บทความ
สินบน เงินทอน ส่วย ใต้โต๊ะ ในยุค 4.0
โดย ACT โพสเมื่อ May 30,2018
‘ฉ้อราษฎร์ บังหลวง’ เป็นคำที่ใช้ในอดีต ให้ความหมายถึง การคอร์รัปชันของข้าราชการในสองลักษณะ ‘ฉ้อราษฎร’ คือ การรีดไถ รับส่วย สินบน จากพ่อค้าประชาชนทั่วไป ส่วน ‘บังหลวง’ ก็คือ การโกงเอาทรัพย์สินเงินทองหรือผลประโยชน์ที่เป็นของราชการไปเป็นของตนและพวกพ้อง
และเพื่อให้เห็นว่าในยุค 4.0 เขาโกงกินกันอย่างไร ผมจึงรวบรวมพฤติกรรมคอร์รัปชันที่ปรากฎในช่วงนี้มาแยกเป็นกลุ่มๆ ให้พิจารณากัน
1. เงินทอนในการจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่า 2 – 3 แสนล้านบาทต่อปี เป็นการโกงในรูปของเงินทอนหรือใต้โต๊ะในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 - 30 ของงบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยตัวเลขอาจมากหรือน้อยกว่านี้ตามยุคสมัย
2. สินบนจากการใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจ เป็นเงินที่นักธุรกิจหรือประชาชนจ่ายให้เจ้าหน้าที่เพื่อจูงใจให้มีการใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจบางอย่าง ดังนี้ 1) ให้มีการอำนวยความสะดวกรวดเร็วเป็นพิเศษแก่ผู้จ่ายสินบน เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน ขออนุญาตนำเข้าสินค้า การลัดคิว 2) เพื่อช่วยให้ตนพ้นความผิดที่ทำไป เช่น การเลี่ยงภาษี หรือทำผิดกฎหมายบางอย่าง 3) เพื่อให้ตนได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น หรือเอาเปรียบรัฐไปมากเกินควร เช่น สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานโทรศัพท์ สัมปทานเหล้า - บุหรี่ ทำสัญญาหรือแก้กฎหมายที่รัฐเสียเปรียบ เป็นต้น แน่นอนว่าสินบนเหล่านี้จะย่อมนำไปสู่ความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับรัฐหรือประชาชนรวมทั้งเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมต่อเนื่องไปอีก
3. สินบนที่ชาวบ้านต้องจ่ายเมื่อไปติดต่อราชการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี เป็นสินบนที่ชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่เมื่อ “ไปติดต่อที่สถานที่ราชการ” อย่างกรมที่ดิน โรงพัก โรงเรียน ศุลกากร สรรพากร อำเภอ อบต. เทศบาล เป็นต้น ทั้งนี้ตัวเลขที่แท้จริงคงสูงกว่านี้มาก แต่ผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจอาจปิดบังไว้เนื่องจากเกรงกลัวอันตรายหากเปิดเผย และข้อมูลนี้ยังไม่รวมถึงกรณีที่องค์กรภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่
4. สินบนและเงินที่คนทั่วไปต้องจ่ายเมื่อเผชิญกับเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ราชการ โดยแต่ละคนอาจจ่ายด้วยสาเหตุต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งกรณีที่ผู้จ่ายกระทำผิดจริงและโดนกลั่นแกล้ง เช่น การจ่ายให้กับตำรวจจราจร เทศกิจ นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่แรงงานหรือตำรวจ
5. สินบน ส่วย ส่วนแบ่งและค่าคุ้มครองจาก หวย บ่อน ซ่อง และ ยาบ้า มีการประเมินว่าธุรกิจมืดเหล่านี้อาจมีมูลค่ามากถึงร้อยละ 8 ถึง 13 ของ จีดีพี ดังนั้นหากคิดคร่าวๆ ว่ามีการจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับจากต้นทางถึงปลายทางสักสิบเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาด ก็จะเป็นเงินที่มากถึง 1.7 แสนล้านบาทต่อปี
6. สินบนและค่าวิ่งเต้นในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน เช่น การซื้อขายตำแหน่ง การวิ่งเต้นของบประมาณจากมหาดไทยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเองระหว่างบุคลากรในระบบราชการ สินบนประเภทนี้แม้ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ แต่สำคัญและอันตรายมาก เพราะมันเป็นรากเหง้าที่ทำให้คนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเงินเป็นค่าใช่จ่ายไปสู่ดวงดาว
7. การยักยอกเงินและหาประโยชน์จากแหล่งอื่นๆ ที่เพิ่งปรากฎชัดในช่วงไม่กี่ปีมานี้อย่าง “เงินอุดหนุน” ตามนโยบายของรัฐ เช่น กรณีเงินทอนวัด เงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ เงินอุดหนุน อปท. “เงินกองทุนหมุนเวียน” ที่จัดตั้งกระจัดกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 3 ล้านล้านบาท ดังที่ปรากฎข่าวทุจริตเงินกองทุนเสมาฯ ของกระทรวงศึกษาฯ กองทุนก็ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และการโกงใน “สหกรณ์และกองทุนกู้ยืมต่างๆ” เป็นต้น
ที่กล่าวมามีทั้งการ “โกงกินเงินงบประมาณ” ในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ และที่ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นการ “เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง” ด้วยการใช้อำนาจ ใช้ดุลยพินิจ สั่งการ กำหนดนโยบาย ที่ทำให้ราชการเสียหายหรือเอาเปรียบส่วนรวม เช่น ครม. กำหนดนโยบายโดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง การแต่งตั้งคนของตนให้ได้เป็นใหญ่เป็นโตทั้งที่ขาดคุณสมบัติ เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
เอกสารอ้างอิง
1. รายงานการสำรวจ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 2561
2. บรรยง พงษ์พานิช, 2558
3. ผาสุก พงษ์ไพจิตและคณะ, 2557 สินบน ทัศนคติและประสบการณ์ ของหัวหน้าครัวเรือน
5. หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า: เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับนโยบายสาธารณะในประเทศไทย, ผาสุก พงษ์ไพจิตร สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ นวลน้อย ตรีรัตน์
5.1 ปี 2559 จีดีพี ของไทยเท่ากับ 3.9 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน