ประเด็นร้อน

ทุจริตศึกษา, สุจริตวิทยา

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 02,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

คอลัมน์ กาแฟดำ : โดย สุทธิชัย หยุ่น

 

คำนี้ผมเพิ่งจะได้ยินเมื่อไม่นานมานี้ ฟังครั้งแรกก็แปลกหู เข้าใจว่าเป็นการเรียนรู้วิธีทุจริตหรืออย่างไร แต่ถ้าในความหมายนั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาเรียก "ทุจริตวิทยา" กระมังพอพลิกไปคิดอีกด้านก็เกิดคำถามว่า ควรจะมีสิ่งที่เรียกว่า "สุจริตศึกษา" หรือ "สุจริตวิทยา" เคียงคู่กันไปหรือไม่

 

เพราะผมเห็นว่าหากเราจะให้สังคมร่วมกันต่อสู้กับการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง ต้องศึกษาเรียนรู้และ "รู้เท่าทัน" เรื่องทุจริตด้วยการเอาความสุจริตเข้ากวาดล้างความชั่วร้ายของความคดโกงในทุกระดับ

 

แปลว่าเราต้องเจาะลึกถึงเรื่องทุจริตด้วยการเอาพลังสุจริตเข้าต่อต้านและสร้างสังคมใหม่อย่างจริงจังต่อเนื่องและไม่ยอมถอย ไม่ยอมเลิกรา

ภาษาทางการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (2560-2564) เรียกปฏิบัติการนี้ว่า

 

"สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต"ที่อาจจะมาจากวลีฝรั่งว่า zero-tolerance แปลตรงตัวว่า "ความอดทนเป็นศูนย์" ต่อความชั่วร้ายที่โยงใยไปถึงคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ

การสร้างสังคมต่อต้านคนโกงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเพิ่งรู้ความจนถึงแก่เฒ่า

ทำให้ผมคิดถึงคำว่า "สังคมคนสูงวัยต้านสังคมคนคดโกง"!ต้องไม่ลืมว่าถ้าให้เด็กไทยโตมาพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่เห็นการโกงกินเป็นเรื่องปกติหรือแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือผลประโยชน์ส่วนตนและอะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวม ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดพลังเพียงพอที่จะต้านกระแสแห่งความคดโกงได้

 

หนึ่งในผลที่คาดหวังจากการรณรงค์รอบใหม่คือการสร้างความสามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต STRONG อันหมายถึง "จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต รู้หน้าที่ของพลเมืองและรับผิดชอบต่อสังคม"

ทัศนคติในบางส่วนของสังคมไทยที่น่ากังวลไม่น้อยก็คือความเชื่อที่ว่าพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบนั้นยอมรับได้หากการกระทำนั้นๆ เป็นประโยชน์กับตนหรือกลุ่มของตน

และหากเด็กไทยยังต้องการให้พ่อแม่ของตน "วิ่งเต้น" เพื่อให้สามารถเข้าโรงเรียนดังๆ หรือเล่นเส้นสายเพื่อให้ตัวเองได้เข้าทำงานในองค์กรบางแห่ง นั่นก็ย่อมเป็นการตอกย้ำว่า

"ค่านิยมแห่งอภิสิทธิ์ชน" ได้ครอบงำสังคมไทยอย่างเหนียวหนึบ ซึ่งเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมทุจริตอย่างชัดเจน

 

อีกทั้งยังจะต้องอบรมสั่งสอนเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" หรือ Conflict of Interests (CoI) อย่างรอบด้านลุ่มลึก โดยสามารถยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่กลาดเกลื่อนในเกือบทุกสาขาวิชาชีพให้ได้เห็นกันชัดๆ

 

สิ่งที่เรียกว่า "ทุจริตศึกษา" จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เด็กเข้าเรียนหนังสือ เพราะ "วัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต" ไม่อาจเกิดได้หากมีการปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ตั้งแต่วัยเด็ก

หรือหากบรรยากาศประจำวันในครอบครัวโอนเอียงไปในทาง "โกงเล็กโกงน้อยไม่เห็นเป็นไร" ความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่ที่มีความโปร่งใสและยุติธรรมก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

ผมเห็นเอกสารที่อธิบายหลักสูตร "ทุจริตศึกษา" หรือ AntiCorruption Education แล้ว ก็พอจะเห็นเค้าลางของความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่สำหรับสังคมไทย

นั่นคือการปลูกฝังความพอเพียง วินัย ซื่อสัตย์สุจริต โดยดำเนินการผ่านสถาบันหรือกลุ่มตัวแทนที่ทำหน้าที่สร้างคนสำหรับทุกวงการ

เอกสารนี้กำหนดกลยุทธ์ไว้ 4 ขั้นตอนคือปรับฐานความคิดทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม

ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต

ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต

เสริมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน (community) และบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต

 

การจะดำเนินให้เกิดผลทางปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่ว่านี้จะต้องทำหลักสูตร บทเรียน การเรียนการสอน การนำเสนอ และรูปแบบป้องกันการทุจริต รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและสื่อการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย

 

พูดง่ายๆ คือจะต้องเอาเรื่องการต่อต้านทุจริตเข้าห้องเรียนและเข้าสู่กลุ่มคนที่อาจจะอ่อนไหวต่อความยั่วยวนของการเสนอผลตอบแทนเพื่อแลกกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในบางเรื่องบางจังหวะ

 

เขาแยกหลักสูตรออกเป็น 5 กลุ่มสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน, หลักสูตรอุดมศึกษา, หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ, หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. และบุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกับหลักสูตรโค้ช

 

ความริเริ่มเรื่อง "ทุจริตศึกษา" เป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจ  ปัญหาอยู่ที่ว่า พลัง "ทุจริตศึกษา" ต่อต้านการโกงในอนาคตจะสู้กระแสวัฒนธรรม "กินตามน้ำ" และ "โกงจนเป็นนิสัย" กับ "แตะที่ไหนโกงที่นั่น" ของวันนี้ได้มากน้อยเพียงใด?

 

ท้ายที่สุด หลักสูตร "ทุจริตศึกษา" จะได้ผลดั่งที่ตั้งเป้าหรือไม่ ย่อมจะต้องขึ้นอยู่ที่ว่า

 

"ความอดทนต่อทุจริตเป็นศูนย์" จะนำไปสู่ "ความสำเร็จเต็มร้อย" หรือไม่?.

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw