Hot Topic!

ปฏิรูปตำรวจ หรือปฏิลวง จะเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้าอีกหรือไม่?

โดย ACT โพสเมื่อ May 02,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวผู้จัดการ - -

 

รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2561 ตอน ปฏิรูปตำรวจ หรือปฏิลวง จะเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้าอีกหรือไม่?

 

 

 

 

เข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงเวลาที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช. จะถูกตั้งคำถามและทวงถามผลงานด้านต่างๆ มากขึ้นเพราะเข้าสู่การครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารคสช.ในเรื่องที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก คงไม่พ้นเรื่อง ความคืบหน้า-ผลงาน ด้าน การปฏิรูปประเทศ ในด้านต่างๆ และหนึ่งในนั้น แน่นอนก็คือ เรื่องการปฏิรูปตำรวจ –วงการสีกากี


อย่างที่เคยบอกไว้ว่า เวลานี้ ไพ่ใบสุดท้าย ที่พลเอกประยุทธ์ทิ้งลงมา ในการปฏิรูปตำรวจ ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เพื่อหวังให้เป็นผลงานก่อนคสช.สลายตัวไป ด้วยที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 


โดยหมากเกมนี้ บิ๊กตู่ ดึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและบอร์ดคสช. มาคุมหางเสือการปฏิรูปตำรวจ พร้อมกับกรรมการอีกร่วม 16.คน


ถึงเวลานี้ กรรมการชุดดังกล่าว ประชุมกันไปแล้ว 4นัดโดยมีความคืบหน้าเป็นระยะ ทิศทางหลักๆ ซึ่งที่ประชุมเคาะกันออกมา พบว่า จะใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นหลักในการพิจารณา  เพราะเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบัญญัติในเรื่อง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการปฏิรูปตำรวจในด้านต่างๆ เช่น 


การปรับปรุงระบบงานสอบสวนหรือการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อนำสาระสำคัญไปปรับเขียนไว้ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ... รวมถึงแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


ภายใต้ธงหลักที่กรรมการวางไว้ ตามคำเปิดเผยของ นายคำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในกรรมการชุดดังกล่าว การปฏิรูปตำรวจครั้งสำคัญนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ 2 ประการ


1. ความทุกข์ของประชาชน - ทั้งที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และความคาดหวังที่ต้องการจากตำรวจ 2. ความทุกข์ของตำรวจ - ทั้งที่ไม่อาจใช้เพียงความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เติบโตไปตามสายงานได้อย่างปกติ และความไม่พร้อมหรือขาดแคลนในด้านต่าง ๆ


ต้องยอมรับด้วยความชื่นชมว่า ซือแป๋มีชัยกับคณะกรรมการขยัน ตั้งใจในการทำงานอย่างมาก การทำงานมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว ปรากฎผลการหารือของคณะกรรมการฯเบื้องต้นมีข้อสรุปหลักๆ ที่น่าสนใจคือ


คณะกรรมการฯเห็นด้วยที่จะให้มีการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจออกไป เพราะวงประชุมที่มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งมาจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ –ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา-อดีตผู้พิพากษา-รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ –อดีตรองอัยการสูงสุด-นักวิชาการ –กรรมการกฤษฏีกา-อดีตกรรมการปฏิรูปตำรวจ  


เห็นพ้องกันว่า ภารกิจหลักของตำรวจคือการรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การสืบสวนสอบสวนเอาคนทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ทำผิดคดีอาญามาดำเนินคดีรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม หน้าที่หลักข้างต้น ตำรวจต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพราะเป็นหน้าที่หลักและงานถนัด


แต่ภารกิจอื่นๆ เช่น  งานที่นอกเหนือไปจากนี้ที่มีลักษณะเป็นงานบริการประชาชน งานทะเบียน งานจัดระเบียบอื่น ๆ อาทิ การดูแลเรื่องจราจร ไม่ใช่งานหลักของตำรวจแต่เป็นงานรอง จึงควรถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่นได้กระทำ 


นอกจากนี้ กรรมการยังเห็นควรโอนงานของตำรวจในกองบัญชาการภาคหรือตำรวจต่างจังหวัด  บางภารกิจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการรับถ่ายโอนได้


โดยกรรมการฯเชื่อว่า จะมีผลดีคือทำให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการปฏิบัติงาน มีสายงานบังคับบัญชา ที่คล่องตัวมากขึ้น ไม่ใหญ่เทอะทะ แต่ทำงานอุ้ยอ้าย แต่หากโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานหลักของตำรวจออกไป จะทำให้องค์กรตำรวจมีความกระชับมากขึ้น กำลังพลที่มีอยู่สามารถรองรับงานหลักได้เต็มที่ ที่ก็จะส่งผลดีต่อประชาชน


แต่แนวทางดังกล่าว กรรมการชุดมีชัย ก็ไม่ได้ถึงกับเร่งรีบพลีพลาม จะให้มีการโอนไปโดยไม่พิจารณาความพร้อมด้านต่างๆ ของตำรวจและหน่วยงานที่รับโอน เพราะกรรมการย้ำว่า การรับโอนดังกล่าว จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข  2 ประการคือ1. ต้องไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้แก่ประชาชน2. ต้องไม่สร้างภาระแก่งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป


เรื่องการโอนภารกิจบางส่วนของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่นดูแล เป็นเรื่องที่กระแสสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนมานานแล้ว เพราะเห็นว่าหากโอนไปน่าจะทำให้งานต่างๆ ดีขึ้น และก็น่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมตามมา


แต่การถ่ายโอนหน่วยงานออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ อดีตที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เคยขยับทำมาแล้วแต่ก็เจอตำรวจกระโดดเข้ามาขวางทุกครั้ง จนตำรวจถือกฎหมายอยู่ล้นมือ 


และกลายเป็นปัญหาใช้อำนาจในทางทุจริต ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่โปร่งใส การอำนวยความเป็นธรรมที่บิดเบี้ยว ใช้อำนาจตามกฎหมายมาหาประโยชน์ให้ตนเอง เป็นเรื่องที่คนไทยเดือดร้อนเพิ่มขึ้นทุกวัน จนทนไม่ไหว มีความต้องการเปลี่ยนองค์กรตำรวจ 


มีเสียงสะท้อนเรียกร้องให้รัฐบาลคสช. ทำการปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จ การตั้งคณะกรรมการชุดซือแป๋มีชัยขึ้นมา เห็นการทำงานที่ยกประเด็นขึ้นมา ก็พอเห็นว่าจะไปถูกทาง แต่การเดินหน้าต่อไปยังต้องฝ่าอุปสรรคขวากหนามอีกมาก พรุ่งนี้เราจะมาว่ากันการปฏิรูปตำรวจอย่างไร จึงจะไม่เป็นปฏิลวง อย่างอดีตที่ผ่านมา

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw