ประเด็นร้อน

เราจะเริ่มใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร?

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 30,-1

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ลงมือสู้โกง : โดย สุภอรรถ โบสุวรรณ

 

เราจะเริ่มใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร?เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนางานหนึ่ง ได้รู้จักกับคำหนึ่งคำคือคำว่า “VUCA” ซึ่งเป็นคำย่อของ Volatility (ความผันผวน) Uncertainty (ความไม่แน่นอน)Complexity (ความสลับซับซ้อน) Ambiguity (ความคลุมเครือ) สภาวะทั้ง 4 ได้ถูกนำมาอธิบายสภาพแวดล้อมสังคมในปัจจุบันที่มีความผันผวนไม่แน่นอนสูง คาดการณ์ได้ยาก มีความหลากหลายสลับซับซ้อนมากมาย และความคลุมเครือไม่ชัดเจนของปัจจัยต่างๆ การรับมือกับสภาวะดังกล่าวจำต้องอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลจำนวนมาก

 

 

ในปัจจุบันทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาคธุรกิจ ภาคราชการ ภาคการศึกษา และภาคการทำงานเพื่อสังคมก็เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ผมเองเวลาไปที่ไหนๆ ก็จะได้เห็น ได้ยินคนพูดถึงศัพท์ในวงการเทคโนโลยีอย่างเช่น Big data analytics, Blockchain, AI (Artificial Intelligence), BI (Business Intelligence) ซึ่งในต่างประเทศเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนหลายภาคส่วนแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเมือง

 

ขณะที่ภาคส่วนที่ทำงานด้านแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยก็มีความต้องการในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเก็บข้อมูล การสร้างฐานข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การสื่อสาร ยังไม่รวมไปถึงความสามารถในการทำนายผลคาดการณ์ล่วงหน้า และการแก้ปัญหาโดยอัตโนมัติซึ่งสามารถนำมาพัฒนาธรรมาภิบาลและส่งเสริมงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันได้อีกมาก ผมเองได้มีโอกาสร่วมประชุมกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านประเด็นปัญหาคอร์รัปชัน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่บ่อยครั้ง ทุกครั้งก็จะได้ยินบทสนทนาที่ว่าเทคโนโลยีทำอะไรได้บ้าง คนจากภาคเทคโนโลยีก็จะตอบว่าในทางเทคนิคแล้วออกแบบให้ได้หมด ขอเพียงให้ผู้ที่ทราบประเด็นนั้นๆ ช่วยกำหนดโจทย์ให้ และต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพียงเท่านั้น การออกแบบเป็นหน้าที่ของมนุษย์อย่างเราๆ นี่แหละครับ จึงเป็นความท้าทายว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไรดี

 

จากความท้าทายที่กล่าวมา จึงได้ลองรวบรวมกรอบคิดหรือวิธีการตั้งโจทย์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในช่วงเริ่มต้นการออกแบบหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังนี้ครับ

 

1) การใช้เทคโนโลยีพัฒนางานในเชิงประเด็น สามารถเริ่มโดยการเลือกประเด็นที่สนใจ และมีความรู้เกี่ยวกับด้านนั้นๆ เช่น เรื่องสินบนระหว่างภาคราชการกับภาคธุรกิจที่ส่วนมากมีแรงจูงใจจากการซื้อความรวดเร็ว ความสะดวก ซื้อความผิดให้กลายเป็นถูก ซื้อโอกาสทางธุรกิจ จึงอาจสามารถตั้งโจทย์ในการลดสินบนได้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนากระบวนงานราชการให้มีความรวดเร็ว ความสะดวก การพิจารณาความจำเป็นของกฎระเบียบข้อบังคับ และเสริมสร้างการแข่งขันอย่างเท่าเทียมด้วยการใช้เทคโนโลยี ตัวอย่างความสำเร็จในการเพิ่มความรวดเร็ว และความสะดวกของราชการ เช่น การทำหนังสือเดินทาง การเลื่อนล้อต่อภาษีรถยนต์ และในช่วงนี้ก็ได้ยินว่าหน่วยงานราชการก็จะไม่ขอสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน ทั้งหมดนี้จะเกิดไม่ได้หากข้อมูลไม่ได้ถูกเชื่อมต่อด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

2) การใช้เทคโนโลยีกระทบกับตัวแปรที่สำคัญในสมการคอร์รัปชัน จากแนวคิดสมการคอร์รัปชันของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ว่า C=M+D-A หรือ Corruption (คอร์รัปชัน) เท่ากับ Monopoly (การผูกขาด) บวกด้วย Discretion (การใช้ดุลยพินิจ) ลบกับ Accountability (กลไกความรับผิดชอบ) สามารถเป็นการตั้งโจทย์ได้ว่า จะทำอย่างจะสามารถลดการผูกขาด ลดการใช้ดุลยพินิจ และเพิ่มกลไกความรับผิดชอบในพื้นที่ที่เราจะแก้ปัญหาได้

 

3) การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยพลังทางสังคมในการป้องกันและแก้ไข โจทย์ที่ท้าทายคือจะออกแบบเทคโนโลยีอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และจะมีส่วนร่วมในการทำอะไรบ้าง ที่สำคัญต้องนึกถึงความถนัด ทรัพยากรและความหลากหลายที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดตอนนี้ เช่น ต้องแฉ หรือ เพจ Mustshare ที่ปัจจุบันใช้ Facebook เป็น platform ประเภท crowdsourcing และยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เทใจ (taejai.com) และ Socialgiver (th.socialgiver.com)

 

4) การใช้เทคโนโลยีสร้างเสริมธรรมาภิบาล หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักตั้งต้นที่สำคัญที่จะสามารถป้องกันการเกิดคอร์รัปชันได้ ดังที่กล่าวมา 3 ข้อที่ผ่านมาล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักธรรมาภิบาลทั้งสิ้น แต่ยังมีหลักธรรมาภิบาลอีกข้อที่สำคัญและลืมไปไม่ได้ คือ หลักการเปิดเผย โปร่งใส (Transparency) โดยที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนได้เกิดโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative หรือ CoST) ซึ่ง ณ ปัจจุบันใช้ facebook เป็น platform เปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างของภาครัฐซึ่งสามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/CoSTThailand ส่วนในภาคราชการสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หรือ เดิมคือ สํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่อง open data อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็น data.go.th ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของราชการ govspending.data.go.th ที่รวบรวมข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ดีการเปิดเผยโปร่งใสที่ควรทำคือข้อมูลการประเมินคุณภาพของแต่ละหน่วยงานราชการที่มีการประเมินกันอยู่ทุกปี โดยน่าจะมี platform ที่รวบรวมข้อมูลและแสดงผลไว้เหมือนกับระบบ Citizen Feedback ที่ภาคเอกชนได้พัฒนาโครงการนำร่องไปเมื่อปีที่ผ่านมา โจทย์ที่สำคัญก็คือเมื่อชุดข้อมูลถูกเปิดเผยออกมาแล้ว เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวให้เกิดประโยชน์อย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ นั้นอาจทำให้เราเห็นความผิดปกติที่สามารถนำไปสู่การพบเรื่องคอร์รัปชันได้

 

5) การใช้เทคโนโลยีพัฒนางานด้านอื่นๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน การแก้ไขปัญหาในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โจทย์ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น จะเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการยุติธรรมในด้านต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างไร จะลดค่าใช้จ่ายในการขยายผลโครงการต่อต้านคอร์รัปชันในทั่วประเทศได้อย่างไร จะใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการวัดประเมินผลโครงการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างไร จะปลูกฝังความรู้เรื่องคอร์รัปชันให้กับเยาวชนทั้งประเทศได้อย่างไรภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากร ฯลฯ ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการปลูกฝังความรู้เรื่องคอร์รัปชันคือ เกม เดอะ คอร์รัป ที่พัฒนาโดยบริษัทโอเพ่นดรีม ซึ่งมีเปิดให้เล่นฟรีในระบบ iOS และ Android ในโทรศัพท์มือถือและระบบ Steam ในคอมพิวเตอร์ อีกหนึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการทำงานที่น่าสนใจก็คือ การเรียนและการทดสอบในรูปแบบ e-learning ซึ่งโครงการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ได้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรับรองบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง

 

จากที่กล่าวมาทั้ง 5 กรอบแนวคิดนั้น เป็นเพียงข้อสังเกตความเป็นไปได้เท่านั้น ผู้ออกแบบการนำเทคโนโลยีมาใช้จริงให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบริบทของสภาพแวดล้อมและการรับรู้และตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายของเทคโนโลยีนั้น ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์ได้จากการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw