Hot Topic!
ลมปาก ปราบโกง
โดย ACT โพสเมื่อ May 07,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ - -
คอลัมน์ คมคิดฅนเขียน : โดย เขื่อนขันธ์
ใครได้ยินได้ฟัง ก็คงดีใจมั่นใจว่า ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่า การทุจริตคงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะคำพูดของนายกฯ น่าจะมีพลานุภาพ และมีความศักดิ์สิทธิ์
มีข่าวความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในภาครัฐทีไรผมนึกถึงคำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. ขึ้นทุกครั้งเลย
ยิ่งล่าสุดหัวหน้ารัฐบาลได้กล่าวย้ำ ภายหลังเป็นประธานการประชุม หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เลยขอถอดคำพูดนำมาถ่ายทอดอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำ ให้ทุกฝ่ายได้รับรู้
“การทุจริตจะต้องไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด หากพบการทุจริต จะต้องแจ้งมาในทันที และถ้าพบว่าเกิดขึ้นนานแล้ว ก็ต้องให้ระดับกระทรวง หรือระดับหน่วยงานลงไปตรวจสอบ ในแผนงานและโครงการต่าง ๆ นั้น”
เชื่อเถอะ...ใครได้ยินได้ฟัง ก็คงดีใจมั่นใจว่า ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่า การทุจริตคงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะคำพูดของนายกฯ น่าจะมีพลานุภาพ และมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องเกรงกลัว และยึดมั่นกับ นโยบายไม่โกงกิน แต่ที่ไหนได้ ผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่วัน กลับมีเรื่องเหม็น ๆ เกิดขึ้นกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารของรัฐ และทำความเข้าใจกับประชาชน
ครับ...ผมกำลังพูดถึง “กรมประชาสัมพันธ์” ในยุคที่มี “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ทำหน้าที่รักษาการ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะภารกิจของ “เสธ.ไก่อู” มากจนเกินไปหรือเปล่า เพราะต้องรับหน้าที่ “โฆษกประจำสำนักนายกฯ” เลยทำให้เกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นในหน่วยงานที่บางคนชอบเรียกกันติดปากว่า “กรมกร๊วก”
ไหนมาตามดูกันซิ ความไม่ชอบมาพากล ที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยอยู่ในเวลานี้ เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร ก่อนหน้านี้...กรมประชาสัมพันธ์มีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตำบลหนองโรง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี
โดยต้องจัดซื้อเครื่องส่งเอเอ็ม กำลัง 400 กิโลวัตต์ พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบทดแทนจำนวน 1 ระบบอุปกรณ์โดยตั้งงบประมาณจัดซื้อไว้ที่ วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงภาษีมูลค่า
เพิ่มด้วย
สำหรับการประมูลงานครั้งนี้ ใช้วิธีอี-บิดดิ้ง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นรูปแบบป้องกันการฮั้วประมูลได้ เนื่องจากจะป้องกันไม่ให้ผู้ประมูลรู้ล่วงหน้าว่ามีใครมาซื้อซองบ้าง หรือรู้ล่วงหน้าว่าใครเป็นใคร ซึ่งจะทำ ให้เกิดการ “ฮั้ว” กันขึ้นได้ ด้วยการไม่ให้คนประมูลรู้ว่าใครมาร่วมแข่งขันด้วย
หลายคนเลยเชื่อว่า ขั้นตอนการประมูลครั้งนี้ จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไร้ครหาใด ๆ ทั้งสิ้น จากการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้มีผู้เข้าร่วมยื่นซองประมูล การจัดซื้อเครื่องส่งแบบเอเอ็ม 400 กิโลวัตต์ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัทไออาร์ซีพีฯ บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด และ บริษัท แพลนเน็ต คอมฯ
จริง ๆ การประมูลงานครั้งนี้ น่าจะเป็นไปด้วยความราบรื่นไร้ปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น แม้จะมีบางคนตั้งข้อสังเกตถึงวันเวลาที่ให้ผู้สนใจยื่นประมูล ตรงกับวันที่ 17 เมษายน หลังจากหน่วยงานราชการหยุดยาวไป 5 วันเต็ม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-16 เมษายน เหมือนมีความต้องการให้บางบริษัทเตรียมตัวกับการยื่นซองประมูลครั้งนี้ไม่ทัน
แต่ในที่สุด การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ก็ถูกยกเลิกประมูล โดยมีข่าวว่าจะหันไปใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ท่ามกลางข้อสงสัยว่า มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าจะต้องมีใครบางคนนำเรื่องไปยื่นให้องค์กรอิสระ อย่าง ป.ป.ช.ตรวจสอบแน่
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ อุปกรณ์ชุดดัมมี่โหลดขนาด 800 กิโลวัตต์ ซึ่งเชื่อมโยงกับเครื่องส่งกระจายเสียง เป็นประเด็นที่เจ้าหน้าที่บางคน นำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับการตัดสินชี้ขาดการประมูลครั้งนี้
เลยอยากเรียกร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” ช่วยเรียกอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มาสอบถามรายละเอียดของโครงการ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีพิรุธหรือไม่ เพราะไม่อยากให้เรื่องปราบโกงที่นายกฯพร่ำพูด เป็นเพียงแค่ลมปากเท่านั้น
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน