Hot Topic!

4 ปีรัฐบาล ชี้ระบบพวกพ้อง จุดอ่อน คสช.

โดย ACT โพสเมื่อ May 22,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สะท้อน 4 ปี คสช. ต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันว่า เมื่อเรามองย้อนหลังไป 4 ปี จะเห็นว่า 2 ปีแรก ทาง คสช. มีผลงานค่อนข้างดี เห็นได้จากการดำเนินการในหลายมาตรการที่เป็นประโยชน์ และมีความพยายามในการปราบปรามทุจริตอย่างจริงจัง แต่พอมาช่วง 2 ปีหลัง กลับเริ่มมีความไม่เข้มแข็ง เพราะมีเรื่องของระบบพวกพ้องคนใกล้ตัว ซึ่งถูกกล่าวหาแต่กลับไม่มีการดำเนินการรวดเร็วเท่าที่ควร จนมีการมองว่ามาตรการต่างๆ ที่เคยใช้ในอดีตไม่เข้มแข็งเท่าเดิม ส่วนตัวจึงมองว่าการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ถดถอยไป


“เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมท้วงติงว่า เมื่อมีกรณีเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะทุจริตหรือไม่ควรที่จะมีการติดตามอย่างชัดเจน ไม่ปล่อยให้คลุมเครือ ถ้าการกระทำในเรื่องนี้ ยังไม่เข้มแข็งและยังเป็นเหมือนเดิมก็คงจะทำให้ภาพพจน์ไม่ค่อยดีนัก”

 

ส่วนกฎกติกาที่ออกมาในยุค คสช. มีหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาเช่น การตั้งศาลคดีทุจริต การปรับปรุงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือว่ามีผลในทางบวกพอสมควร 

แต่สิ่งที่ทำให้การบังคับใช้ไม่เข้มแข็งคือ การมีกฎหมายอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตซึ่งตามเจตนารมณ์คือ ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้ปรับปรุงกฎระเบียบและทำให้การออกใบอนุญาตปลอดจากการเรียกสินบนหรือทุจริต แต่สิ่งที่ตนรู้สึกผิดหวังคือการบังคับใช้ไม่ได้ผล ข้าราชการที่ดูในเรื่องนี้ไม่เข้มแข็งขณะที่ทางรัฐบาลเองก็ไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้


ขณะที่กฎหมายสำคัญ อย่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก มองว่า ในส่วนของกฎหมาย ป.ป.ช. นั้น ถือว่ามีการปรับปรุงและพยายามดูจุดอ่อนในเรื่องเก่า แต่กระนั้นแม้ว่าตัวกฎหมายจะมีความเด่นมากขึ้น แต่การทำให้เห็นผลอย่างจริงจังต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารหรือกรรมการป.ป.ช.เข้มแข็งจริงหรือไม่ 


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมายังมีการพูดถึงคดีต่างๆ ที่ติดค้างอยู่ใน ป.ป.ช. ขณะนี้ ยังมีอยู่หลายเรื่องที่ไม่รวดเร็วอย่างที่คิด ทั้งที่ตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.น่าจะมีอำนาจในการเร่งรัดคดีให้เร็วยิ่งขึ้น


ส่วนองค์กรที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) มองว่า ได้รับการสนับสนุนและได้มีมาตรการหลายอย่างที่ทำให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ความจริงจังในเรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่ที่คณะทำงานอย่าง ป.ป.ท.ที่มีการปรับปรุงแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง เห็นได้จากการเอาผิดข้าราชการในระดับต่างๆ ซึ่งมีการขุดคุ้ยในขณะนี้ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษแต่ในส่วนของ ป.ป.ช.ก็ไปติดบางเรื่อง ที่เราพูดกันในเบื้องต้นคือเรื่องที่เกี่ยวกับคนในรัฐบาลจนทำให้เกิดความสงสัยว่ากรรมการชุดนี้จะสามารถดำเนินการอย่างจริงจังได้มาน้อยแค่ไหน


“ในการปรับปรุงใหม่ถือว่าองค์กรเหล่านี้ได้รับการติดดาบอยู่พอสมควร แต่พอมีการท้วงติงก็กลายเป็นมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ดังนั้นการแก้กฎหมายไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะให้สมบูรณ์ก็คงจะไม่ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่ที่ผู้ปฏิบัติถ้ามีอุดมการณ์เข้มแข็งและเอาจริงเอาจังและใช้อำนาจที่ถูกต้องก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้”


สำหรับข้อครหาที่ว่ากรรมการบางองค์กรมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคนในรัฐบาลและ คสช.ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวกรรมการมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ว่าใครที่ถูกกล่าวหาเขาจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน 


สิ่งที่อยากจะฝากไปยัง คสช.ในช่วงที่ยังเหลืออยู่คือ หลายอย่างที่รัฐบาลน่าจะทำได้ ก็ควรที่จะรีบเร่งรัด โดยเฉพาะเรื่องที่ได้ออกมาตรการมาแล้ว เพื่อจะทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต่างๆต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw