ประเด็นร้อน
3 องค์กร ชวนติดแฮชแท็ก #ไม่เอาพาราควอต_คลอร์ไพริฟอส_และไกลโฟเสต
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 30,-1
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -
3 องค์กรชี้ชัด คกก.วัตถุอันตราย วินิจฉัย 14 ก.พ.นี้ ขอตัดสินโปร่งใส คกก.มีผลประโยชน์ทับซ้อนต้องแสดงตัว และถอนตัวออกจากการลงคะแนน ชวนประชาชนติดแฮชแท็ก #ไม่เอาพาราควอต_คลอร์ไพริฟอส_และไกลโฟเสตวันที่ 12 ก.พ. เวลาเที่ยงตรง
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดงานแถลง เรื่อง “จับตา คกก.วัตถุอันตรายตัดสินชะตาไทยจะก้าวพ้นการเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ยังใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อชีวิตพลเมืองหรือไม่” ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลง
นายวิฑูรย์ กล่าวถึงพิษความรุนแรงของพาราควอต มีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ คือ พาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูงมาก การกินเพียงจิบเดียวก็ถึงแก่ชีวิตได้ โดยไม่มียาถอนพิษ ยังก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และเป็นผลที่มีต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกรด้วย ยังมีผลไปต่อมนุษย์ทุกคนที่จะเกิดมาในประเทศนี้ด้วย
"จากงานวิจัย พบว่าเด็กเกิดมาส่วนใหญ่ใน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ มีสารพาราควอตในอุจจาระของเด็กแรกเกิด เราปล่อยให้ประเทศนี้ปนเปื้อนสารพิษ ที่เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับพาราควอต เรายอมได้อย่างไร”
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีองค์กรและคณะกรรมการที่มีคำวินิจฉัยยกเลิกการใช้สารพาราควอต คือ กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม 700 องค์กร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจนบัดนี้ยังไม่สำเร็จ ซึ่งจะยกเลิกการใช้สารพาราควอตหรือไม่นั้นต้องรอมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินชะตากรรมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 62 ที่จะถึงนี้
ขณะที่ดร.มานะ กล่าวว่า คนที่ใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทำไมถึงไม่ตัดสินใจ หรือไม่ทำอะไรในสิ่งที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เราเห็นข้อมูลว่า มีหลายประเทศจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ได้ยกเลิกหรือแบนการใช้สารเคมีพาราควอตแล้ว แต่ประเทศไทยกลับปล่อยให้มีคนเจ็บ คนตายไปเรื่อยๆ แล้วก็มาคอยโต้แย้งว่า เหตุผลไม่เพียงพอ หลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะไปยกเลิก หวั่นผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยไม่เอาเรื่องชีวิตของคนเป็นตัวตั้ง
"เพราะฉะนั้นเรามาเห็นชีวิตของคนไทยมีค่าดีกว่าหรือไม่ โดยการยกเลิก ยุติการใช้สารเคมีตัวนี้ก่อน จนกว่าคนขายเองจะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าพาราควอตไม่มีพิษภัย"
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงความคาดหวังต่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 62 ว่า คณะกรรมการทุกท่านที่มาจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จะรวบรวมข้อมูลเหตุผลที่เป็นประโยชน์กับคนไทย เราอยากเห็นการลงมติคะแนนในการประชุมครั้งนี้ เป็นไปอย่างโปร่งใส ขอให้มีการลงคะแนนอย่างเปิดเผยว่าใครเห็นชอบอย่างไร ใครเห็นควรให้ทบทวน ควรปรากฏตัวออกมาให้ชัดเจน
"อีกประการหนึ่งคือ ในคณะกรรมการชุดนี้มีข้อครหาอย่างต่อเนื่องว่า มีบางท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไปเกี่ยวข้องภาคธุรกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเพื่อผลประโยชน์ของสังคมและความชัดเจน ขอให้คณะกรรมการท่านได้ก็แล้วแต่ที่คิดว่าตนเองอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเรื่องนี้ ได้โปรดแสดงตัว และขอให้ถอนตัวออกมาจากการลงคะแนน อย่าให้มีการตรวจสอบไปพบเจอในภายหลัง ซึ่งอาจสร้างปัญหาหนักขึ้นไปอีก"
สุดท้ายนางสาวสารี กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย คือให้การลงมติเป็นไปโดยเปิดเผย กรรมการต้องตัดสินอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ว่าใครมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ สถานะควรที่จะตรวจสอบได้ ประเด็นต่อมาคือ ขอให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมี สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ แต่ไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะถือว่ามีผลประโยชน์ชัดเจน
"เราอยากเห็นว่าประธานที่ทำหน้าที่ในที่ประชุมมีการจัดการเรื่องนี้เป็นอย่างดี"
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลชัดเจนเรื่องนี้จะสามารถยกเลิกการใช้สารพาราควอตได้อย่างแน่นอน ซึ่งปัญหาตอนนี้อยู่ที่การตัดสินใจหน่วยงานมากมายของประเทศไทย ว่าควรจะตัดสินใจทำอย่างไรกับสารเคมีกลุ่มนี้ เราคิดว่าประชาชนสามารถเป็นพลังเสียงสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ต้องการสารพาราควอต
พร้อมกันนี้ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันส่งพลังเสียงผ่านโซเชียล ติดแฮชแท็ก (#ไม่เอาพาราควอต_คลอร์ไพริฟอส_และไกลโฟเสต) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 12.00 น. เพื่อให้สื่อสารไปถึงกรรมการจากหน่วยงานรัฐทั้ง 19 คนได้ ได้แก่ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาสมอ. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม เลขาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมขนส่งทางบก อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาอย. อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน