล้าน ลดไปได้หมื่นกว่าบาท ในที่สุดเมื่อเขาไม่เห็นคุณค่า เราก็ถอนตัวออกมา โครงการที่มีปัญหาเช่นการซื้อดาวเทียมของจิสด้า เราก็ถอนตัวเพราะเขาไม่ให้ความร่วมมือ หากไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้องเราก็ต้องทบทวน ทุกวันนี้ยังมีโครงการใหญ่ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนแล้วเขาหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม

 

ที่เราเรียกร้องตอนนี้คือการประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ที่ผ่านมาเรื่องดิวตี้ฟรีมีปัญหาเยอะมาก ถูกพูดถึงเรื่องทุจริต ขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกนำไปอภิปรายในสภา ฉะนั้นเพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ก็ควรเอาข้อตกลงคุณธรรมมาใช้

 

ในเมื่อมีกฎหมายบังคับแล้วเขายังสามารถหลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมกลไกตรวจสอบได้เหรอ

 

ตามกฎหมายเนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างบ้านเรามีเยอะมาก ปีหนึ่งๆ เป็นล้านรายการ ก็เลยกำหนดโครงการที่จะใช้ข้อตกลงคุณธรรมว่า 1.โครงการมูลค่าหนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป 2.โครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 3.โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นภารกิจหลักขององค์กร 4.โครงการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการทุจริต แล้วคณะกรรมการป้องกันการทุจริต ซึ่งมีตัวแทนองค์กรเราไปร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย เป็นคนเลือกว่าจะเอาโครงการไหนมาเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมบ้าง

 

เรื่องดิวตี้ฟรีเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวที่เราเรียกร้องให้เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ที่ผ่านมาถ้าคณะกรรมการเห็นชอบอะไรก็เสนอเข้ามาได้เลย สาเหตุที่เรายังไม่เรียกร้องเพราะยังเป็นระยะเริ่มต้นที่ต่างฝ่ายต้องเรียนรู้และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ยังต้องพัฒนาอีกระยะหนึ่ง


กังวลไหมว่าข้อตกลงคุณธรรมจะถูกยกเลิกในวันข้างหน้า

 

ตอนนี้เราดีใจที่มีการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง แต่ในวันข้างหน้าถ้าคนที่มาเป็นรัฐบาลไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความร่วมมือ การดำเนินงานเหล่านี้จะทำยาก อุปสรรคจะมากขึ้น สิ่งที่ต้องการเห็นวันนี้ก็คือข้าราชการเข้าใจ ยอมรับ และเป็นฝ่ายเรียกร้องที่จะใช้ ประชาชนมีส่วนร่วมกดดันให้นักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ปฏิเสธไม่ได้ พลังสองส่วนนี้จะเป็นเกราะคุ้มกันให้มาตรการเพื่อความโปร่งใสอยู่ได้ตลอดไป

 

ระหว่างรอการมีรัฐบาลใหม่ คิดว่ารัฐบาล คสช. ควรหยุดการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตัดสินใจแทนไหม

 

ในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ อะไรที่ไม่เร่งด่วนก็ควรจะรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนตัดสินใจ

 
ในฐานะที่ทำงานร่วมกับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบหรือองค์กรใหม่ๆ ที่ถูกตั้งขึ้นในยุค คสช. มองว่า 5 ปีที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ขณะที่ประชาชนจะรู้สึกว่าองค์กรเหล่านี้ยังทำงานได้ไม่เต็มที่

 

ในรัฐบาลนี้มีการสร้างกลไกต่อต้านคอร์รัปชันใหม่ๆ ขึ้นมา แต่เป็นกลไกชั่วคราว 1.คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) 2.ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)

 

คตช. ปีแรกประชุมบ่อย แล้วก็น้อยลง พอปีที่ 3 ก็หายไปทั้งปี แล้วก็เงียบหายไป ไม่ฟังก์ชันอะไรแล้ว ส่วน ศอตช. ก็มีการทำงานบ้าง เล็กๆ น้อยๆ


ยังมีกลไกพิเศษอื่นๆ ของรัฐบาลซึ่งเริ่มต้นดูดี แต่สุดท้ายก็ปิดไป เช่น ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ แม้จะยังทำอยู่ แต่ไม่มีบทบาทหรือคำสั่ง ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์สักเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากลไกพิเศษจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของนายกรัฐมนตรีและคนมีอำนาจ ซึ่งเห็นแล้วว่าไม่ได้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่


ฉะนั้นสิ่งที่เราควรยกระดับให้เข้มแข็งคือโครงสร้างหลักในระบบราชการที่มีอยู่ นั่นคือ ป.ป.ช., สตง., ป.ป.ท. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน หน่วยงานพวกนี้ยังไงก็ต้องคงอยู่ แม้จะมีรัฐประหาร มีการเลือกตั้งกี่รัฐบาล แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับการใส่ใจพัฒนาเท่าที่ควร ยังมีข่าวการแทรกแซง การทำงานไม่เป็นอิสระ หรือขาดศักยภาพหลายอย่าง ซึ่งควรได้รับการปรับปรุงมากกว่านี้


คิดยังไงกับมุมมองที่ว่าการปราบทุจริตถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเล่นงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการตรวจสอบตัดสิน มีความเอนเอียงหรือกระตือรือร้นเฉพาะบางคดี

การคอร์รัปชันชัดเจนโดยตัวมันเอง ถ้าคุณชี้ได้ว่าเขาโกง ใช้อำนาจโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ที่ผ่านมาคนจะโต้เถียงว่าไม่ได้โกงแต่โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่เขาก็ไม่สามารถพิสูจน์เอาตัวรอดได้ว่าไม่ได้โกงเงินแผ่นดินหรือไม่ได้ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย ถ้าจะบอกว่าโดนกลั่นแกล้งทางการเมือง เขาก็ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พอกระบวนการยุติธรรมที่เอามาใช้กับเขามันขัดต่อหลักสากลหรือไม่มีธรรมาภิบาล ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้


ที่น่าเป็นห่วงคือคนจำนวนหนึ่งเอาเรื่องคอร์รัปชันมาผูกโยงกับการเมือง ตัวเองมีความผิดจริงแต่แก้ตัวให้ดูดีด้วยการบอกว่าโดนกลั่นแกล้ง ทั้งที่อาจจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าตัวเองไม่ได้โกง แต่ในอีกด้านหนึ่งพอจะเล่นงานคนอื่น แล้วไม่รู้ว่าจะทำลายความชอบธรรมหรือทำลายความดีของเขายังไง ก็พยายามสร้างเรื่องว่ามีการทุจริต แต่สุดท้ายเชื่อว่าความจริงจะปรากฏ แล้วประชาชนจะเห็นว่าอะไรเป็นความถูกต้อง

 

มีศาสตราจารย์จากญี่ปุ่นคนหนึ่งมาเปิดประเด็นนี้ไว้ แต่ถ้าคุณยอมให้วาทกรรมนี้เป็นใหญ่หรือมีอิทธิพลขึ้นมา การต่อสู้เรื่องคอร์รัปชันจะยากมาก

 

ผู้พูดเรื่องนี้คงไม่อยากให้มีการทุจริต แต่การปราบโกงหลายครั้งถูกทำให้กลายเป็นวาทกรรมสร้างความหวาดกลัวในฝ่ายหนึ่ง เช่น ข้ออ้างของการยึดอำนาจเพื่อขจัดสิ่งไม่ดี ทั้งที่การรัฐประหารเป็นการคอร์รัปชันเชิงอำนาจที่ใหญ่กว่า

 

ถูกต้อง ก็เหมือนที่ อ.ผาสุก เคยพูดไว้ว่า คุณจะรัฐประหาร จะเป็นผด็จการหรือจะเป็นประชาธิปไตย มันไม่ได้แปลว่าคอร์รัปชันจะน้อยลง ไม่ได้แปลว่าคุณจะต่อต้านคอร์รัปชันได้ดีขึ้น ไม่ใช่เลย

 

ผมจะให้ดูกราฟนี้ที่เอาข้อมูลมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่จัดอันดับประเทศไทย

พอเขาบอกว่ารัฐประหารแล้วคอร์รัปชันจะลดน้อยลง มันก็น้อยลงหนึ่งปี แต่ปีต่อๆ ไปก็จะแย่ลงไปอีก ปี 2549 มีรัฐประหาร อันดับก็ดีขึ้นหนึ่งปีแล้วก็หัวทิ่มลง พอปี 2557 คสช. รัฐประหาร อันดับก็ดีขึ้น 2 ปี หลังจากนั้นก็หัวทิ่มลงอีก ตรงนี้ถ้าเปลี่ยนจากคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นคำว่า ‘รัฐประหาร’ จะเห็นชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง

 

รัฐประหารปุ๊บดีขึ้นปีเดียวแล้วก็ตกลง เพราะไม่ถูกพัฒนาเชิงโครงสร้าง แล้วพอคุณสร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้ยืมนาฬิกาได้ หลานชายเปิดบริษัทในค่ายทหารไม่ผิด ซื้อไมโครโฟนทองคำ เรื่องอุทยานราชภักดิ์ คนพูดวนอยู่อย่างนี้ เพราะคุณกลับสร้างมาตรฐานใหม่ ไมโครโฟนทองคำบอกแค่เอามาทดลองแล้วถอดคืนก็จบ มีอย่างนี้ด้วยเหรอ

การพยายามดันพ.ร.บ.ความลับของทางราชการ ถ้ามีพ.ร.บ.นี้ นักข่าวสืบสวนสอบสวนจะแตะเรื่องคอร์รัปชันไม่ได้เลย ข้อมูลในเอกสารจะเอามาพูดไม่ได้ เอาความลับทางราชการมาเปิดเผยติดคุก 5 ปี โดยเขียนเพิ่มเติมว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจในเรื่องนี้

 

คิดยังไงที่มีคนบอกว่าการต้านโกงกลายเป็นวาทกรรมถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตย

 

อาจมีบ้างที่ถูกลากจนเป็นอย่างนั้น แต่เรื่องประโยชน์ของประเทศชาติคือความจริงที่ต้องพูดและต้องพิสูจน์ คนที่ตั้งใจทำสิ่งที่ถูกต้องก็ต้องช่วยกันอธิบาย

 

ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ สตง. มีอำนาจน้อยลงตามกฎหมายใหม่ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือจากเดิมในระหว่างดำเนินโครงการ ถ้าสตง.ตรวจพบว่ามีการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้อง สตง.สามารถแจ้งให้หยุดโครงการ แล้วให้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพื่อหยุดความเสียหาย แต่กฎหมายใหม่บอกว่า สตง.ทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องปล่อยให้ทำไปก่อนแล้วค่อยมาตรวจสอบ อะไรไม่ถูกต้องก็ไปฟ้องร้องเอาเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันก็จะมีนโยบายออกมาว่าให้ สตง. จำกัดการให้ข่าวให้น้อยลง ส่วน ป.ป.ช. ชุดนี้ไม่ต้องพูดถึง ชัดเจน


ถ้าให้ประเมินตัวเอง มองว่าการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมีอะไรเป็นจุดเด่นและยังมีอะไรต้องปรับปรุง

การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องยากและซับซ้อน เราทำคนเดียวไม่ได้ต้องทำงานเป็นเครือข่าย ที่ผ่านมาเราอาจจะทำงานร่วมกับคนอื่นไม่มากพอ หรืออาจจะไม่สามารถทำงานทุกอย่างตามที่ทุกคนคาดหวังได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง


เราจะพยายามสร้างความร่วมมือให้มากขึ้นและใช้ศักยภาพของเราสร้างเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ เช่น ตอนนี้เราให้ความสนใจกับการสร้าง ‘ACT Ai’ เป็นเสิร์ชเอนจินสำหรับการต้านโกง อยู่ระหว่างการทดลองใช้ เปิดให้คนที่สนใจเข้ามาค้นข้อมูลโดยระบบเอไอเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ต่อได้

 

ตอนนี้เชื่อมโยงได้แล้ว 3 หน่วยงาน คือ กรมบัญชีกลาง, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และป.ป.ช. ยกตัวอย่างถ้าอยากรู้ว่าปีที่แล้วประเทศไทยสร้างที่ทำการอบต.กี่แห่ง ก็พิมพ์เข้าไปแล้วสามารถดูได้ว่างบประมาณเท่าไหร่ ใครเป็นผู้รับเหมา ใครเป็นคู่เทียบ ระบบเชื่อมโยงไปที่กรมบัญชีกลางแล้วแสดงว่าผู้รับเหมาที่ได้งานมีใครเป็นกรรมการ แล้วคู่เทียบมีใครเป็นกรรมการ มีความเชื่อมโยงกันไหม ก็มีโอกาสที่จะเจอการฮั้ว


ข้อมูลในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ถ้าจะค้น อบต. 10 แห่ง ต้องเข้าระบบ 10 ครั้ง แล้วเซฟข้อมูลไม่ได้ แชร์ไม่ได้ ถ้าค้นผ่านเราจะเซฟได้แชร์ได้ ให้คำนวณเปรียบเทียบได้ แต่วันข้างหน้าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วเขาก็สั่งบล็อกเราได้ (หัวเราะ) เขาจึงต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือ


มีความฝันที่อยากไปไกลกว่านี้คือเชื่อมโยงระบบของธนาคาร เพราะผู้รับงานก่อสร้างงานภาครัฐต้องมีแบงก์การันตี ถ้าธนาคารให้ข้อมูลจะได้รู้ว่าเอาหลักทรัพย์อะไรมาใช้ในการยื่นประมูล

เคยเจอมาตลอดว่าเวลาฮั้วกัน คนที่จะได้งานเขาเอาโฉนดฉบับเดียวไปขอแบงก์การันตี 4 ใบมาแจกทุกคน ถ้ามีข้อมูลนี้ ป.ป.ช. ทำงานวันเดียว ไม่ต้องสอบสวนกันเป็นปีๆ ภาคประชาชนและสื่อมวลชนก็จะมีความเข้มแข็ง

 

ที่ผ่านมามีคนตั้งคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมืองขององค์กร คุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไง

 

เราเข้าใจ เราถูกถามตลอดเวลาในช่วงต่างๆ การพูดเรื่องโกงต้องแบ่งเป็น 2 อย่าง 1.เกิดขึ้นแล้วและตามไปลงโทษ 2.กำลังเกิดหรือกำลังจะเกิด


เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังจะเกิดหรือกำลังเกิดอยู่มากกว่า เพื่อหยุดยั้งความเสียหาย และเราให้ความสำคัญกับความตื่นตัวของประชาชนที่เป็นหัวใจของการต่อต้านคอร์รัปชัน การไล่จับคนผิดมาลงโทษต้องทำเมื่อเสียหายไปแล้ว แต่ไม่ใช่ทางป้องกันปัญหา ฉะนั้นเราต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ วันนี้ถ้ามัวเสียเวลานั่งพูดว่าเพื่อไทยโกง ประชาธิปัตย์โกง จะเกิดประโยชน์น้อย

 

ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน เรานั่งคุยกับคนที่มีอำนาจในปัจจุบัน ทั้งรัฐบาล หน่วยงานราชการ และป.ป.ช. ว่าช่วยออกมาตรการนี้ได้ไหม ช่วยออกนโยบายนี้ได้ไหม ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือก็จะเกิดประโยชน์


ตั้งแต่ทำองค์กรนี้มา มีสิ่งไหนที่รู้สึกว่าหนักใจที่สุด

 

ความไม่เข้าใจของผู้มีอำนาจว่าการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นสิ่งจำเป็น ต้องทำเพื่ออนาคตของประเทศ ถึงแม้ผู้มีอำนาจจะคิดดี แต่ถ้าไม่เข้าใจ มองว่าเป็นเรื่องก้าวก่าย แทรกแซงอำนาจ ทำให้หน่วยงานของเขาเสียประโยชน์ เขาก็จะปฏิเสธ เราเจอเรื่องแบบนี้เยอะมาก เป็นเรื่องที่หนักใจ ส่วนเรื่องความตื่นตัวและความเข้าใจของประชาชนเป็นเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไป

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันคืออะไร

ได้เข้าใจมากขึ้นว่าในระบบราชการมีข้าราชการที่ดีและเดือดร้อนเพราะคนโกงเยอะมาก และได้รู้ว่าอำนาจรัฐที่มีอยู่ตามกฎหมายสามารถถูกพลิกแพลงเอาไปใช้เพื่อส่วนรวมหรือส่วนตัวเมื่อไหร่ก็ได้ตลอดเวลา เมื่อก่อนมองโลกในแง่ดีมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่


อะไรเป็นโจทย์ใหญ่เรื่องคอร์รัปชันสำหรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ไม่อยากเห็นว่าทุกปีเวลาที่ประกาศค่า CPI ออกมาแล้วนายกรัฐมนตรีพูดว่า ไม่เป็นไร คะแนนเราลดไป 1 คะแนน หรือพูดว่าน่าดีใจคะแนนเราเพิ่มขึ้นมา 1 คะแนน แล้วออกคำสั่งขึงขังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งที่คะแนนของประเทศไทยก็ยังสอบตกมาตลอด และไม่มีท่าทีว่าจะสอบผ่านได้เลย


ฉะนั้นใครที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีขอให้ลงมือทำจริง ทำต่อเนื่อง ทำโดยไม่เลือกหน้าใคร แล้วความเชื่อมั่นจากประชาชนก็จะตามมา ความร่วมมือจากทุกคนก็จะเกิดขึ้น เมื่อนั้นปัญหาคอร์รัปชันของประเทศจะถูกแก้ไขได้

 

จาก : https://www.the101.world/mana-nimitmongkol-interview/

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw