ประเด็นร้อน
ดิวตี้ฟรีต้องโปร่งใส
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 22,2019
- -ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -
เต็มไปด้วยข้อกังขา สำหรับโครงการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ และร้านค้าปลอดภาษีอากร หรือดิวตี้ฟรี ภายในท่าอากาศยาน 4 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งจะหมดสัมปทานพร้อมกันปีหน้า
หลังจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. กำหนดแนวทางเปิดประมูลด้วยการคัดเลือกเอกชนรายเดียวเข้ามาบริหารร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินทั้ง 4 แห่ง เนื่องจากต้องรองรับความเสี่ยงขาดทุนในบางสนามบิน เพราะสัดส่วนรายได้หลักของดิวตี้ฟรีอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิสัดส่วนถึง 82% ของรายได้ทั้งหมด รองลงไปเป็นภูเก็ต 13% เชียงใหม่ 4-5% และหาดใหญ่แค่ 0.04%
สำหรับเกณฑ์ตัดสิน จะให้น้ำหนักคะแนนค่อนข้างมาก เรื่องผลประโยชน์ที่จ่ายให้รัฐ ดูการรับประกันรายได้ขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ว่ากลุ่มไหนเสนอมากสุด มีการเสนอส่วนแบ่งรายได้เพิ่มหากขายดี ช่วยเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ใช้เกณฑ์สูงเพื่อคัดเลือกเอกชนที่แข็งแกร่งที่สุดในการบริหารดิวตี้ฟรีภายในสนามบิน ต้องมีประสบการณ์และพันธมิตรทางการค้าที่แน่นอน เพื่อรองรับการบริโภคสินค้าปลอดภาษีที่นักท่องเที่ยว มีการเปรียบเทียบคุณภาพบริการและสินค้าดิวตี้ฟรีแต่ละประเทศ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิถูกกว่าสนามบินชางงีของสิงคโปร์ หรือมีของให้เลือกหลากหลายกว่าหรือไม่ โดยมองผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
หลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกเอกชนเข้าประมูลดิวตี้ฟรีดังกล่าว จึงเต็มไปด้วยคำถามว่า ทำไมถึงออกมาสวนทางกับความต้องการสังคมมาก ผลการศึกษาเพื่อกำหนดเกณฑ์ประมูลที่ใช้งบประมาณจ้างบริษัทที่ปรึกษาไปจำนวนมาก ผลออกมาอย่างไร ทำไมถึงเลือกแนวทางนี้แล้วคิดว่าสร้างประโยชน์ให้รัฐมากสุด ทำไมไม่เปิดข้อมูลการศึกษาให้สาธารณะทราบ
ที่สำคัญ แนวคิดที่บอกว่า ต้องสร้างเอกชนให้แข็งแกร่งออกไปแข่งกับต่างประเทศ จึงเลือกแนวทางให้ผู้ประกอบการรายเดียวบริหารทั้ง 4 สนามบิน สามารถนำกำไรจากสนามบินสุวรรณภูมิไปอุ้มสนามบินหาดใหญ่ที่ขาดทุน รวมทั้งถ้าเป็นรายใหญ่จะต่อรองจัดซื้อได้สินค้าราคาถูก คำถามคือหน่วยงานรัฐในฐานะผู้กำกับดูแลหรือเรกูเลเตอร์ให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด ไม่ได้รับเงินเดือนจากบริษัทเอกชน แต่ทำไมต้องเลือกแนวทางประมูลที่ช่วยสร้างให้เอกชนแข็งแกร่ง หรือมีผู้กุมอำนาจหรือ สิ่งอื่นสั่งให้ต้องเอื้อให้เอกชนแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการกำหนดแนวทางการประมูลดิวตี้ฟรีมีการเลื่อนข้อสรุปมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นระบุว่าต้องเร่งประมูล เพื่อจะให้ผู้ชนะหากเป็นรายใหม่ได้มีเวลาเตรียมตัว เช่น การสั่งสินค้า เพราะสินค้าแฟชั่นต่างประเทศหลายประเภท ต้องจองล่วงหน้าเป็นปีตามคอลเลกชั่นที่จะออกแต่ละฤดูกาล จากนั้นก็เลื่อนด้วยเหตุผลต่างๆ ข้ามมาถึงปี 2562 เมื่อ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ประกาศใช้ ก็ประกาศขายซองประกวดราคาบริหาร ดิวตี้ฟรีเร่งด่วนวันที่ 19 มี.ค.ก่อนจะโดนนายกรัฐมนตรีเบรกและเสียงค้าน จนล่าสุดต้องเลื่อนการขายซองออกไป
นี่เป็นเพียงบางส่วนของข้อกังขาการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ ต้องมีวาระซ่อนเร้น ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยผลศึกษาทำไมถึงเลือกผู้ชนะรายเดียว และต้องชี้แจงหน้าที่ของเรกูเลเตอร์ทำไมต้องทำให้เอกชนแข็งแกร่ง ใครให้นโยบาย ซึ่งถ้าเอกชนแข็งแกร่งจริงก็ต้องไปแข่งกับต่างประเทศได้ เพราะรัฐคงไม่สามารถไปอุปถัมภ์ได้ทุกประเทศแน่ งานนี้จึงต้องโปร่งใส
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน