ประเด็นร้อน
เงินพระ เงินวัด เงินโกง ต้องจัดระบบให้ชัดเจน
โดย ACT โพสเมื่อ May 25,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส : โดยสารส้ม
กรณีตำรวจกองปราบปราม นำโดย พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. เปิดปฏิบัติการตรวจค้น ตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาฟอกเงิน อันเกี่ยวข้องหรือได้มาเนื่องด้วยคดีทุจริตเงินทอน ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 24 พ.ค.2561
ในกรณีของวัดสระเกศ มีพระเกี่ยวข้อง 4 รูป ได้แก่
พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) หรือ เจ้าคุณธงชัย เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 10 พระศรีคุณาภรณ์ หรือ พระมหาบุญทวี คำมา ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระครูสิริวิหารการสมจิตร จันทร์ศรี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือเจ้าคุณเทอด ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
นอกจากนี้ ยังมีฆราวาสเกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง
จากการตรวจค้นไม่พบตัวพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาส ทั้งที่การข่าวพบว่าเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ยังอยู่ที่วัด
พล.ต.ต.ไมตรี เปิดเผยหลังตรวจค้นไม่พบเจ้าอาวาสว่า "ก่อนเริ่มปฏิบัติการได้ส่งตำรวจมาเฝ้าอยู่ประตูใหญ่ ประตูเล็กรอบวัดทั้งหมด เมื่อเช้า ไม่เจอตัวเจ้าอาวาส จึงได้มาดูเส้นทางใกล้กุฏิ พบบริเวณด้านข้างได้ทำช่องทาง ออกใหม่ขึ้นมา ดูแล้วสามารถออกถนนใหญ่ข้างนอกได้ เป็นจุดที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ไม่หนักใจ หลบหนีอย่างไรก็ตามติดตามจับกุมตัวมาให้ได้"
อย่างไรก็ตาม การตรวจค้นในกุฏิเจ้าอาวาส เจอเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับ การของบประมาณและคอมพิวเตอร์ จะยึดไปตรวจสอบข้อมูล ส่วนที่โยงกับข้อหาฟอกเงินนั้น ก่อนออกหมายจับได้รวบรวมพยานหลักฐานกับทาง ปปง. ตรวจสอบเส้นทาง ตลอดจนเอกสารชัดเจนมากว่ามีการนำเงินออกมา ร่วมกันทำการฟอกเงิน
ประการสำคัญ พล.ต.ต.ไมตรีระบุว่า "สำหรับบัญชีเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้มีการตรวจสอบ โดยบัญชีส่วนตัวมีเงินฝาก 10 บัญชี รวมเงิน 132 ล้านบาท เลขาฯ ปปง.ได้อายัดตั้งแต่เมื่อวานแล้ว"
1.คุณพระช่วย... พระสงฆ์มีเงินฝากในบัญชีส่วนตัว มูลค่ามากถึง 132 ล้านบาท!!!
บวชแล้วรวย?
ฟอกเงินแล้วรวย? ถ้าไม่ผิด หรือสุจริตจริง หวังว่าท่านจะกลับมาต่อสู้คดี และชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดเพราะการบวชเป็นพระ ไม่ใช่การประกอบอาชีพ หรือการลงทุนทำธุรกิจ ที่จะได้มีเงินสะสมพอกพูนมหาศาลถึงขนาดเป็นอาเสี่ยร้อยล้านและแน่นอนว่า อาศัยสถานะความเป็นพระ ช่วยให้ไม่ต้องเสียภาษี เงินได้ส่วนบุคคล
2. น่าคิดว่า ในบัญชีเงินฝากของเจ้าอาวาสวัดสระเกศ มีขนาดนี้ แล้วยังมีทรัพย์สินในรูปแบบอื่นๆ อีกหรือไม่? จะอยู่ในชื่อใคร? จะมากมายมหาศาลขนาดไหน? ที่สำคัญ พระระดับผู้บริหารวัดที่กำลังถูกตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัดอยู่เช่นกัน คือ พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์ และ พระพรหมดิลก วัดสามพระยา จะมีบัญชีเงินฝาก และรายการทรัพย์สินอู้ฟู่ขนาดไหน ควรจะมีการตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบความจริง ในวงกว้าง เพื่อป้องกันมิให้พวกสูญเสียผลประโยชน์นำไปกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ กระทำการโดยไม่มีมูล
3. กรณีเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของพระและของวัด ที่ตกเป็นข่าวฉาว ล่าสุดก่อนหน้านี้ ก็คือกรณีที่มีการนำเงินของวัดพระธรรมกายไปเล่นหุ้น เกิดคดีความถึงขนาดว่า ในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ ระบุว่า มีราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนพระราชภาวนาจารย์ (พระทัตตชีโว หรือเผด็จ ทัตตชีโว) ออกจาก สมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2560 ด้วยเข้าข่ายการเป็นผู้ต้องหาในคดี ที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา และการนำเงินของวัดพระธรรมกายไปเล่นหุ้น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ กฎหมายอาญา 157
นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษสำนักการสอบสวน 3 เคยออกมาระบุว่า มีการนำเงินจากบัญชีของวัดพระธรรมกายไปซื้อขายหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระหว่างปี 2553-2559 เงินวัดพระธรรมกายกว่า 1,400 ล้านบาท ถูกนำออกไปกระจายให้บุคคล กลุ่มบุคคล ไปลงทุน ในหลายรูปแบบ โดยหลักฐานธุรกรรมการเงินปรากฏชัดว่า บางส่วนเป็นเงินจากคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
แม้ทางวัดพระธรรมกายปฏิเสธ แต่ก็มีคดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ขณะนี้ ไม่ทราบว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว
4. กรณีล่าสุด ยิ่งตอกย้ำว่า ถึงเวลาจะต้องจัดการปฏิรูประบบกำกับดูแลจัดการเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของพระและของวัด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสอดคล้องกับพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง
พระต้องเป็นพระ วัดต้องเป็นวัด เฉพาะเงินของวัดในประเทศไทย เคยมีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปี 2556 วัดทั้งหลายมีเงินฝากอยู่ในระบบธนาคารมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท!
ยังไม่นับที่เก็บไว้เป็นเงินสด แบบที่เป็นข่าวว่าเงินล้นกุฏิ ปลวกกิน หรือผ่องถ่ายไปไว้กับคนใกล้ชิด
แล้วที่เก็บไว้ในรูปทรัพย์สินอื่นๆ เช่น รถหรู ที่ดิน ทองคำ ฯลฯ มีอีกมหาศาลเท่าไหร่
ในสมัยที่มี สปช. เคยมีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปในเรื่องนี้ เช่น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ ระบุว่า อย่างน้อยต้องมีกลไกหลักในการดำเนินงาน คือ การจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัด, ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นที่ได้ มาจากการดำเนินงานภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล พระสงฆ์ หรือของวัดใด
การบริหารจัดการทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ ของวัดและพระ ควรให้ พุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม เพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมาย และให้เป็นไปตามธรรมวินัย โดยให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุให้ตกเป็นของวัดนับตั้งแต่ที่ได้มา และไม่สามารถจำหน่าย โอน หรือทำพินัยกรรมยกให้บุคคลอื่นได้ เป็นต้น 5. อย่าลืมว่า การบวช มิใช่การประกอบอาชีพ เพราะไม่ได้เสียภาษีจากรายได้ ไม่ควรให้ใครเข้ามาเพื่อกอบโกย อาศัยผ้าเหลืองหากิน ตักตวงความมั่งคั่งเข้ากระเป๋าส่วนตัว
การปฏิรูปการจัดการทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ จะเกิดประโยชน์ต่อวัดที่ขาดแคลน ในท้องที่ห่างไกล สามารถจะจัดสรรเงินไปอุปถัมภ์ค้ำชู ส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ โดยที่พระจะได้กลับไปปฏิบัติกิจของสงฆ์ มิใช่ตกเป็นทาสกองกิเลสใหญ่โตเท่าภูเขาทอง
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน