ประเด็นร้อน
ปราบนโยบายเชิงทุจริต
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 18,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -
คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย : โดย ลม เปลี่ยนทิศ
ไม่น่าเชื่อนะครับ พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งกันในเวลานี้ ไม่มีพรรคไหนมี "นโยบายปราบคอร์รัปชัน" ที่ชัดเจนแม้แต่พรรคเดียว ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ รวมทั้ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีก็เขียนไว้สั้นๆ แต่ไม่มีรายละเอียด
แสดงว่า พรรคการเมืองไทยไม่สนใจปราบคอร์รัปชัน กันเลย หรือ จ้องอยู่ก็ไม่รู้
ตรงกันข้ามทุกพรรคกลับเสนอ "นโยบายประชานิยม" ที่ "แจกแหลก" ตั้งแต่ เด็กที่เพิ่งปฏิสนธิในครรภ์มารดาได้เพียงวันเดียวจนถึงอายุ 6-8 ขวบ ไปจนถึง คนยากจนพืชผลเกษตรที่ "ง่ายต่อการทุจริตคอร์รัปชันทุกขั้นตอน" อย่างที่เป็นข่าวมาแล้วทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนปราบจริงจัง เช่น คดีทุจริตเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์คดีค้างมาจนเน่าเปื่อยไปแล้ว ยังจับมือใครดมไม่ได้ทั้งๆ ที่ชื่อก็มี วันนี้มีข่าวว่า การบินไทย จะซื้อ เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ มาใช้กับฝูงบินใหม่มูลค่านับแสนล้านบาทอีกแล้ว
งบประมาณ ที่มาจากภาษีของประชาชน เป็นเหยื่อโอชะ ของนักการเมืองทุกสมัย
วันก่อน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ที่ไม่ร่วมพิจารณาคดี "นาฬิกาหรู" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหม เพราะเป็นนายเก่า ไปพูดเปิดอบรมนักศึกษา "หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง" ของสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า "การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หากนักการเมืองคนใดไม่มีการแสดงเจตจำนงทางการเมือง ในการต่อต้านทุจริตอย่างจริงจังก็ไม่ควรเลือกนักการเมืองคนนั้น"
เป็นคำพูดที่ฟังดูแรง แต่จะจริงจังหรือไม่ ผมไม่ทราบ เพราะการให้ "นักการเมืองเป็นรายบุคคล" ประกาศเจตจำนงต่อต้านคอร์รัปชันมันยิบย่อยเกินไป ประชาชนติดตามข่าวได้ยาก ถ้าจะให้ได้ผลจริงจัง ต้องบังคับให้ทุกพรรค ประกาศเป็น "นโยบายหลักของพรรคการเมือง" ที่สำคัญ ป.ป.ช.เองก็ต้องปราบคอร์รัปชันจริงจังด้วย ต้องจับปลาใหญ่บ้าง ไม่ใช่เป็นเพื่อนหรือนายเก่าแล้วไม่พิจารณาด้วย แม้จะมีสิทธิก็ตาม
พล.ต.อ.วัชรพล ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ปลายปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีการจัดตั้ง "สำนักงานเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต" เพื่อทำหน้าที่มอนิเตอร์ค่าคะแนนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้ ค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ในสายตาโลกดีขึ้น พล.ต.อ.วัชรพล ยังอ้างอิง ดัชนี CSI มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าปี2555-2556 ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองเฉลี่ย 25-35% ปี 2557 ลดลงมาเหลือเฉลี่ย 5-15% ปี 2558-2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 1 -15% และปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% (แสดงว่าการทุจริตคอร์รัปชันกลับมาเพิ่มขึ้น) ถ้าเราลดการจ่ายเงินใต้โต๊ะได้ 1% จะประหยัดงบประมาณได้ถึง 10,000 ล้านบาท
5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเปิดประมูลเมกะ โปรเจกต์หลายล้านล้านบาท และ กำลังเร่งประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งอีกนับล้านล้านบาท ไม่รู้จ่ายเงินใต้โต๊ะไปแล้วกี่แสนล้านบาทฟังแล้วก็สงสารคนไทย สงสารประเทศไทยเต็มที่
เมื่อวันศุกร์ คุณวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจประธาน ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือ "หลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย" และ "คู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย" ไปให้คุณอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ใช้เป็นคู่มือในการดูนโยบายพรรคการเมืองว่า เข้าข่ายเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในอนาคต หรือไม่บรรทัดฐานนี้ ผมขอชม ป.ป.ช.ว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ ควรกำหนดโทษด้วย
พรรคการเมืองที่ชอบ ทำโครงการใหญ่เพื่อหวังทุจริตเชิงนโยบาย และ นโยบายประชานิยม ที่ เอาภาษีประชาชนไปแจกแบบวัดครึ่ง กรรมการครึ่ง จะได้ค่อยๆหมดไปเสียที บ้านเมืองจะได้เจริญเต็มที่เงินทุกเม็ดจะได้นำไปพัฒนาประเทศในทุกด้านเพื่อคนไทยทุกคนไม่ใช่นักการเมือง กับ นายทุน รวยกันอยู่สองคน
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน