Hot Topic!
ตอกหมุดคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
โดย ACT โพสเมื่อ May 08,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์กวนน้ำให้ใส : โดยสารส้ม
หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับพวก กระทำการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
เวลาผ่านไป นานจนสังคมเกือบลืมไปแล้ว
ล่าสุด อัยการสูงสุดกำหนดนำตัวนายวัฒนาส่งฟ้องต่อศาล ในวันพุธที่ 9 พฤษภาคมนี้
รายงานข่าวระบุว่า คดีนี้นายวัฒนากับพวก ถูกกล่าวหาเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนให้ได้โควตาเป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะแห่งชาติ 7 โครงการ 7,500 ยูนิต อาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรา 157 และเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยมิชอบ เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ มาตรา 148 มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
1. เมื่อวานนี้ นายวัฒนา เมืองสุข แถลงว่า ตนจะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากอัยการสูงสุดในวันที่ 9 พ.ค. เพื่อถูกส่งตัวฟ้องคดี พร้อมกับวางเงินประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี
ปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ดำเนินการตามที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา
ยังมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล
พร้อมกล่าวหากลับไปด้วยว่า นี่เป็นการดำเนินคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หลังการรัฐประหารปี 2549 การไต่สวนไม่ได้ยึดหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่มุ่งหมายเอาผิดที่ตนเป็นสำคัญ มีการข่มขู่พยานที่ไม่ให้ความร่วมมือมีข้อพิรุธในการตรวจสอบคดี อาทิ คดีมีความล่าช้าถึง 12 ปี ทั้งที่ี่เป็นคดีไม่ซับซ้อนสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือสอบพยานบุคคลเพื่อดำเนินคดี
นายวัฒนายังระบุด้วยว่า การดำเนินคดีมีการเลือกปฏิบัติ มุ่งเอาผิดที่ตนฝ่ายเดียว ทั้งที่ข้อกล่าวหาว่าสั่งการให้ออก TOR โดยไม่ชอบ ฝ่ายปฏิบัติคือผู้ว่าการและคณะกรรมการจะต้องมีความผิดด้วย แต่สุดท้ายคดีนี้จนถูกฟ้อง เพียงคนเดียว
2. ขณะนี้ นายวัฒนายังไม่ได้ถูกศาลพิพากษา ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่มีหน้าที่จะต้องไปต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลต่อไป
ในเมื่อนายวัฒนาอ้างว่า คดีไม่มีอะไรซับซ้อน ก็ควรจะชี้แจงอย่างกระจ่างชัดได้ทุกข้อหา
แต่จะชี้แจงได้จริงๆ หรือไม่ จะต้องรอดูการนำเสนอพยานหลักฐานในชั้นศาลต่อไป เพราะผู้ต้องหา หรือจำเลยทุกคน ก็มักจะแถลงในทำนองนี้กันทั้งนั้น
3. ข้อเท็จจริงที่สังคมควรทราบ คือ คดีนี้ไม่ใช่เพิ่งมีในยุครัฐบาล คสช.
หลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาไต่สวน ทำหน้าที่คล้ายกับ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนกรณีทุจริตบ้านเอื้ออาทรด้วย กระทั่งเดือนมี.ค. 2550 คตส.ไต่สวนเสร็จสิ้น สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรที่ก่อสร้างโดยบริษัท พาสทีญ่า ไทย จำกัด พบการจัดซื้อราคาที่ดินแพงเกินจริง นอกจากนี้ ยังระบุว่ามีการเรียกค่าหัวคิว 82 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับนักการเมือง และมีการโอนเข้าบัญชีของคนขับรถ แม่บ้าน และพนักงานพิมพ์ดีด
ในทางไต่สวน ชี้ว่า กระบวนการจัดสรรโควตาของโครงการ นักการเมืองเป็นผู้ผลักดันระบบจัดสรรโควตา และแต่งตั้งบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้ายึดกุม ใช้อำนาจในกระบวนการจัดสรรโควตาตามระบบดังกล่าว
มีการสั่งให้ประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง นำข้อเสนอของบริษัท พาสทีญ่าฯเข้าสู่การรับรอง ทั้งที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอน
เงินล่วงหน้าที่ได้จากสัญญานี้มิได้นำไปใช้ในการพัฒนาโครงการทั้งหมด แต่ปรากฏว่า ได้นำมาเข้าบัญชีและแยกประเภทไว้เป็นรายการค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ โดยพยานในส่วนของภาคเอกชนระบุว่า กันเงินไว้จ่ายให้แก่นักการเมือง
เส้นทางการเงิน ไหลไปรวมอยู่ในบัญชีบริษัทค้าข้าวอื้อฉาวแห่งหนึ่ง จำนวน 82.5 ล้านบาท ตรงกันพอดีกับจำนวนที่พยานยืนยันว่า มีการเรียกรับเงินหน่วยละ 11,000 บาท จำนวน 7,500 หน่วย โดยผู้บริหารบริษัทมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง
ทั้งหมด คือเงื่อนงำที่ยังไม่มีการพิสูจน์ผิด-ถูก เพราะคดียังไปไม่ถึงศาลมาจนบัดนี้
เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูล ส่งไปอัยการสูงสุด ก็ยังมีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณา เรื่องยืดเยื้อยาวนานมาจนปัจจุบัน
4. คดีนี้ นายวัฒนาไม่ได้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาลำพังคนเดียว
เอกชนหลายรายถูกดำเนินคดี ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ปัญหาทุจริตเน่าเฟะในโครงการบ้านเอื้ออาทร มีหลายมิติ มีหลายโครงการ
และที่แน่ๆ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดีๆ ก็จะมีใครมาตั้งข้อหากันลอยๆ
ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่ถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณแล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่ขณะนั้น ระบอบทักษิณยึดกุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ แทรกแซงยึดครององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
นายเสนาะ สุขเจริญ เป็นอดีตนักข่าวมือสอบสวนของประชาชาติธุรกิจ (ขณะนั้น)ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เรื่อง “ฉากหลัง คดีบ้านเอื้ออาทร ผลประโยชน์ทับซ้อน-หัวคิวหลังละหมื่น” ขออนุญาตสรุปความบางส่วนมาเล่าต่อ
ประเด็นปัญหาในโครงการ อาทิ
2.1 โครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นโครงการประชานิยม ยุครัฐบาลปี 2544อยู่ในความรับผิดชอบของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป้าหมายสร้างบ้านราคาถูกให้ผู้มีรายได้น้อย6 แสนหน่วย ภายใน 5 ปี (2546-2550) มูลค่าเงินลงทุน 2.86 แสนล้านบาท ก่อนถูกรัฐประหาร 2549
2.2 ดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ 1.การเคหะฯ จ้างผู้รับเหมามาก่อสร้างในที่ดินของการเคหะฯ (ใช้ในช่วงแรก 1-2 ปี) และ 2.ก่อสร้างแบบระบบเทิร์นคีย์คือ การเคหะฯ ซื้อโครงการจากเอกชน มี 2 แบบ ได้แก่ ระบบเทิร์นคีย์เฉพาะโครงการคือการเคหะรับซื้อโครงการจากเอกชน (ใช้ในช่วงปี 3-4 หรือปี 2547-2548) และระบบเทิร์นคีย์แบบเหมาโควตา หรือบิ๊กลอต ซึ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง
2.3 ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) บริษัทของนักการเมืองและเครือญาติเป็นคู่สัญญารับเหมาหลายโครงการ อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทรขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ส่วนใหญ่ เป็น สส. รวมมูลค่าหลายพันล้านบาท
2.4 ปัญหาการ “พอกส่วนต่าง”ในการจัดซื้อที่ดิน เช่น โครงการรังสิตคลอง 2 เนื้อที่ 42 ไร่ เดิมราคาประเมิน 55 ล้านบาท กลุ่มนายหน้านำไปเสนอขายให้แก่บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริง จำกัด 89.25 ล้านบาท ต่อมาได้นำไปเสนอขายให้การเคหะฯ ในราคา 97.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 2.3 ล้านบาท เกิดกำไรส่วนต่างประมาณ 40 ล้านบาท เป็นต้น
2.5 ปัญหาการเบิกเงินล่วงหน้า กินเปล่า แล้วทิ้งงาน อาทิ ผู้รับเหมารายหนึ่งเป็นแค่ หจก. มีสำนักงานที่ตั้งเป็นเพียงห้องแถวซอยลาดปลาเค้า กรุงเทพฯ บัญชีงบดุล มีรายได้ไม่กี่แสนบาท เป็นคู่สัญญากับการเคหะฯกว่า 40 สัญญา รวมมูลค่านับหมื่นล้านบาท บางโครงการมีการจ่าย “เงินล่วงหน้า” ให้แก่ผู้รับเหมารายนี้ไปแล้ว 119 ล้านบาท ทิ้งร้างโครงการ
2.6 ปัญหาเรียกรับหัวคิว “นายหน้าซื้อขายที่ดิน” แฉว่า ทำเป็นขบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหา จัดซื้อที่ดิน การอนุมัติ มีการเรียกเก็บ ค่าหัวคิว หน่วยละ10,000 บาท ผ่าน “พ่อค้า” คนใกล้ชิด
สมมุติว่า ถ้า บริษัท ก.ได้รับโควตา 10,000 หน่วย จะต้องจ่ายเงินสด 100 ล้านบาท
นายหน้าคนนี้ต่อมาเป็นพยานปากสำคัญของอนุกรรมการตรวจสอบทุจริตของ คตส.
2.7 โครงการระบบเทิร์นคีย์จัดแบ่งโควตาให้ผู้รับเหมารายใหญ่เพียง 6-7 กลุ่ม ผู้รับเหมารายหนึ่งก่อตั้งวันที่ 19 ก.ค. 2547 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ในปีเดียวกันได้โควตาถึง 6 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท (บริษัทนี้ได้ทั้งหมด 10 โครงการ 7.2 พันล้านบาท) ต่อมา บริษัทนี้ถูก คตส.ตรวจพบว่าจ่ายสินบนให้นักการเมืองรายหนึ่ง 82.5 ล้านบาท ผ่านเจ้าของบริษัทค้าข้าวผู้อื้อฉาวและคนขับรถ
5. สำหรับรายละเอียดสำนวนคดีของนายวัฒนาและพวกนั้น เจ้าหน้าที่คงไม่สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับคดีทุจริตอื่นๆ เพื่อให้เจ้าตัวไปต่อสู้พิสูจน์ตนเองในชั้นศาลต่อไป
มองไม่แง่ดี หากนายวัฒนาสามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาจริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับตนเอง เพราะตราบที่คดียังไม่ถูกตัดสินโดยศาล ประเด็นความอื้อฉาวในเรื่องนี้ก็จะกล่าวขานไปต่างๆ นานา ในเมื่อวันนี้นายวัฒนาบอกว่าเชื่อมั่นในการพิจารณาคดีของศาลอาญา ก็ควรเดินเข้าไปพิสูจน์คดีในชั้นศาลโดยเร็ว ไม่ควรจะต้องยืดเยื้อเวลาอะไรอีกต่อไปแล้ว
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน