Hot Topic!
ป.ป.ช.แก้ปัญหาเงินแป๊ะเจี๊ยะ ป้องกันการซื้อเก้าอี้เข้าเรียน!
โดย ACT โพสเมื่อ May 18,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ผ่าประเด็นร้อน : โดยทีมข่าวการเมือง
พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช.หนึ่ง ใน 9 คน เผยที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถนนพิษณุโลก เมื่อไม่กี่วัน ที่ผ่านมาว่า หลังเป็นประธานมอบรางวัลการประกวดแผนการจัดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับอาชีวศึกษา และแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรว่า ป.ป.ช.ต้องการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับอาชีวศึกษาในการทำแผนไม่ทนต่อการทุจริต
พล.อ.บุณยวัจน์กล่าวถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการให้และรับเงินแป๊ะเจี๊ยะโรงเรียนว่าขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ออกมามาตรการหรือแผนระยะสั้นไปแล้ว ส่วนแผนระยะยาวจะมีการประชุมอนุกรรมการเพื่อจัดเตรียมแผนต่อไป โดยจะต้องการกำหนดมาตรการในโรงเรียนเพื่อป้องกันซึ่งทุกโรงเรียนต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำ เพราะทุกคนล้วนต้องการให้ ลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ
ดังนั้นจึงต้องทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คนไทยต่างตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวมาก หากมีการร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช.ก็จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบทันทีป.ป.ช.อยากให้คนไทย เปลี่ยนค่านิยมใหม่ โดยต้องไม่มีการให้แป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการสอบสวน นายวิโรฒ สำรวล อดีต ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กทม.อยู่
ปัญหาการจ่ายเงินซื้อเก้าอี้หรือเงินแป๊ะเจี๊ยะนั้นมีมานานถึง 60 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2501 โดยเริ่มมาจาก โรงเรียนราษฎร์ชื่อดังในกรุงเทพฯทั้งโรงเรียนชายและหญิง โรงเรียนชายที่ถนนสามเสน ในยุคโน้นเก็บเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ ในอัตรา 5 พันบาท ส่วนที่บางรักนั้นเรียกกันในราคาหมื่นบาททีเดียว โรงเรียนหญิงที่สีลมและราชประสงค์เรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะรายละ 5 พันบาท สำหรับการเข้าเรียน อนุบาลศึกษาปีที่ 1
หลังจากนั้นอัตราเงินก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน ต้องจ่ายประมาณ 5 แสนบาท ถึงหลักล้านบาทก็มี ในขณะที่โรงเรียนรัฐบาลดังๆ นั้นเริ่มมีการจ่ายเงิน ประมาณ 45 ปีมาแล้ว เริ่มมีประมาณปี 2515 ทางด้าน ศ.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการศึกษาชื่อดัง ได้ยอมรับว่าการจ่ายเงินให้เด็กเข้าเรียน ถือเป็นการลงทุน ที่คุ้มค่าเพราะสามารถการันตีคุณภาพการศึกษาของลูกได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน หรือ แป๊ะเจี๊ยะ
เป็นวัฒนธรรมเงียบที่พร้อมจะทำลายระบบการศึกษาไทย และไม่แปลกใจที่ผู้ปกครองยอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยะในราคาสูงถึง 4-5 แสนบาท เพราะผลวิจัยธนาคารโลก ชี้ชัดว่าคุณภาพการศึกษาเด็กในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีความรู้และความสามารถต่างกันมากทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยระหว่างคนรวยและคนจน
ผลการตรวจสอบเส้นทางการศึกษาเด็กกรุงเทพฯ พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่จะให้ลูกเข้าโรงเรียนเกรดเอ ตั้งแต่ระดับอนุบาล เช่น รร.ละอออุทิศสวนดุสิต ชั้นประถมศึกษา คือ รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัธยมตอนต้นถึงตอนปลาย คือ รร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน รร.เตรียมอุมศึกษา เป็นต้น
ทางด้านนายคมเทพ ประภายนต์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติเผยว่า สมาคมเป็นห่วงกรณี ผู้ปกครองยอมจ่ายเงินเพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียน ในโรงเรียนดัง มีชื่อเสียง และต้องเร่งแก้ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะอย่างรวดเร็ว เพราะถือเป็นวงจรที่ทำลายการศึกษาไทย และอาจส่งผลต่อค่านิยมของเด็กที่เห็นว่าเงินสามารถซื้อทุกอย่างได้ แม้กระทั่งที่นั่งในโรงเรียนดังๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด
ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะเป็นเรื่องการทุจริตเก่าแก่ในวงการศึกษาเกิดขึ้นทั้งโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนรัฐบาลเป็นปัญหาที่ลุกลามออกไปทั้งประเทศโดยมีการประเมินว่าในแต่ละปีผู้ปกครองนักเรียนยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะสถานศึกษาชื่อดังทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท เงินกินเปล่าเหล่านี้เป็นต้นตอของการทุจริตทั้งในโรงเรียนราษฎร์และรัฐบาลเป็นหนทางในการซื้อขายตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนและอาจารย์ใหญ่
มีการยืนยันด้วยว่าเก้าอี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลมีการ ตั้งราคาซื้อขายสูงลิ่วถึง 10-20 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือว่าระดับปลัดกระทรวงและอธิบดีมีการกินแบ่งระหว่างนักการเมืองกับผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะทราบดี
การแก้ไขปัญหาการรับเงินใต้โต๊ะดูจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะผู้ปกครองที่ร่ำรวยยอมจ่ายเพื่อให้ลูกมีอนาคตที่ดี แถมมีการรู้เห็นกันระหว่างสมาคมศิษย์เก่าของแต่ละโรงเรียนและสมาคมผู้ปกครองและครูของแต่ละโรงเรียน อีกด้วย โดยกรรมการสมาคมต่างก็มีส่วนแบ่งเงินกินเปล่า เหล่านี้ ด้วยทำให้การแก้ไขปัญหาเงินใต้โต๊ะเพื่อการศึกษา เป็นไปได้ยากเพราะเป็นเรื่องของกินแบ่งไม่ใช่กินรวบนั่นเอง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน