ประเด็นร้อน

4 ปี คสช. ปราบโกง?

โดย ACT โพสเมื่อ May 23,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อ ต้าน คอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

จากวันนั้น 22 พ.ค. 2557 ถึงเมื่อวานนี้ 22 พ.ค. 2561 เป็นวันครบรอบ 4 ปี บริบูรณ์ที่ คสช. เข้ามาเป็นรัฐบาล บทความตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสวิเคราะห์ผลงานด้านต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐบาลนี้ได้ประกาศเป็นนโยบายสำคัญและได้ลงมือปฏิบัติไปแล้วบ้าง ว่ามีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด

 

เหตุการณ์ที่สำคัญในปีแรกน่าจะเป็นคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก โดยกำหนดแนวนโยบายและความรับผิดชอบในการดูแลป้องกันการทุจริตในหน่วยงานราชการทุกแห่ง และให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในการติดตาม ดูแล การปฏิบัติตามนโยบายตามคำสั่งนี้ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับวินัยข้าราชการที่มีอยู่แล้วให้ เข้มงวดขึ้น

 

นอกจากนี้ คำสั่งนี้ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งถือว่าเป็นการประกาศนโยบายหลักที่เปิดให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในเวลาต่อๆ มา เช่น การเชิญตัวแทนภาคประสังคมและนักวิชาการเข้ามาร่วมคิดร่วมทำงานในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานฯ ด้วยตนเอง

 

ต่อจากคำสั่ง คสช. นี้ ก็มีการตั้งคณะกรรมการและองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือทางอ้อมกับการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นมาใหม่จำนวนหนึ่ง เช่น ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้นเพื่อเป็นแกนประสานงานหน่วยงานของรัฐที่มีงานด้านการต่อต้านการทุจริตเข้าด้วยกัน คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ และ ส่วนที่มีหน่วยงานอยู่แล้วก็ได้รับการ ส่งเสริมเพิ่มศักยภาพให้ เช่น การสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) ซึ่งมีข้าราชการทุกกรมในแต่ละกระทรวงอาสาเข้าร่วมต่อต้านและดูแลป้องกันการทุจริตในหน่วยงานของตนเป็นจำนวนมาก

 

ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ทั้งจากภาคประชาชน ตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. บางท่านเข้าไปเป็นสมาชิก สนช. กลุ่มคนเหล่าได้มีส่วนร่วมนำเสนอและพิจารณากฏหมายต่างๆ ที่มีความสำคัญมากในการใช้ป้องกันการทุจริต เช่น การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งทำให้การพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตทำได้รวดเร็วขึ้นเป็นอย่างมาก

 

กฎหมายอีกสองฉบับที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยมาก คือ หนึ่ง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้การอนุญาตต่างๆ ของรัฐสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส และลดการเรียกสินบน และสอง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กฎหมาย ฉบับใหม่นี้จะมาใช้แทนระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเดิมที่เป็นแค่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีสามารถยกเลิกหรือยกเว้นการใช้สำหรับโครงการที่ใช้งบประมาณเป็นแสนๆ ล้านบาทได้อย่างง่ายดาย

 

อ่านมาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่ามีผลงานของรัฐบาลนี้เน้นไปที่การแต่งตั้งกรรมการต่างๆ ออกระเบียบ กฏหมาย ตั้งหน่วยงานใหม่ ยังไม่ค่อยเห็นผลงานที่จับต้องได้เท่าไหร่ นัก ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญเช่นเดียวกับในหลายๆ รัฐบาลก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลนี้สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนในการป้องกันการคอร์รัปชัน นั่นคือการสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนรวมของภาคประชาชนในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ในทางตรงนั้น คตช. ได้ประกาศให้ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้ความร่วมมือกับมาตรการสร้างความโปร่งใสและสร้างมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการของรัฐโดยประชาชน เช่น มาตรการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่ส่งผู้สังเกตการณ์อิสระที่ผ่านการคัดเลือกและผ่านการอบรมแล้วเข้าไปร่วมเฝ้าระวังในประชุมร่าง ข้อกำหนดในการประมูลของรัฐที่สำคัญหรือมีความเสี่ยงสูง ผลที่ได้รับคือ จาก 29 โครงการที่เข้าร่วมมาตรการนี้และจัดการประมูลไปแล้ว สามารถประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 11.12% คิดเป็นเงิน 8,217 ล้านบาททีเดียว ขณะนี้รัฐบาลประกาศให้มีโครงการเข้าร่วมมาตรการนี้ทั้งหมด 70 โครงการ งบประมาณรวม 1,222,348 ล้านบาท ประเทศไทยน่าจะประหยัดงบประมาณไปได้อีกเป็นแสนล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้น ในระยะยาว หากรัฐบาล ยังสามารถสนับสนุนมาตรการนี้ได้อยู่อย่าง ต่อเนื่อง เราคงจะมีเงินไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อีกมากทีเดียว

 

ในทางอ้อมนั้น การที่มี คสช. มาเป็นรัฐบาล ทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนตื่นตัวเป็นอย่างมากว่าประชาชนเองต้องไม่หวังต้องพึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเดียว แต่จะต้องพึ่งพาตนเองได้ด้วย เพื่อธำรงความเป็นกลางและยังทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลใดๆ ก็ตาม ความตื่นตัวนี้จึงกระตุ้นให้เกิดโครงการต่อต้านคอร์รัปชัน และสนับสนุนธรรมาภิบาลขึ้นมามากมาย เช่น กองทุนธรรมาภิบาลไทย ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหนึ่งได้ตั้งกองทุนรวมที่เลือกลงทุนหุ้นของบริษัทที่ได้รับการรับรองว่ามีธรรมาภิบาลจากโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ภายใต้ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยจะแบ่งเงินรายได้จากค่าบริหารกองทุนส่วนหนึ่งไปสนับสนุนโครงการต่อต้านคอร์รัปชันและสร้าง ธรรมาภิบาลในสังคมไทยที่ดำเนินการโดยภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ อีกโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการสนับสนุนการรายงานข่าวสืบสวน (Investigative Journalism) ) โดยองค์กรต่อต้านคอรัปชันรวมกับสำนักข่าวอิศราและแฮน วิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนงานต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกันเปิด Facebook "ต้องแฉ" (Must Share+) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถร่วมเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนได้ นอกจากนี้ยังมีความพยายาม ในการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีใหม่ๆ การจัดการลงนามความร่วมมือในการต่อต้าน คอร์รัปชันกับสภาและสมาคมวิชาชีพ สำคัญๆ ได้แก่ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เพื่อให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ

 

นอกจากความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ภายในประเทศแล้ว สถานการณ์นี้ยังสร้างแรงผลักดันให้องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ไปสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น การจัดเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล โดยองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

 

แม้คนจำนวนมากอาจจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลนี้ ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วยว่ากฎหมายหลายฉบับ โครงการหลายโครงการ และคณะกรรมการหลายชุดยังมีจุดอ่อนและขาดประสิทธิภาพอยู่บ้าง แต่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ก็นับว่ามีการวางรากฐานที่สำคัญและมีประโยชน์มากพอสมควร ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างบรรยากาศในการผลักดันและเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โครงการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เพราะผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืนได้คือประชาชนนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw