ประเด็นร้อน

กรรมการปราบโกงแห่งชาติ (คตช.) กับ ภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 02,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2561 ได้มี คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2561 มีผลให้ยุบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. ทั้งชุดในทันที มีการ คาดหมายว่าจะทำให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายต่อตระกูล ยมนาค ตัวผมเองด้วย

 

แต่เวลาก็ได้ล่วงเลยมากว่า 6 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาทำงานที่ค้างไว้ หรือ ติดตามรายงานภารกิจที่ดำเนินการแล้ว แต่ยังมีปัญหาในขั้นการปฏิบัติการอยู่ งานเหล่านี้ยังต้องการการสนับสนุน ผลักดัน จากนายกรัฐมนตรี เพื่อให้งานสำคัญเพื่อการต่อต้านการทุจริตของชาติเหล่านี้ไม่สูญเปล่าไป

 

ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อสรุปงานสำคัญๆ ที่รัฐบาลนี้ หรือ รัฐบาลที่จะมีขึ้นในอนาคต ตลอดจนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้รับรู้และสนับสนุนการดำเนินการต่อไปได้ แม้จะไม่มีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติอีกต่อไปแล้วก็ตาม

 

เรื่องแรกคือการนำแนวคิด ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติ มิชอบ ซึ่งผู้บริหารประเทศสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้โดยใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ วินัยข้าราชการที่มีอยู่ใช้เป็นเครื่องมือได้ แม้จะไม่มีอำนาจพิเศษ ของ คสช. คงเหลืออยู่แล้วก็ตาม นั่นก็คือการสั่งการต่อเนื่องให้ทุกภาคส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันการทุจริตออกมาใช้อย่างจริงจัง และให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการร่วมเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และกำชับหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยว่าหากปล่อยปละละเลย รัฐบาลจะถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาอย่างจริงจัง คำสั่งนี้มีอายุครบ 4 ปีแล้ว แต่ยังมีหน่วยราชการจำนวนน้อยที่เอาจริงเอาจัง จึงเป็นภารกิจแรกที่ คตช. ยังทำไม่เสร็จสิ้น

 

เรื่องที่สอง คือการทำราคากลางของงานก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งรอง นายกฯ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ร้องขอให้มีผู้จัดทำเรื่องนี้ในที่ประชุม คตช. และได้มีการดำเนินการถึงขั้นตั้งคณะทำงาน โดยเชิญคณะวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญ จาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาร่วมเป็นคณะทำงานแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นนำหมายเลขรหัสมาตรฐาน (Cost Code) ไปใช้ในแบบฟอร์มการกรอกเสนอราคาเพื่อเข้าประมูลงานของรัฐให้เหมือนกันทั่วประเทศอยู่ กระบวนการนี้ หากทำได้ภายใน 1 ปี จะทำให้รัฐมีข้อมูลจากการประมูลทั่วประเทศหลายหมื่นโครงการมาเป็นฐานข้อมูลในการทำราคากลางอย่างแม่นยำขึ้นแน่นอน เรื่อง Cost Code นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งของ คตช. ซึ่งอยู่ในขั้นดำเนินการใกล้จะแล้วเสร็จ

 

เรื่องที่สาม  คือเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาฯนำสื่อการศึกษาชุด "โตไปไม่โกง"  ไปใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศ เรื่องนี้ปลัดกระทรวงศึกษาฯรับไปปฏิบัติ และมีแผนขยายการฝึกอบรมครูจากที่เริ่มแล้วหลายร้อยโรงเรียนไปเป็นหมื่นๆ โรงเรียนภายในเวลาไม่กี่ปี ปัจจุบันการอบรมครูยังอยู่ที่จำนวนร้อย และหยุดชะงักไป

 

เรื่องที่สี่ คือการให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอย่างเป็นระบบ เรื่องนี้คณะกรรมการ คตช. ได้รับหลักการ และให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. รับไปดำเนินการต่อ ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาในวิธีการ รายละเอียด โดยคณะวิจัยจากหลายหน่วยงานนำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรื่องที่ห้า ความโปร่งใสทางการคลังของประเทศไทย เป็นข้อเสนอให้รัฐบาล มีหน่วยงานกลาง เพื่อจัดการรวบรวมเงินงบประมาณและนอก งบประมาณทุกๆ ประเภทมารวมยอดกัน เพื่อให้สามารถดูแลสถานะการเงินที่แท้จริงของประเทศ เรื่องนี้อยู่ในระหว่างประชุมหารือระหว่างหน่วยงานต่างๆทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อให้สำเร็จเรียบร้อย คงยากที่รัฐบาลในอนาคตจะจัดทำ เพราะมาตรการนี้จะควบคุมการตั้งงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างไม่รู้ขอบเขตสถานะการเงินจริง

 

เรื่องที่หก การสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนานาชาติต่างๆ เพื่อการแสดงความโปร่งใส เช่น ข้อเสนอความโปร่งใสข้อมูลการคลัง ความโปร่งใสด้านพลังงานของชาติ Extractive Industries Transparency Initiative (EITI) และความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของรัฐ CoST  (Construction Sector Transparency initiative) เป็นต้น

 

เรื่องที่เจ็ด การนำข้อมูลสาธารณะทั้งหมดออกเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างกว้างขวางทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถนำไปใช้ต่อเป็นข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ได้ คตช. ได้เห็นชอบให้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันคือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีหน้าที่เรียกและนำข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นข้อมูลสาธารณะมาออกเผยแพร่ได้ มาตรการนี้ยังต้องรับการสนับสนุนงบประมาณให้สามารถเพิ่มจำนวนข้อมูลที่จะ เผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง

 

เรื่องที่แปด โครงการข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact ซึ่งได้ใช้มาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วตั้งแต่เป็นคำสั่งคณะรัฐมนตรีให้บางโครงการประมูลของรัฐที่มีมูลค่าสูงต้องมีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชน เข้าไปนั่งรับฟังการประชุมร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ด้วย ขณะนี้ได้ผลดีมาก มีโครงการของรัฐเข้าร่วมหลายร้อยโครงการ ช่วยประหยัดเงินงบได้นับเป็นหมื่นๆ ล้านบาท และขณะนี้ได้ออกเป็นกฎหมายแล้ว ปัจจุบันการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรมนี้ในบางหน่วยงานก็ยังมีปัญหา และล่าสุดมีโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ไฮเทคขนาด 7,000 ล้านไม่ให้ความร่วมมือ จนคณะ ผู้สังเกตการณ์ต้องยื่นจดหมายลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่

 

ไม่มี คตช. อยู่ต่อไป ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องอย่าให้คนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลไม่สนใจเรื่องการต่อต้านการทุจริต อีกต่อไปแล้ว

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw