บทความ
จ่ายสินบนแล้วไม่ติดคุก...ลดโกงได้?
โดย act โพสเมื่อ Feb 06,2017
ตามที่รัฐบาลมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายโดยผ่อนปรนโทษแก่ผู้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
โดยยกเว้นโทษอาญาแต่ให้คงโทษปรับขั้นสูงและทำทัณฑ์บนไว้
หากผู้นั้นสารภาพและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดีที่จะนำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับสินบนมาลงโทษนั้น
องค์กรฯ เห็นว่าแนวทางดังกล่าวยังมีข้อควรพิจารณาเพิ่มเติม ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ริเริ่ม สมยอมหรือจำยอม ย่อมถือว่ามีความผิดร่วมกัน ถ้าจะมีการให้ได้รับสิทธิ์ การกันตัวเป็นพยาน ก็ต้องให้สิทธิ์ทั้งผู้รับและผู้ให้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความยำเกรงต่อการจำคุกทั้งสองฝ่าย และเมื่อกลางปี พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มโทษเอาผิดคนให้สินบนเท่าคนรับ รวมทั้งเอาผิดกับนิติบุคคลและกรรมการด้วย
อนึ่ง มาตรการกฎหมายของหลายประเทศที่ลงโทษปรับนิติบุคคลและไม่ดำเนินคดีอาญานั้น จะไม่ยกเว้นคดีอาญาและแพ่งกับผู้บริหารที่ทุจริต
2. การลงโทษทางอาญากับผู้ให้สินบนจะส่งเสริมให้กระบวนการสร้างธรรมาภิบาลของภาคเอกชนเข็มแข็งขึ้น เพราะมีมาตรการจูงใจหรือเป็นแบบอย่าง เช่นโครงการ CAC ของ IOD ที่ทำอยู่
3. ในสังคมไทย การทำให้ผู้ให้สินบนโดยเฉพาะตัวเจ้าของกิจการเองมาเป็นพยานนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเขามักเกรงกลัวว่านอกจากธุรกิจของเขาจะถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว ยังอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับตัวเขาและคนใกล้ชิดอีกต่างหาก
ข้อนี้ น่าศึกษาว่าทำไมกฎหมายให้กันคนเป็นพยานมีเราอยู่แล้ว ทั้งตามกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช. จึงไม่บังเกิดผลเท่าที่ควร
ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงความเป็นจริงของการเรียกรับสินบนในสังคมไทยวันนี้ เช่น
ก. มีบางกรณีที่ผู้ให้สินบนถูกข่มขู่ รีดไถ ขณะที่บางกรณีเป็นของการสมรู้ร่วมคิด หรือสมยอมโดยมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและเป็นไปได้ที่ผู้ให้เป็นผู้มีอำนาจหรืออิทธิพล
ข. การลงโทษเอกชน โดยปรับอย่างเดียวนั้นในไทยเรามีใช้อยู่ เช่น กรณีของ ศุลกากร และ กลต. แต่เป็นการใช้แบบมีเงื่อนไข
ค. หากไม่มีหลักประกันว่า โทษปรับตามมาตรการใหม่นี้จะรุนแรงพอ อาจทำให้เอกชนประเมินว่า “คุ้ม” ที่จะเสี่ยง
ง. อาจมีการใช้ช่องว่างไปในทางทุจริต เช่นเดียวกับเรื่องรางวัลและสินบนนำจับที่เป็นปัญหาอยู่ คือทำให้มีเกิดพฤติกรรมวางแผนล่อซื้อ/ล่อจับ/ปรักปรำ เพื่อเล่นงานคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามหรือเพื่อตัดตอนคดีในบางกรณี
จ. การกันเป็นพยานหรือไม่ชี้มูลความผิดตาม กม. ป.ป.ช. หรือ กม. อาญา เท่ากับบุคคลนั้นจะไม่มีความผิดติดตัวเลย แต่ตามข้อเสนอใหม่ถือว่ามีความผิดแต่โทษแค่ปรับและทัณฑ์บน
ฉ. ผู้ได้รับสิทธิ์นี้ควรเป็นผู้มาเปิดโปงให้เบาะแสหรือคนที่โดนข้อหามีหลักฐานเกี่ยวพันแล้วหรือทั้งสอง
ช. มาตรการนี้มีประเด็นน่าสนใจอยู่ เพราะนอกจากจะช่วยให้คดีจบง่ายขึ้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยตัดวงจรการสมรู้ร่วมคิดของคนโกงได้ การเจรจาต่อรองเพื่อการทุจริตยากยิ่งขึ้นเพราะเกิดการระแวงกัน คนต้องเกรงกลัวมากขึ้น เข้าทำนอง “โจรไม่ไว้ใจโจร”
โดยต้องกำหนดไว้ว่าให้ "ป.ป.ช. หรือ ศาลคอร์รัปชัน" องค์กร์ใดองค์กรหนึ่ง เป็นผู้กำหนดว่าใครจะได้รับสิทธิ์นี้
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
-- 6 กุมภาพันธ์ 2560 --