ประเด็นร้อน

แพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ คานงัดต้านโกงประเทศไทย ที่ไม่ทำไม่ได้แล้ว

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 06,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Open Government Partnership ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศทั่วโลก ต่างนำแนวทางในการสร้างรัฐบาลที่เปิดมานำเสนอด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งคำว่ารัฐบาลที่เปิดนี้หมายถึงการเปิดทั้งข้อมูลสาธารณะ และ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อการบริหารประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล ลดการคอร์รัปชัน นี่จึงเป็นการเปิดหูเปิดตา ผมอย่างมากว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาพัฒนากันก้าวไกลไปกันมากแค่ไหนแล้ว แม้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่เท่าประเทศไทยอย่างประเทศมองโกเลียที่มี GDP เพียง 11.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับประเทศไทยที่ประมาณ 455 พันล้านเหรีญสหรัฐ เขายังมีการวางระบบการสร้างรัฐบาลที่เปิดแล้วเลย

 

ผมจำภาพที่ตัวแทนจากมองโกเลียนำเสนอได้ติดตาว่าเขาแสดงรูปทุ่งหญ้าฮูลันบูเออร์ที่เขียวขจีสุดลูกหูลูกตา แล้วมีโรงเรียนแห่งหนึ่งอยู่กลางทุ่งนั้น เดิมโรงเรียนแห่งนี้อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมอย่างมาก ทำให้ครูและนักเรียนเรียนหนังสือกันอย่างยากลำบาก เหตุผลสำคัญมาจากการที่โรงเรียนนี้อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่รับทราบสภาพที่เป็นอยู่ แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รัฐบาลนำมาใช้สร้างเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อรับฟังข้อมูลจากประชาชนที่อยู่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูที่โรงเรียนจึงส่งรูปภาพและข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การปรับปรุงสภาพโรงเรียนอย่างรวดเร็ว

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือประเทศจอร์เจีย ที่มีการนำแพลตฟอร์มในลักษณะนี้มาใช้เช่นกัน โดยจอร์เจียใช้ในการตรวจสอบการก่อสร้างโรงเรียนว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ และมีคุณภาพตามที่ระบุได้หรือไม่ ที่น่าสนใจมากคือ เขาไม่ได้ใช้วิศวกรหรือช่างก่อสร้างในการตรวจสอบนะครับ เขาบอกว่าคนที่จะสนใจตรวจสอบการสร้างโรงเรียนที่สุดและมีเวลาว่างมากที่สุดคือผู้ปกครองนี่ล่ะ และไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการก่อสร้างเลยก็ตรวจสอบได้ เพราะแพลตฟอร์มนี้จะมีวิศวกรคอยช่วยให้คำแนะนำอยู่ ให้คุณพ่อคุณแม่ที่ไปส่งลูกแล้ว เดินไปถ่ายรูปจุดนั้นจุดนี้ แล้วส่งไปให้วิศวกรดู ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตั้งแต่เริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้ ทุกโรงเรียน สร้างตึกเรียนเสร็จก่อนกำหนดทั้งหมด และผลพลอยได้คือสามารถตรวจจับและป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างได้ด้วย

 

ทุกวันนี้มีกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ใช้แพลตฟอร์มลักษณะนี้เพื่อสร้างรัฐบาลที่เปิด และสามารถป้องกันการคอร์รัปชันได้จริง ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ใช้กันเกือบครบแล้ว เช่น LAPOR! ของประเทศอินโดนีเซีย Check my school ของประเทศฟิลิปปินส์ Danang citizen app ของประเทศเวียดนาม ที่เปิดให้ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือเปิดโปงการคอร์รัปชันด้วยตนเอง โดยไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อความปลอดภัยในการร้องเรียน นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระดับการคอร์รัปชันในหลายประเทศเหล่านี้ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

กลับมามองที่ประเทศไทย เราเองก็มีเครื่องมือลักษณะคล้ายๆ กันแบบนี้อยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาขึ้นมาของหน่วยงานภาครัฐเอง ซึ่งทำให้ต้องตั้งอยู่บนหลักการทำงานของรัฐบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการร้องเรียน เช่น ต้องใส่เลขประจำตัวประชาชน ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนกับพลเมืองดีเหล่านี้ นี่จึงนำมาซึ่งโครงการทดลอง 2 โครงการ ในปีที่แล้ว โดยภาคประชาสังคมที่ประสบ ความสำเร็จอย่างมาก โครงการแรกคือ "สังคมดี๊ดี...สองนาทีง่ายๆ" โดยแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่นำ QR Code ไปติดที่หน่วยงานราชการเพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นต่อการบริการของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าสามารถเพิ่มความเห็นได้จากเดิมที่หน่วยงานทำเองเพียงปีละ 15 ความเห็น เป็น 2,800 ความเห็นภายในเดือนเดียว ซึ่งจำนวนที่มากนี้ทำให้การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นได้ยากขึ้นด้วย อีกโครงการหนึ่งคือ ต้องแฉ โดย ACT ร่วมกับสำนักข่าวอิศราและภาคีอีกหลากหลาย เปิดให้ประชาชนร่วมส่งข้อมูลเกี่ยวกับ การทุจริตมาที่ Facebook page ก่อนจะนำข้อมูลนั้นมากลั่นกรอง สืบหาข้อมูลเพิ่มเติม และเผยแพร่สู่สาธารณะ จนทำให้มีผู้มา Like ถึง 20,000 คน ภายในเวลาอันรวดเร็ว ได้รับข้อมูลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจริงหลายกรณี

 

เมื่อนำความสำเร็จของโครงการทดลองทั้งสองโครงการ มาวิเคราะห์ก็จะพบว่ามีปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญเหมือนกันอยู่ 3 ประการ ได้แก่ การปกปิดตัวตนของผู้ให้ข้อมูล การเก็บผลข้อมูลโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่เชื่อถือได้ และการเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะ ด้วยปัจจัยทั้ง 3 ข้อนี้จึงทำให้ประชาชนไว้ใจที่จะส่งข้อมูลมาและเชื่อว่าเสียงเล็กๆของตัวเองนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้จริง

 

จากบทเรียนในต่างประเทศ ผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง และสรุปวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จนี้ จึงนำมาสู่การสร้างแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ในปีนี้ ที่จะรวมเอาคลังข้อมูลสาธารณะขนาดใหญ่มาสู่ประชาชน เพื่อติดอาวุธข้อมูลให้พลเมืองดี ที่ต้องการจะให้ข้อคิดเห็นหรือร้องเรียนต่อหน่วยงาน รัฐ เมื่อประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสร้างถนนแล้ว ก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่าที่ถนนพังน่าจะเป็นเพราะการทุจริตหรือจริงๆเพียงแค่ใช้งานมานานจนชำรุดแล้วเท่านั้น ทำให้การร้องเรียนมีน้ำหนักและความถูกต้องชัดเจนมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้ก็จะสามารถจำแนกแยกแยะข้อคิดเห็นและข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว ส่งคำแนะนำในการจัดการกับปัญหาเบื้องต้น และส่งข้อมูลนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐที่มีหน้าที่จัดการดูแล องค์กรภาคประชาสังคมที่จะติดตามตรวจสอบ และสื่อที่จะสืบสาวราวเรื่องเพื่อเผยแพร่ความจริงสู่สาธารณะ เป็นการผลักดันให้ผู้รับผิดชอบต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว และดำเนินการตรวจสอบหากมีเกี่ยวข้องกับการทุจริต เมื่อผนวกเข้ากับข้อมูลของดัชนีชี้วัดสถานการณ์คอร์รัปชันไทย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ชี้ว่าคนไทยกว่าร้อยละ 98 ไม่ทนต่อการคอร์รัปชันและพร้อมจะลงมือสู้โกงแล้ว แพลตฟอร์มนี้ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้คนไทยที่ตื่นรู้สู้โกงจำนวนมากนี้ได้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

แพลตฟอร์มที่กล่าวถึงนี้เกิดจากความพยายามผลักดัน ของหลายองค์กรที่เข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยอย่างแท้จริงและรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งจากภาคประชาสังคม เช่น ACT และกองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรม ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และภาควิชาการ เช่น ศูนย์ SIAM lab ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากองค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐหลายหน่วย เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. และ กรมบัญชีกลาง

 

เมื่อทั้งงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ผลความสำเร็จจริงในหลายประเทศทั่วโลกและจากโครงการทดลองในไทยเอง ต่างชี้มาอย่างชัดเจนแล้วว่าคานงัดที่สำคัญในการต่อต้าน คอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับประเทศไทยก็คือ แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ได้กับความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชน ก็ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันลงมือสร้างอาวุธนี้ให้กับคนไทยที่ตื่นรู้ พร้อมสู้โกงแล้วได้ใช้ป้องกันประเทศจากโรคร้ายนี้แล้วล่ะครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw