บทความ

ส่วยรถบรรทุก หายนะจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 19,2018

 


ส่วยรถบรรทุก หายนะจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม


ปัจจุบันมีรถบรรทุกสิบล้อ หกล้อ รถลากพ่วงที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมากกว่า 1,096,765 ล้านคัน (มค. 2561) ไม่รวมรถกะบะและรถตู้ โดยประเมินว่าครึ่งหนึ่งของรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนหรือราว 5 แสนคัน เลือกที่จะบรรทุกน้ำหนักเกินแลกกับการจ่ายส่วย - สินบน เฉลี่ยคันละ 3,500 บาทต่อเดือนให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนรถแล้วจะมีมูลค่ามากถึง 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี


หน่วยงานที่มีอำนาจจับกุมลงโทษรถที่ทำผิดกฎหมายมีตั้งแต่ตำรวจทางหลวง ตำรวจท้องที่ กรมทางหลวงผู้ดูแลด่านชั่งน้ำหนัก กรมการขนส่งทางบก อบต. เทศบาล และอัยการจังหวัดเมื่อมีการจับยึดรถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่ปรากฎว่ามีขบวนการของข้าราชการละโมภบางคนไปเรียกรับส่วย – สินบน ส่งผลให้มีรถบรรทุกกล้าทำผิดออกวิ่งให้เห็นตำตาอยู่ทุกวัน แม้จะรู้ดีว่านี่คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติร้ายแรง คนตาย สะพานพังถนนชำรุดและมลภาวะจากฝุ่นควัน


รถ “สายแบก” หรือรถที่ชอบบรรทุกน้ำหนักเกินจะพบมากในจังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐมและสุพรรณบุรี อาจเป็นเพราะมีโรงงาน มีสินค้าให้ขนส่งอยู่มากและอยู่ใกล้ กทม. โดยเป็นที่รู้กัน “กทม. เป็นพื้นที่ที่เคลียร์ง่ายที่สุด” และไม่มีด่านชั่งน้ำหนักของกรมการขนส่งฯ เคลียร์แค่จราจรกลางและท้องที่ก็จบแล้ว แถมพวกนี้ยังกล้ารับเคลียร์


ถ้าใครโดนยึดรถเพราะบรรทุกน้ำหนักเกินจะต้องจ่าย 3 หมื่นบาทเพื่อให้ “เขา” สั่งปล่อยรถออกไปใช้วิ่งหากิน ส่วนคดีความก็ว่ากันต่อไป โดยทุกจังหวัดจะมีพฤติกรรมเหมือนกันคือ หากช่วงไหนมีการร้องเรียนมากๆ หรือมีเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวใหญ่ ก็จะมีการจับรถที่ทำผิดแต่เป็นการจับพอให้มีผลงาน เลือกจับเฉพาะพวกขาจรหรือนอกเครือข่าย


ส่วย - สินบนมีทั้งที่จ่ายตรงให้กับคนที่อ้างตัวเป็นข้าราชการ จ่ายผู้มีอิทธิพลแลกกับสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถเป็นสัญลักษณ์ และจ่ายให้เครือข่ายสายข่าวที่มีการช่วยเหลือกันตลอดเวลา เช่น เมื่อไหร่ด่านไหนจะเปิดจุดให้ผ่านหรือด่านจะปิดทำการในวันนั้นช่วงกี่โมงถึงกี่โมง


เมื่อถามว่า ทำไมต้องบรรทุกเกินทั้งๆ ที่รู้ดีว่าอันตรายและทำให้รถพังเร็ว คำตอบคืออยากได้กำไรมากๆ และทำเพื่อความอยู่รอดเพราะเกรงว่าหากตนไม่ทำคนอื่นก็ทำ อีกทั้งยังมีแรงจูงใจและกดดันจากคนจ้างงานหรือเจ้าของสินค้าที่เห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ กดราคาค่าขนส่งและสนับสนุนให้คนทำผิดโดยที่ตนไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่จะตามมา


รถบรรทุกยังมีอีกหลายกรณีที่ถือเป็นความผิด 1) ความผิดของเจ้าของรถบรรทุกเอง เช่น ดัดแปลงรถ ควันดำ ขาดต่อทะเบียน ใช้รถผิดประเภท 2) พฤติกรรมการใช้รถ เช่น บรรทุกของล้นนอกตัวรถอย่างกรณีรถบรรทุกอ้อย ขนดินหกเรี่ยราด และ 3) พฤติกรรมคนขับ เช่น เสพยาบ้า ดื่มสุรา ขับเร็ว ขับแช่ช่องขวา ขับประมาทไม่รักษากฎจราจร เป็นต้น


ข้อมูลสำคัญนี้ผมได้ฟังตอนไปบรรยายในการประชุมใหญ่ประจำปีของ “สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย” เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาที่ผ่านมาในหัวข้อ “ฮั้วไม่จ่ายใต้โต๊ะ” โดยผู้จัดงานขอให้เน้นเรื่องนี้มากๆ เพราะเขากำลังรณรงค์ “โครงการรถบรรทุกสีขาว” ให้ผู้ประกอบการหันมาจับมือกันต่อต้านการรีดไถของเจ้าหน้าที่และร่วมกันทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและคนร่วมอาชีพ


กติกาที่ไม่เป็นธรรมทำให้ประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการและเอกชนบางกลุ่มอยู่เหนือสาธารณะประโยชน์ จนเกิดความขัดแย้งในสังคมที่น่าเศร้าน่ารังเกียจ แต่ก็น่าดีใจและมีความหวังเมื่อได้เห็นความตั้งใจของสมาคมฯ ขอให้ภาระกิจที่ใหญ่และยากนี้ประสบความสำเร็จหรืออย่างน้อยทำให้คนขี้โกงโดนจับมากๆ และส่วย – สินบนลดลงสักครึ่งครับ

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw