ประเด็นร้อน
อมตะแป๊ะเจี๊ยะ
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 14,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -
คอลัมน์ เหนี่ยวไก : โดยมะกะโรนี
ช่วงใกล้เวลาเปิดรับนักเรียนใหม่ของโรงเรียนในสังกัดต่างๆ ทั่วประเทศ ยังคงเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนและผู้ปกครองมากมายหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะต้องรอลุ้นกับเรื่องนี้โดยเฉพาะเมื่อวางเป้าหมายอยู่ที่โรงเรียนดังหรือโรงเรียนในกลุ่มที่เรียกว่าโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงที่กลายเป็นสนามวัดความสามารถของนักเรียน
ก่อนหน้านี้ เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์นักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ไม่ได้สิทธิพิเศษเข้าเรียนในโรงเรียนที่วาดหวังไว้ ก็ยังต้องอยู่ในวงจรชีวิตที่ต้องเรียนกวดวิชาทุกวันหลังเลิกเรียน วันหยุดเรียน มุมานะอย่างหนักมาตลอดทั้งปี เพื่อใช้พลังความสามารถอย่างเต็มที่ไว้สู้ในสนามสอบ
หากสอบไม่ติด ก็ลำบากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องวิ่งหาช่องทางเส้นทางอื่น
แป๊ะเจี๊ยะ นั้นมีสถานะเป็นเหมือนสิ่งลี้ลับในแวดวงการศึกษา ไม่มีใครยืนยันตัวตนได้ แต่ใครที่ไหนจะกล้าฟันธงว่าไม่มีอยู่จริง เพราะรู้กันว่าเป็นเรื่องที่ยังมีอยู่ในแวดวงการศึกษาได้ เพราะได้รับพลังจากความยินยอมพร้อมใจจากสองฝ่าย คือโรงเรียนและผู้ปกครอง
ปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาขันนอตเรื่องนี้อีกครั้ง ด้วยการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำข้อเสนอหลายด้าน เช่น พิจารณาดำเนินการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณโดยปรับปรุงระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว หาช่องทาง ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี เพื่อสนับสนุนการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ไม่เน้นแค่โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง แต่ต้องพุ่งไปที่โรงเรียนที่ขาดแคลนหรือด้อยโอกาสห่างไกลความเจริญ หรือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรในด้านต่างๆ ให้ได้รับสิทธิทางด้านภาษีเปิดช่องให้เอกชนบริจาคสิ่งของและวัสดุอุปกรณ์แทนเงินสด เห็นควรให้ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนการเสียภาษีได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังข้อเสนอให้ สพฐ.ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษเพราะมองว่าเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ และหันไปสร้างระบบการสอบคัดเลือกที่ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ให้ความสำคัญกับเรื่องนักเรียนในเขตพื้นที่บริการให้เด็กได้ศึกษาต่อยังสถานศึกษาใกล้บ้าน
แนวคิดที่กล่าวมา ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหม่และในภาพใหญ่จริงๆ ของมาตรการนั้นได้ข้อสรุปในทำนองว่า ที่ว่ามานั้น ยังไม่ใช่หลักประกันว่าจะหยุดยั้งหรือฝังกลบแป๊ะเจี๊ยะได้ เรื่องนี้จะจบลงได้ต้องทำให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
แต่ความคิดดังกล่าว ถือเป็นอุดมคติขั้นสูงสุด ซึ่งเราทั้งหลายคงทราบดีและรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ว่าจะยุคไหนผ่านไปกี่ปี ก็ไม่มีใครทำให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพได้ในเวลาอันสั้น
ให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านเป็นแนวคิดที่ฟังดูดีนะครับ แต่กรณีที่โชคดี ข้างบ้านมีโรงเรียนดี ไม่ได้เกิดกับทุกคน ผู้ปกครองหลายคน คงจะสำรวจโรงเรียนใกล้บ้านกันมาบ้างแล้ว บางแห่งทั้งสภาพโรงเรียน ครู เพื่อนร่วมชั้น ทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจได้ทันทีว่าควรส่งลูกซึ่งเป็นเสมือนหัวแก้วหัวแหวนเข้าเรียนหรือไม่
ไม่แปลกหรอกครับ ที่แม้จะรังเกียจและทราบดีว่าแป๊ะเจี๊ยะคือ ภัยร้ายที่คอยบ่อนไส้การศึกษาไทยอย่างที่สุด แต่ผู้ปกครองทั้งหลายยังเลือกเป็นที่พึ่งพา เพราะเห็นตรงกันว่าอนาคตของลูกนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ช่วงวัยเรียนคือช่วงชี้เป็นตาย ทุกองคาพยพของโรงเรียนนั้นมีอำนาจมีพลัง สามารถบ่มเพาะโลกใบใหม่หรือแทบทุกสิ่งให้เด็กได้เลยทีเดียว
หากผู้มีอำนาจด้านการศึกษาคนไหนเถียงเรื่องนี้และบอกว่า เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ให้ลองถามกลับไปดูว่า "แล้วลูกท่านล่ะ เรียน ที่ไหน"
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน