Hot Topic!
Collective Action ที่น่าสนใจ
โดย ACT โพสเมื่อ May 14,2018
- - -ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -
คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง : โดยพิษณุ พรหมจรรยาที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
ในตอนที่แล้ว ได้เล่าถึงผลจากการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อตอบคำถามสำคัญว่าทำไมความพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของ ภาคเอกชนในรูปแบบ Collective Action ของหลายๆ ประเทศถึง ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งพอจะสรุปสาเหตุสำคัญออกมาได้ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1) ขาดการมีส่วนร่วมของผู้เล่นรายใหญ่ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม 2) ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ และ 3) ขาดการกำกับดูแลให้การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
ในสัปดาห์นี้ จะเล่าถึงการดำเนินการของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ Thai Private Sector Collective Action Coalition against Corruption (CAC) ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบให้ตอบสนองต่อสาเหตุที่ทำให้ Collective Action ในประเทศอื่นล้มเหลว 3 ประการดังกล่าวข้างต้น
ในประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้เล่นรายใหญ่ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น CAC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดึงผู้เล่นรายใหญ่ให้เข้ามาเป็นแนวร่วมปฏิบัติตั้งแต่แรก เพราะทราบดีว่าหากผู้เล่นรายใหญ่ไม่เอาด้วยแล้ว ก็ไม่มีทางที่รายเล็กจะเข้ามาร่วม หรือเข้ามาก็ไม่สามารถสร้างโมเมนตัมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น CAC จึงใช้วิธีการชักชวนกลุ่มธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมโครงการแบบเป็นกลุ่ม (Sectoral Approach)
โดยในช่วงแรก ได้เริ่มจากการเข้าชักชวนกลุ่มธุรกิจในภาคการเงิน ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของไทย มีเครือข่ายกว้างขวาง และมีความสัมพันธ์กับธุรกิจอื่นๆ ทุกประเภท และทุกขนาด นอกจากนี้ หลังจากที่ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 มาแล้ว ก็ได้มีการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคการเงินของไทยให้ดีขึ้นอย่างมาก ในขณะที่การตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลในฝั่งทางการก็เข้มข้น ทำให้ความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ของธุรกิจในภาคการเงินอยู่ในระดับที่ไม่สูง และสามารถดำเนินการตามแนวทางการวางกลไกป้องกันการทุจริตที่ CAC กำหนดไว้ได้ไม่ยาก
หนึ่งในเหตุผลที่ช่วยให้ CAC สามารถเชิญชวนภาคการเงินให้เข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติได้สำเร็จก็คือการผลักดันของสมาคมธนาคารไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในแปดองค์กรร่วมก่อตั้ง CAC (องค์กรก่อตั้งอื่นๆ ประกอบด้วย หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเข้ามาร่วมเป็นสมาชิก และในเวลาต่อมา ธุรกิจอื่นๆ ในภาคการเงินที่ ส่วนใหญ่มีบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์เป็นผู้เล่นรายใหญ่ก็ตามเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกแบบยกสมาคมด้วย อย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย และ บริษัทประกันชีวิต
และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการทุจริตจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โครงการ CAC จึงได้ออกแบบระบบการรับรองว่าบริษัทได้มีการกำหนดนโยบาย และวางแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดภายในระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งกระบวนการรับรองนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของ CAC ซึ่งใน ปัจจุบันยังไม่มีโครงการ Collective Action ในประเทศไหนที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ส่วนเรื่องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น CAC ได้ดำเนินการในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่มีความมุ่งหมายชัดเจน ที่จะทำธุรกิจอย่างโปร่งใส ปลอดสินบน ร่วมกับภาครัฐผลักดันให้มีการออก หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงประสิทธิภาพบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่เอื้อให้เกิดปัญหาการเรียกรับ และการจ่ายสินบน ซึ่งจนถึงขณะนี้ CAC ประสบความสำเร็จในการร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในภาคประชาสังคม อย่างเช่นองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ การออกพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และการแก้ไขกฎหมายที่กำหนดความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล
นอกจากนี้ CAC ก็ได้ทำงานร่วมกับบริษัทในภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสินบนสูง อย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อระบุถึงจุดอ่อนในกระบวนงาน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข และผลักดันให้มีการดำเนินการเพื่อปิดความเสี่ยงดังกล่าวด้วย
สำหรับเรื่องของการกำกับดูแลให้การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย โครงการ CAC มีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการจำนวน 11 ท่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีประสบการณ์อย่างโชกโชนจากทั้งภาคราชการ ธุรกิจเอกชน และประชาสังคม โดยมีการกำหนดกลยุทธ์ และระบบการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ มีการกำหนดเป้าหมาย และงบประมาณอย่างชัดเจน โดยจะมีการรายงานผลการดำเนินงาน และแนวทางการดำเนินการให้ตัวแทนแปดองค์กรร่วมก่อตั้งรับทราบเป็นระยะ นอกจากนี้ ทั้งงบประมาณและผลสำเร็จของโครงการยังถูกติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากองค์กรหลักที่ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่าง Center for International Private Enterprise (CIPE) ด้วย
การดำเนินการในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการ CAC มีความก้าวหน้าอย่างมากทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จนทำให้หลายๆ ประเทศมองเห็นถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้น และสนใจติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ CAC ช่วยให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนทางเทคนิคในการก่อตั้ง หรือปรับปรุงเครือข่ายต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนในรูปแบบ Collective Action ของตัวเองบ้าง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน