ประเด็นร้อน
กลไกตรวจสอบ ต้องเข้มแข็ง
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 26,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สยามรัฐ - -
โดย บทบรรณาธิการสยามรัฐ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านร่างพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว สาระสำคัญคือการให้เอกชนไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้า และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ได้ลดการกำกับดูแลโรงงานจากภาครัฐลง ด้วยการยกเลิกการต่อใบอนุญาต จากเดิมที่ต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี โดยให้ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรับรองตนเอง
ที่สำคัญยังแก้ไขคำนิยาม "โรงงาน" จากเดิมที่กำหนดให้หมายถึงกิจการที่มีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือ แรงงาน 7 คนขึ้นไป ให้สูงขึ้นเป็นเครื่องจักร 50 แรงม้าหรือแรงงาน 50 คนขึ้นไป ส่งผลให้กว่าครึ่งของโรงงานจากทั้งหมดทั่วประเทศ จะหลุดออกจากนิยามการเป็นโรงงานที่ต้องได้รับการควบคุมตาม พ.ร.บ.โรงงาน
กฎหมายดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เนื่องจากที่ผ่านมาขั้นตอนการยื่นขอต่อใบอนุญาตมีเงื่อนไขยุ่งยาก ซับซ้อน มักจะเป็นทางให้เกิดการเรียกรับสินบน และส่งผลกระทบในทางลบตามมาอีกมาก การลดขั้นตอนและปรับปรุงการให้บริการของรัฐให้โปร่งใสเช่นนี้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอ และเป็นแบบอย่างของการปฏิรูประบบราชการอย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน มีข้อท้วงติงจากภาคประชาชน โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) ที่เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงจะเป็นสาเหตุ สำคัญที่ทำให้แหล่งกำเนิดของมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 กระจายออกไปโดยขาดการควบคุมที่รัดกุม ซึ่งจะนำไปสู่การลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง โดยระบุข้อห่วงใย 5 ข้อ
คือ 1. การแก้ไขนิยาม "โรงงาน" และ "ตั้งโรงงาน" ทำให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็น"โรงงาน"จะทำให้โรงงานจำนวนมากจะไม่อยู่ภายใต้การ กำกับของกฎหมายโรงงานอีกต่อไป โดยที่โรงงานดังกล่าวอาจจะเป็นโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนในชุมชน
2. การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานในทุกกรณีตามมาตรา 14 และมาตรา 15 ทำให้ใบอนุญาตไม่มีวันหมดอายุและไม่มีการต่ออายุ มีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรม จนไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน โดยการยกเลิกดังกล่าวจะส่งผลต่อระบบและกลไกการตรวจสอบโรงงานในจังหวะหรือห้วงเวลาที่เหมาะสมและต่อเนื่องว่าได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือไม่อย่างไร
3. การลดทอนการควบคุมโดยรัฐ จะทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระในระยะยาวจากปัญหาการปนเปื้อนมลพิษและความขัดแย้งกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเพียงลำพัง เวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับความขัดแย้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งเสียกำลังและเสียโอกาสในการขยายธุรกิจ และปริมาณการผลิตที่ได้ก็อาจล่าช้าลง
4. มีการแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการประกันภัย หรือหลักประกัน หรือกองทุนเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อการฟื้นฟู หรือเพื่อการทำให้พื้นที่ตั้งโรงงาน ทั้งที่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
5. บทลงโทษสำหรับการกระทำผิดตามร่าง พ.ร.บ.ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ราชการไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายท้องที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อบัญญัติและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่
จากข้อกังวลดังกล่าว ได้ยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. โรงงานฯเอาไว้ก่อนแต่ไม่เป็นผล
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายประกาศบังคับใช้แล้วแม้จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชัน แต่ฟันเฟืองในกลไกการตรวจสอบจะต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้นเพื่อดูแลประชาชน เนื่องจากในอดีตส่วนราชการและผู้ประกอบการบางรายมักทำตัวเป็น "ศรีธนญชัย" เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน ทำลายผลผลิตทางการเกษตร และที่สำคัญคือสุขภาพของประชาชน ถือเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน