Article
ผลงานต้านโกงชิ้นโบว์แดง ของกระทรวงสาธารณสุข
โดย ACT โพสเมื่อ May 07,2018
มีคอร์รัปชันหลายเรื่องที่สงสัยกันมาตลอดว่า ‘จะแก้ได้อย่างไร’ เพราะเขาทำกันมานานจนดูเป็นเรื่องปรกติและมีคนที่ได้ประโยชน์เข้าตัวจำนวนมาก เช่น หมอและโรงพยาบาลรับคอมมิชชั่นจากบริษัทยา ครูในกระทรวงฯ หากินกับการจัดพิมพ์และซื้อตำราเรียน ทางหลวงโกงทำถนน ตำรวจซื้อขายตำแหน่ง ทหารซื้ออาวุธ ศุลกากรเอี่ยวโกงภาษี เป็นต้น
แต่เหมือนปาฏิหารย์ เมื่อ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้แสดงถึงความกล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ ด้วยการออกคำสั่งสำคัญ 2 ฉบับ เพื่อยุติสินบนระหว่าง “โรงพยาบาลกับบริษัทยา” ที่จับมือหากินกันอย่างเปิดเผยมายาวนาน
ฉบับแรกเป็นมติ ครม. เรื่อง “ห้ามทุกหน่วยงานที่จัดซื้อยา เรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้ชาย” และอีกฉบับเป็นประกาศกระทรวง เรื่อง “ห้ามบุคลากรด้านสาธารณสุข รับของขวัญของกำนัลจากผู้ผลิต ผู้ขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หากจะรับไว้ต้องมีเหตุสมควร แต่มูลค่าต้องไม่เกิน 3 พันบาทและต้องไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใดๆ ในกรณีที่เป็นสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์สินค้าต้องไม่มีชื่อหรือตราสัญลักษณ์แสดงไว้ด้วย”
เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้บริษัทขายยาและเครื่องมือแพทย์จะแข่งกันจ่ายคอมมิชชั่นให้กับหมอ ผู้บริหารโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางคน ในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 5 – 15 แล้วแต่กรณีหรือให้ผลตอบแทนในรูปของการสะสมแต้มแลกกับการไปท่องเที่ยวต่างประเทศที่บางครั้งก็อ้างว่าไปดูงานหรือสัมมนา วิธีการจ่ายเงินอาจจ่ายตรงให้ผู้เกี่ยวข้อง บางครั้งก็จ่ายผ่านกองทุนสวัสดิการหรือสหกรณ์
พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แม้กระทั่งองค์การเภสัชฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐเองยังต้องจัดให้มีการตอบแทนในลักษณะคล้ายกัน
การให้นมหรืออาหารเสริมสำหรับเด็กแรกเกิดโดยมีตราสินค้าติดอยู่ ก็เป็นกลยุทธ์การค้าที่ผู้ขายนิยมทำกันเพื่อจูงใจให้พ่อแม่เด็กเลือกซื้อสินค้านั้นๆ ต่อเนื่องไป โดยไม่รู้ตัวว่าโรงพยาบาลหรือหมอบางคนที่เขาไว้วางใจจะคำนึงถึงแต่ผลตอบแทนที่ตนจะได้เท่านั้น
ผลประโยชน์ทับซ้อนที่กล่าวมานอกจากจะทำให้รัฐเสียหายจากการซื้อของแพงเกินจริง ซื้อของไม่เหมาะสมหรือมากเกินความจำเป็นแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจให้มีการสนับสนุนหรือปล่อยปละให้เกิดการโกงในรูปแบบอื่นๆ ตามมา เช่นพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘ช้อปปิ้ง - ยิงยา – สวมสิทธิ์เบิก’ จนทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี
ผลงานที่จับต้องได้และตรงประเด็นของ สธ. ครั้งนี้ ทราบว่าริเริ่มมาจากผลการศึกษาของ ป.ป.ช. โดยเชื่อมโยงปัญหาคอร์รัปชันของหน่วยงานเข้ากับกฎหมาย ป.ป.ช. และ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้มีความสมเหตุสมผลและมีอำนาจในการบังคับลงโทษชัดเจน สมควรเป็นแบบอย่างที่กระทรวงอื่นๆ จะนำไปศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมต้านโกงใหม่ๆ ในหน่วยงานของตนต่อไป
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน