ประเด็นร้อน

'บิ๊กตู่'สั่งเบรกประมูลดิวตี้ฟรี เคลียร์ปมผูดขาด-กม.ร่วมทุน

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 18,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ - -

 

ประมูลดิวตี้ฟรีส่อโมฆะ รัฐบาลสั่งถอย เร่งเคลียร์เผือกร้อนผูกขาด ชี้มีข้อท้วงติงจากหลายภาคส่วน สคร. แนะบอร์ด "ทอท." ทบทวนอีกรอบ รอสางปม-ความชัดเจน พ.ร.บ.ร่วมทุน'62 ทอท.ไม่หวั่นเดินหน้าตามไทม์ไลน์เดิม เปิดขายซองทีโออาร์ 19 มีนานี้แน่นอน ยันกิจการที่เปิดประมูล ไม่เข้าเกณฑ์ PPP "นิตินัย" ยังลุ้นแจงรายละเอียดก่อนขายซองวันเดียว

 

จากกรณีที่รัฐบาลได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และร้านค้าปลอดภาษีอากร หรือดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, ชียงใหม่ และหาดใหญ่ ที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. เลือกใช้โมเดลเปิดประมูลแบบสัญญาเดียว หรือ master concession และรวบสัญญาดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่งเป็นสัญญาเดียวนั้นเป็นการผูกขาด พร้อมทั้งให้คณะกรรมการ ทอท. และผู้บริหาร ทอท. ชะลอและกลับไปพิจารณาทบทวนแนวทางการประมูลดังกล่าวอีกครั้งนั้น

 

คมนาคมสั่งเบรกทั้ง 2 โปรเจ็กต์

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบิน 4 แห่ง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ และการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ทางพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางคมนาคมจึงได้เชิญคณะผู้บริหารของ ทอท.หารือร่วมกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ให้ ทอท.ชะลอการเปิดประมูลทั้ง 2 โครงการออกไปก่อน

 

โดยมี 2 เหตุผล คือ 1.การประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์มีข้อท้วงติงจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการให้เอกชนเพียงรายเดียวบริหารพื้นที่ 4 สนามบิน แบบสัญญาเดียว จึงให้ ทอท.ไปทบทวนรูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนทั้ง 2 โครงการและจุดส่งมอบสินค้า (pick-up counter) ใหม่ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของหลายภาคส่วน และชี้แจงรายละเอียดในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม

 

และ 2.ทั้ง 2 โครงการยังไม่มีความชัดเจนจะเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ โดย ทอท.จะต้องทำหนังสือไปสอบถามกับกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล พ.ร.บ.ร่วมทุนโดยตรง

 

เนื่องจากในมาตรา 7 (3) ระบุว่า กิจการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ เป็น 1 ในกิจการที่เข้าข่ายต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน และในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ระบุให้รวม "กิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็น" จะต้องรอคณะกรรมการ PPP ออกประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกิจการที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งให้ ทอท.ไปกำหนดและทำข้อเสนอกลับมา เพื่อที่กระทรวงคมนาคมจะได้ส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาตรวจสอบตามลำดับ

 

"ระหว่างนี้ให้บอร์ด ทอท.ไปพิจารณาว่าจะบริหารจัดการในระหว่างที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานอย่างไร ส่วนกรอบเวลาก็ให้บอร์ด ทอท.ไปวางแผนกำหนดไทม์ไลน์มาว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ นานเท่าไหร่ และขอยืนยันว่ากระทรวงมีอำนาจที่จะเข้าไปควบคุมดูแลได้ แม้ ทอท.จะอ้างว่าเป็นเรื่องภายในก็ตาม" นายอาคมกล่าวย้ำ

 

รอบอร์ด PPP เคาะ

 

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระบวนการร่างหลักเกณฑ์ "เงื่อนไขกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็น" ยังอยู่ระหว่างการยกร่าง ซึ่งความคิดเห็นยังแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากิจการดิวตี้ฟรีและเชิงพาณิชย์ไม่ใช่กิจการจำเป็น แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าเป็นกิจการจำเป็น ซึ่ง สคร.กำลังรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ อยู่

 

ขั้นตอนจะต้องให้ สคร.เสนอร่างประกาศดังกล่าวให้ บอร์ด PPP ให้ความเห็นชอบ จากนั้น สคร.จะเป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และออกประกาศใช้ต่อไป

 

ส่วนท่าทีของ ทอท.ที่ออกมาระบุว่า การประมูลทั้ง 2 ส่วนไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวขององค์กร หากประกาศดังกล่าวระบุให้กิจการดิวตี้ฟรีและการค้าเชิงพาณิชย์เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็น แล้ว ทอท.ดำเนินการประมูลหาเอกชนไปก่อน จะถือว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นโมฆะ ต้องเริ่มกระบวนการทุกอย่างใหม่ทันที

 

ทอท.ยันเดินหน้าไทม์ไลน์เดิม

 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทอท.ได้กลับมาพิจารณาทบทวนข้อทักท้วงดังกล่าวแล้ว มั่นว่าได้ดำเนินการทำทุกอย่างตามกระบวนการอย่างถูกต้อง เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับสังคมน้อยเกินไป ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมให้มากยิ่งขึ้น ทาง ทอท.จึงมีแผนเปิดแถลงข่าวอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะเปิดขายซองทีโออาร์วันแรก คือ วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2562

 

ทั้งนี้ ทอท.จะยังคงเดินหน้าจัดประมูลตามแผนงานเดิมที่วางไว้ คือ เปิดขายซองทีโออาร์ในวันที่ 19 มีนาคม-1 เมษายน 2562 เข้ารับฟังคำชี้แจงในวันที่ 2 เมษายน ยื่นข้อเสนอในวันที่ 30 เมษายน และเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดวันที่ 10 พฤษภาคม 2562

 

นายนิตินัยกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทอท.เข้าใจว่าประเด็นการจัดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ดิวตี้ฟรีครั้งนี้ไม่ต้องเข้าพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากตามมาตรา 7 ที่ได้ระบุรายการว่ามีกิจการอะไรบ้างที่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน และระบุชัดเจนว่า กิจการตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย

 

ยันไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน

 

จากข้อความข้างต้น ทำให้ ทอท.เข้าใจว่าไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะกิจกรรมที่เราดำเนินการประมูลนั้นไม่เข้าข่าย โดยมองว่าหากไม่มีร้านค้า หรือดิวตี้ฟรีในสนามบิน เครื่องบินก็ยังสามารถขึ้นลงได้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.ก็บอกชัดว่า ถ้า ทอท.เข้าใจเช่นนี้ก็ให้ดำเนินการต่อได้

 

"ถ้าตามข่าวมาอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่า เราชะลอการประกาศทีโออาร์มาเป็นระยะ เหตุผลที่ชะลอก็คือว่าคนโน้นบอกว่าควรเป็นแบบนี้ คนนี้บอกว่าควรเป็นแบบโน้น ซึ่งเราก็ต้องหยุดฟังไว้ก่อน แล้วไปถามที่ปรึกษาและให้ที่ปรึกษาไปหาคำตอบ ซึ่งเราพยายามจะหาคำตอบในทุก ๆ คำถามมาตลอด ล่าสุดเมื่อรัฐบาลบอกว่าให้ชะลอนิดหนึ่ง เพราะยังมีกระแสไม่เห็นด้วยอยู่ ทอท.พิจารณาหรือยัง ผมก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ขอย้ำว่ารัฐบาลเขาไม่ได้เบรก" นายนิตินัยกล่าว

 

พร้อมย้ำว่า การรวบ 4 สนามบินไว้เป็น 1 สัญญานั้น ไม่ได้เป็นการผูกขาดแต่อย่างใด เนื่องจากบอร์ดอนุมัติให้รวมสัญญาได้ภายใต้เงื่อนไขเปิด pick-up counter เสรี ซึ่งหมายว่า อุตสาหกรรมดิวตี้ฟรีของไทยได้เปิดเสรี และไม่มีการผูกขาดแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายสามารถลงทุนดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีได้เหมือนกันหมด เพียงแต่ว่ารายไหนจะเปิดให้บริการอยู่ในพื้นที่ไหนเท่านั้นเอง

 

แถลงชี้แจงสังคม 18 มีนานี้

 

ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ทอท. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. แถลงข่าวชี้แจงวันที่ 18 มี.ค. ทำความเข้าใจถึงรูปแบบที่ ทอท.ดำเนินการ ซึ่งปัญหาความไม่เข้าใจอาจจะเกิดจากการอ่อนการชี้แจงประชาสัมพันธ์ ในการให้ข้อมูล โดยยืนยันว่า 4-5 ปีที่ผ่าน ทอท.นำข้อคิดเห็น ประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และให้ที่ปรึกษาศึกษาอย่างรอบคอบแล้วก่อนที่จะเปิดประมูล ดังนั้นการเปิดประมูลยังคงเดินหน้าตามปกติไม่มีการยกเลิก

 

ส่วนต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 หรือไม่ ในเรื่องดิวตี้ฟรี และเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่เข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามเพราะไม่ได้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน 11 ประเภทที่ระบุ เพราะไม่มีร้านค้า ร้านขายของ สนามบินยังสามารถให้บริการ เครื่องบินขึ้นลงได้

 

กรณีสัญญาดิวตี้ฟรี 1 ราย ได้สิทธิ์บริหาร 4 สนามบินเป็นการผูกขาดนั้น นายประสงค์กล่าวว่า สนามบิน 4 แห่ง มี 3 แห่งที่ขาดทุน เป็นรูปแบบที่ต้องการนำรายได้จากสนามบินสุวรรณภูมิไปช่วยอีก 3 แห่ง เช่น สนามบินหาดใหญ่ มียอดขายวันละ 2 แสนบาทเท่านั้น หากแยกประมูลแต่ละสนามบิน ไม่จูงใจเอกชนแน่นอน อีกทั้งสินค้าแบรนด์จะไม่เข้ามา สุดท้าย ทอท.เสียประโยชน์ และปัจจุบันกิจการดิวตี้ฟรีสามารถดำเนินการที่ใดก็ได้ ซึ่ง ทอท.จะเปิดประมูลเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีทุกรายขายสินค้าแล้วรับได้ที่สนามบิน

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw