ประเด็นร้อน
2 เหตุผลปิดทางโอนคดี "ล่าเสือดำ" ขึ้นศาลทุจริตฯ
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 12,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก - -
คอลัมน์ เจาะประเด็นร้อน
คดีล่าเสือดำของ เปรมชัย กรรณสูต บิ๊กอิตาเลียนไทย ต้องบอกว่ามี "ดราม่า" ต่อเนื่องจริงๆ แม้ล่าสุดอัยการจะฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นอีกจนได้
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทนายของเปรมชัยให้ข่าวว่า จะขอโอน "คดีล่าเสือดำ" จากศาลทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ไปรวมพิจารณากับ "คดีเสนอสินบน" ที่อยู่ในอำนาจศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7
ท่าทีล่าสุดจากฝั่งเปรมชัย ทำให้หลายฝ่ายข้องใจว่า เหตุผลของการโอนคดีคืออะไร มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรแอบแฝงหรือไม่ และที่สำคัญการโอนคดีแบบนี้ ทำได้ด้วยหรือ
ก่อนอื่นต้องย้อนความกันนิดหนึ่งว่า คดีของเปรมชัยกับพวก หลักๆ มี 2 คดี คือ "คดีล่าสัตว์ป่า" กับ "คดีเสนอสินบนเจ้าพนักงาน" ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นำโดย หัวหน้าวิเชียร ชินวงษ์ นั่นเอง (ไม่รวมคดีที่แตกลูกออกมาอย่างคดีครอบครองงาช้างผิดกฎหมาย) โดยคดีล่าสัตว์ป่า อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา คือศาลทองผาภูมิ ซึ่งมี "เขตอำนาจ" พิจารณาคดีในท้องที่เกิดเหตุ คือทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนคดีเสนอสินบน อัยการยื่นฟ้องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ซึ่งมี "เขตอำนาจ" ในการพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นในพื้นที่เกิดเหตุ
นี่คือ 2 คดีหลักของเปรมชัย ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่าจะโอนคดีล่าสัตว์จากศาลอาญา ไปรวมพิจารณาในคดีเสนอสินบน ในเขตอำนาจศาลคดีทุจริตฯ ได้หรือไม่
โดยปกติแล้ว "การโอนคดี" สามารถทำได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดี หรือคดีที่มีจำเลยคนเดียวกัน แต่กระทำผิดหลายท้องที่ หรือกระทำความผิดหลายกระทงเกี่ยวเนื่องกัน ก็ให้รวมคดีหรือโอนคดีไปยังศาลใดศาลหนึ่งเพื่อพิจารณารวมกันได้
แต่ "การโอนคดี" กับเรื่อง "เขตอำนาจศาลในการชำระคดี" เป็นคนละเรื่องกัน กล่าวคือจะโอนคดีได้ ก็ต่อเมื่อ ศาลนั้นมีอำนาจชำระคดีที่จะโอนไปเสียก่อน พูดง่ายๆ คือ คดีที่จะโอนไป อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่จะรับโอนคดีหรือเปล่า
สำหรับคดีเปรมชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบอกว่า คดีหลักทั้ง 2 คดี "ฟ้องถูกศาลแล้ว" คือได้ยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจอยู่แล้ว กล่าวคือ คดีล่าสัตว์ ฟ้องต่อศาลอาญา ได้แก่ ศาลทองผาภูมิ ส่วนคดีเสนอสินบน ก็ฟ้องต่อศาลคดีทุจริตฯ ภาค 7 ซึ่งมีเขตอำนาจเช่นกัน แต่ความผิด 2 เรื่องนี้ เป็น "คนละกระทงกัน" จึงไม่สามารถโอนมารวมคดีกันได้
โดยเฉพาะการโอนไปที่ศาลคดีทุจริตฯ เพราะกระบวนวิธี พิจารณาคดีทุจริตฯ นั้น ใช้ระบบ "ไต่สวน" ซึ่งเป็นคนละระบบกับคดีบนศาลอาญาทั่วไปที่ใช้ "ระบบกล่าวหา" ซึ่งศาลคดีทุจริตฯ มีกฎหมาย "วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ" (พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559) เป็นวิธีพิจารณาเฉพาะของตนเอง แตกต่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ใช้กับคดีอาญาทั่วๆ ไป
นอกจากนั้นการอ้างเหตุผลของทนายฝั่งเปรมชัย ที่บอกว่าคดีเกี่ยวเนื่องกันนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า การเสนอสินบนไม่ได้เป็น "การกระทำความผิดหลัก" ที่ทำให้เกิด "ความผิดอื่น" ตามมา เพราะเปรมชัยไปล่าสัตว์ก่อน ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว จากนั้นจึงถูกจับกุม แล้วจึง มีการเสนอสินบน จึงเป็นความผิดคนละกระทง แยกกันอย่างชัดเจน
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การยื่นคำร้องขอโอนคดี จำเลยหรือทนายจำเลยสามารถยื่นได้ทุกกรณี ถือเป็นสิทธิ์ของจำเลย แต่การจะอนุญาตให้โอนหรือไม่ เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา ยกเว้นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้ที่มีอำนาจ พิจารณาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลคดีทุจริตฯ หรือไม่ เป็นอำนาจของประธานศาลอุทธรณ์กลาง
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน