ประเด็นร้อน
'โกงกระจาย' เหตุ 'สังคมไทย' ไร้เสรีภาพตรวจสอบ
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 22,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก - -
โดย ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น
เมื่อสภาพการเมืองไทยถูกสังคมตีโจทย์ให้ "ติดลบ" เพราะภาพ "การทุจริต คอร์รัปชั่น" ไม่ว่า จะเกิดจากภาพใหญ่ ภายใต้การบริหารราชการ แผ่นดินของ "รัฐบาล" ซึ่งส่งต่อถึงหน่วยย่อย คือ "หน่วยงานราชการ-กลไกของรัฐ"
คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ "การเมืองจะกู้ภาพ ปรับให้เป็นบวก" ได้อย่างไร และยิ่งในภาวะเปลี่ยนผ่าน ด้วยกระบวนการ "เลือกตั้ง" สิ่งที่สังคมคาดหวังมากที่สุด ผ่านผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนัก จึงหนีไม่พ้น การได้ "ผู้นำการเมือง-ผู้นำรัฐบาล" ที่ดี เข้ามาบริหารบ้านเมือง และเป็นหลักของการกำจัดกลไกที่แก้ปัญหาทุจริตได้
ก่อนจะถึง "วันเลือกตั้ง" ที่เป็นกลไกนำไปสู่การได้ผู้นำที่ดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบาย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต : วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 3" เพื่อถกถึงแนวทาง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ผ่านมุมสะท้อนของความคิด จาก 3 นักวิชาการ
บรรยง พงษ์พานิช
ประธานกรรมการบริหาร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
"ผมแน่ใจว่า การคอร์รัปชัน ในยุครัฐบาล "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ไม่ลดลง เช่นเดียวกับรัฐบาลยุคที่ผ่านมา การคอร์รัปชั่นไม่ลดลงเช่นกัน และผมเชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง คอร์รัปชันไม่ลดลงจากปัจจุบันที่เป็นอยู่"
เหตุผลที่ "โกง" ไม่ลดลง ระบบการโกงขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจ ผ่านกลไกพวกพ้อง การเอื้อให้โกง จากระเบียบของรัฐที่เปิดช่อง, เปิดช่องให้ "เอกชน" ซื้อหรือจ่ายเงินเพื่อแลกกับความได้เปรียบจากการเข้าประมูลงานหน่วยงานรัฐ
ขณะเดียวกันกระบวนการคอร์รัปชันในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และปรับรูปแบบจากเดิมมีโครงการก่อนโกง กลายเป็น คิดกระบวนการโกงก่อน แล้วจึงตั้งโครงการ เช่น โครงการเรือเหาะ, ซื้อรถถังที่ตกรุ่น ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่มีกลุ่มที่ต้องการขายสินค้า กรณีดังกล่าวถือว่าสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศอย่างสูง
ส่วนแนวทางแก้ไข เชื่อว่าใช้แนวทางปลูกฝังคุณธรรม-จริยธรรม ไม่มีทางทำได้ ยกเว้นการเปลี่ยน "ทัศนคติและมุมมองของประชาชน" ที่คำนึงถึง ผลเสียหายที่เกิดกับตัวเอง เมื่อมีการโกงเกิดขึ้นแต่ละครั้ง
วันชัย จันติวิทยาพิทักษ์
บรรณาธิการที่ปรกษานิตยสารสารคดี
"การตรวจสอบคือ กลไกสูงสุดของการขจัดคอร์รัปชัน ที่ผ่านมาในบรรยากาศของบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย องค์กรอิสระ, สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมมีบทบาทสูง เกิดการตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่ปัจจุบันบทบาทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทั้ง 6 แห่ง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งเลือก แม้องค์กรอิสระตรวจสอบดูเหมือนมีการตรวจสอบฝ่ายการเมือง แต่ไม่ครอบคลุมทุกฝ่าย เหมือนกับว่าถูกแทรกแซง ผมถือว่าเป็นความฉลาดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน"
สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ "ประเด็นการตรวจสอบทุจริต" ที่ขาดประสิทธิภาพนั้น "วันชัย" ตั้งข้อสังเกตโดยยกเหตุของการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลดและให้ข้าราชการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถึง 403 คน เพราะสงสัยว่า "จะทุจริต"
นอกจากนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าการทุจริตจะแก้ไขได้หลังการรัฐประหาร แต่สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นและสังคมทราบได้ คือ แนวโน้มไม่ได้ลดลง
ขณะที่บทบาทของ "สื่อมวลชน" ถูกจำกัด ภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 ห้ามทำหน้าที่รายงานข้อมูล ที่เป็นเท็จ กระทบความมั่นคง ด้วยคำนิยามที่ตีความได้กว้างขวาง ทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานภายใต้ความปลอดภัยต่อสถานภาพของตนเอง เพราะไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาล หรือถูกหน่วยงานรัฐที่กำกับการทำหน้าที่ เรียกไปชี้แจงกรณีนำเสนอข่าวที่กระทบผู้มีอำนาจ
ดังนั้นในภาวะที่ "สังคมที่ไร้เสรีภาพด้านการตรวจสอบ" ทำให้อัตราการเกิดทุจริต คอร์รัปชันในประเทศไม่ลดลง
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"คอร์รัปชัน มีความสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ ในภาวะที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่จังหวะของการต่อสู้คอร์รัปชั่นที่ดี แต่หากให้ประชาธิปไตยทำงาน จะทำให้การตรวจสอบทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองจะร่วมตรวจสอบกันเอง"
ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ แม้จะบริหารผ่านรัฐบาลพรรคเดียว หรืออำนาจนิยม แต่ดัชนีคอร์รัปชั่นมีน้อย เนื่องจากรัฐบาลหรือพรรครัฐบาล ไม่ปล่อยให้เกิดคอร์รัปชั่นขึ้น เพราะจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ที่จะสะเทือนถึงการกลับคืนสู่อำนาจ หลังการเลือกตั้ง ที่ให้ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจว่า จะเลือกเข้าทำหน้าที่ในสมัยต่อไปหรือไม่
ขณะที่ระบบราชการของสิงคโปร์ มีประสิทธิภาพ วางระบบตรวจสอบภายในที่ดี ดังนั้นหากประเทศไทยจะทำให้เหมือนประเทศสิงคโปร์ นอกจากจะใช้การแก้ปัญหาทุจริตให้ได้แล้ว ต้องปรับระบบราชการด้วย
"สังคมไทย กับการแก้คอร์รัปชั่นต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ได้ ก่อนออกแบบกลไกการเมืองหรือกฎหมายเพื่อแก้คอร์รัปชั่น ไม่ใช่เชื่อว่าการมีรัฐบาลที่มีอำนาจเท่านั้นจะเป็นช่องทางการลดคอร์รัปชั่น เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่าผู้มีอำนาจที่ทุบโต๊ะแก้คอร์รัปชั่น ผลลัพธ์คือการปกป้องพวกพ้องของตนเองเท่านั้น"
ขณะที่หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ "อ.ประจักษ์" ชี้ว่า ต้องส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย การตรวจสอบต้องแบบมีส่วนร่วม ขณะที่ ภาครัฐต้องมีกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และยอมรับต่อการตรวจสอบ ขณะที่การขับเคลื่อนขององค์กรที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องขับเคลื่อนทั้งประเด็น ความเป็นประชาธิปไตย-ต้านคอร์รัปชั่น เพื่อให้เกิดพลังร่วม ไม่ใช่ขับเคลื่อนเรื่องต้านคอร์รัปชัน แต่กลับไม่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย
"แนวทางปลูกฝัง คุณธรรม-จริยธรรม ไม่มีทางแก้โกงได้ ยกเว้นการเปลี่ยน 'ทัศนคติและมุมมองของประชาชน' ที่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดกับตัวเอง เมื่อมีการโกงเกิดขึ้นแต่ละครั้ง"
บรรยง พงษ์พานิช
"ในภาวะที่ 'สังคมไร้เสรีภาพด้านการตรวจสอบ' ทำให้อัตราการเกิด ทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไม่ลดลง"
วันชัย จันติวิทยาพิทักษ์
"หากให้ประชาธิปไตยทำงาน จะทำให้การตรวจสอบทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองจะร่วมตรวจสอบกันเอง"
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน