Hot Topic!

เอกซเรย์กลโกง 'สหกรณ์' ขนาดใหญ่ จาก คลองจั่น ถึง รถไฟ ใครรับผิดชอบ!

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 19,2018

- - สำนักข่าวคมชัดลึก - -

 

โดย : สุรัตน์ อัตตะ 


เปรี้ยง! คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 2/2561 ลงวันที่ 2 เมษายน 2561 ให้คณะกรรมการดำเนินการ ของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ชุดที่ 12 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หลังฝ่าฝืนไม่แก้ไขข้อบกพร่องตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการ อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (1) ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2560 ให้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 7-11 และกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเข้ามาแก้ไขปัญหาในระยะเวลา 180 วัน

 

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน การรถไฟแห่งประเทศไทยมี2 สหกรณ์ ประกอบด้วย สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรถไฟ  ที่มี สมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นประธาน ซึ่งสหกรณ์นี้ไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ ที่มี บุญส่ง หงษ์ทอง และพวกรวม 6 คนร่วมกันทุจริตเงินกว่า 2.2 พันล้านบาท จนเกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง สมาชิกไม่สามารถกู้ยืมได้

 

แต่ละแห่งมีเม็ดเงินอยู่ประมาณ 4,000 ล้าน มีสมาชิกใกล้เคียงกันประมาณ 6,000 ราย แม้สหกรณ์ทั้งสองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในด้านธุรกรรมทาง การเงิน แต่ในเรื่องสมาชิกอาจมีปัญหา  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของนายทะเบียนสหกรณ์

 

เพราะตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ระบุชัดว่าสมาชิกหนึ่งรายต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

 

"ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่ว่าทั้งสองสหกรณ์มีซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ถ้าซ้ำซ้อนก็ไม่ได้ ต้องให้แยกออกจากกัน เพราะการกู้ทั้งสหกรณ์สโมสรรถไฟ ทั้งสหกรณ์สหภาพ ก็จะเป็นหนี้ทั้งสองทาง ตามกฎหมายเป็นได้ที่เดียว"

 

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยกับ "คม ชัด ลึก" ถึงปัญหาในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟที่อาจจะเกี่ยวโยงกับสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรถไฟ เรื่องสมาชิกในสังกัด และยอมรับว่า

 

การทุจริตของกรรมการในสหกรณ์สโมสรรถไฟ อาจเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุมาจากการไม่เข้มงวดในกฎระเบียบของนายทะเบียนที่ปล่อยให้กรรมการสหกรณ์มีอำนาจมากเกินไป จนทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย อันเป็นผลมาจากการยกเลิกกฎระเบียบบางข้อเมื่อปี 2550 เนื่องจากถูกร้องว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินงานของสหกรณ์มากเกินไป จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาจนถึงปัจจุบัน

 

"ที่ประธานชั่วคราวพูดว่าระเบียบมีปัญหา คือมันมีปัญหาจริงๆ เพราะกรรมการไปกำหนดกติกากันเองจะให้ใครกู้เท่าไหร่ เท่านั้นยังไม่พอ กรรมการบางคนก็ยังไม่ยึดกติกาอีก เฉพาะนายบุญส่งคนเดียวล่อไป 1,700 ล้าน แต่ถ้าสมัยก่อนนายทะเบียนจะมีระเบียบอยู่ตัวหนึ่งว่าสหกรณ์ให้กู้แก่สมาชิกรายหนึ่ง ไม่เกินเท่าไหร่ พอมายุคหนึ่งระเบียบนั้นได้ถูกยกเลิกไป เพราะมองว่าเป็นการจำกัดการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่พอยกเลิกก็เหมือนกับผึ้งแตกรังเลย"

 

จึงไม่แปลกที่ปัญหาสหกรณ์สโมสรรถไฟมาจากการไม่ยึดกฎกติกา มิหนำซ้ำยังตั้งกฎระเบียบเข้าข้างตัวเอง ขณะเดียวกันเป็นที่รับรู้กันดีว่าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาการรับฝากเงินระหว่างสหกรณ์นั้นจะมีระบบเงินทอนและอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่เป็นปัญหาและอยู่ระหว่างการตรวจสอบของนายทะเบียนสหกรณ์เช่นกัน

 

"สมัยก่อนมันมีเงินทอนกันอยู่ไง รถไฟก็เหมือนกัน กำลังไล่เช็กบิลกันอยู่ พวกที่มาฝากมากู้ว่าคุณปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่ เมื่อปี 2555 สหกรณ์สโมสรรถไฟ เพิ่งตั้งมาแค่ 6-7 ปีเอง มันมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้15 สหกรณ์เอาเงินมาฝากไว้กับรถไฟสูงถึงกว่า 2,000 ล้าน หรืออย่างสหกรณ์จุฬาฯ เอาไปฝากนพเก้า ในระเบียบของจุฬาฯ เขียนไว้ชัดว่านำไปฝากได้ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้น แต่นี่ไปฝากเกินมาก โชคดีที่บรรดาสหกรณ์ทั้ง 15 แห่งมีสภาพคล่อง ดีอยู่ แต่ที่เขาเอามาฝากหรือให้รถไฟกู้มันเป็นเงิน ที่เกินความต้องการของเขา" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง และระบุว่า

 

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการจูงใจให้สหกรณ์อื่นๆ นำเงินมาฝาก โดยเฉพาะสหกรณ์สโมสรรถไฟในขณะนั้นให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงมากร้อยละ 7 ทำให้สหกรณ์ต่างๆ แห่กันนำเงินมาฝากเพื่อหวังผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่กรมส่งเสริมฯ ได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณทั่วประเทศให้รับฝากเงินได้ไม่เกินร้อยละ 4.5 หลังจากครบปีก็ให้ลดลงเป็นขั้นบันได

 

"ตอนนั้น รถไฟให้ดอกเบี้ยสูงมาก ร้อยละ 7 เราก็ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ทั่วประเทศรับฝากได้ไม่เกินร้อยละ 4.5 พอครบปีเดือนมิถุนายน ลดลงเหลือร้อยละ 4 ทำเป็นขั้นบันไดเพื่อไม่ให้กระทบมาก ต่ำสุดที่เราวางไว้ในปี 2563 เหลือไม่เกิน 3.5 เพื่อป้องกันกลุ่มบุคคลที่เข้ามาแสวงหาผลกำไรจากอัตราดอกเบี้ยในระบบสหกรณ์"

 

วิศิษฐ์ เผยต่อว่า ปัญหาในสหกรณ์สโมสรรถไฟเกิดขึ้นในปี 2555 แต่นายทะเบียนสหกรณ์ตรวจพบความผิดปกติในปี 2558 หลังมีการอนุมัติและจ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิก 6 ราย รวม 199 สัญญา เป็นจำนวนเงิน 2,285.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินกู้เกินกว่าระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จึงถือว่ามีการกระทำละเมิดต่อสหกรณ์ ก่อให้เกิด ความเสียหายไม่น้อยกว่า 2,195 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของสมาชิกสหกรณ์ และกระทบถึงการขาดสภาพคล่องของสหกรณ์ในปัจจุบัน สมาชิกได้รับความ เดือดร้อนไม่สามารถถอนเงินและกู้เงินจากสหกรณ์ได้ ก่อนจะมีคำสั่งปลดคณะกรรมการชุดที่ 12 ออกทั้งคณะแล้วแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวแทนเพื่อสางปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ กรมฯ ยังใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ ในการร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการชุดที่ 7-11 จำนวน 26 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของตำรวจ อัยการ ปปง. ดีเอสไอ ซึ่งคณะกรรมการชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาจะต้องดำเนินการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

 

"เคสนี้เหมือนกับคลองจั่น ต่างกันแค่รถไฟยังมีสินทรัพย์เหลือมากกว่าคลองจั่น เพราะลูกหนี้สหกรณ์ยังมีตัวตนอยู่ ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ ก็ยัง อยู่ครบ แต่คลองจั่นเอาออกไปหมดเลยแปลงเป็นใบหุ้นที่ไม่มีมูลค่า" รองวิศิษฐ์ กล่าวและว่า

 

ในส่วนปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่อื่นๆ หลังมีการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด (ณ 31 มี.ค.61) ไม่ปรากฏว่าปัญหารุนแรงเหมือนกับสหกรณ์สโมสรรถไฟและคลองจั่น จะมีก็เพียงการปล่อยกู้สมาชิก รายย่อยในระยะยาวประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง หากสมาชิกเหล่านี้เกษียณอายุราชการ ทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระน้อยลง ส่วนมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตนั้น ขณะนี้กรมส่งเสริม สหกรณ์ได้เตรียมร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อให้มี หน่วยงานมากำกับดูแลสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีทุนดำเนินการมากกว่า 5,000 ล้านขึ้นไปเป็นการเฉพาะ (อ่านในล้อมกรอบ) และยกระดับชุมนุมสหกรณ์ ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทาง การเงิน เป็นที่รับฝากเงินของสหกรณ์สมาชิกจำนวน 1,200 แห่ง แทนการรับฝากเงินไขว้ระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเพื่อลดปัญหาการทุจริต

 

"ที่เสี่ยงตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกสหกรณ์ ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ความเสี่ยง คือปล่อยให้กู้แก่ลูกหนี้ ซึ่งเป็นข้าราชการรายหนึ่งจำนวนมาก พอเกษียณรายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ความสามารถในการชำระหนี้ไม่มี ปัญหาด้อยคุณภาพของ ลูกหนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ส่วนปัญหาในสหกรณ์ออมทรัพย์ขณะนี้ไม่น่าจะมีแล้วเพราะเราสแกนหมดแล้ว โดยเฉพาะสหกรณ์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

 

เตรียมคุมเข้มสหกรณ์มีทุนเกิน 5 พันล้าน

 

เม็ดเงินกว่า 2.2 ล้านล้านบาทที่อยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ เทียบได้กับงบประมาณของประเทศในแต่ละปี เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินการมากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปมีมากถึง 134 แห่ง บางแห่งก็มีเป็นแสนล้าน อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ มีทุนดำเนินการมากที่สุดสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท มองดูเม็ดเงินแล้วไม่ต่างไปจากธนาคารย่อมๆ นี่เอง จึงเป็นการยากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนจะกำกับดูแลอย่างทั่วถึงและรอบด้าน เนื่องจากบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์มีอยู่อย่างจำกัด กระทรงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เล็งเห็นข้อจำกัดดังกล่าว จึงเสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการทางการเงิน ที่จะใช้บังคับกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีทุนดำเนินการตั้งแต่ 5,000 ล้านขึ้นไป โดยมีหน่วยงานใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินมากำกับดูแลสหกรณ์เหล่านี้โดยเฉพาะ

 

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่มี กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไม่ เกินเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นก็เป็นไปตามกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป หากดำเนินไปตามกระบวนการปกติไม่มีปัจจัยอะไรมาทำให้หยุดชะงัก คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จและสามารถประกาศใช้ได้ไม่เกินปลายปีนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับกับสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินการตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีบางมาตราใน พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 สามารถใช้บังคับเหมือนเดิม

 

"ตอนนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 1 ครั้งที่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย เหลืออีก 2 ครั้ง และเปิดรับฟังทางเว็บไซต์อีกครั้ง หลังจากนั้นจะสรุปเสนอ ครม. ทางคณะกรรมการที่มีท่านกอบศักดิ์เป็นประธาน มีมติว่าให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอร่างนี้เข้าครม.ให้ได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 จากนั้นก็จะผ่านไปตามขั้นตอน ผ่านกฤษฎีกาและ สนช. คาดว่าประมาณปลายปีก็จะออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้"

 

สำหรับจุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ระบุว่า จะมีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งที่จะกำหนดนโยบาย ต้องไม่ขึ้นกับการเมือง ประกอบด้วยประธานและกรรมการ ทำหน้าที่เป็นบอร์ด มีหน่วยงานเป็นสำนักงานเลขาธิการ โดยประธานจากการสรรหา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้แต่งตั้ง ส่วนกรรมการประกอบด้วยฝ่ายราชการได้แก่ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คนมาจากการสรรหาสาขาต่างๆ อาทิ ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ด้านสหกรณ์ ด้านเศรษฐศาสตร์ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีทุนดำเนินการตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป

 

"ตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นมา เราปล่อยให้สหกรณ์ดำเนินการโดยอิสระ  แต่พอปล่อยก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะเขาออกไปนอกลู่นอกทาง ที่ปล่อยไปช่วงนั้นฝีเริ่มแตกออกมาแล้ว เราก็มาเริ่มคุมผ่าตัดอะไร กันใหม่หมด ที่ทำทุกวันนี้มี แบงก์ชาติคอยให้คำปรึกษาใน เรื่องต่างๆ ทุก 2 เดือนจะต้องไปนั่งกินข้าวกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คุยกัน ท่านก็จะถามประเด็นโน้นประเด็นนี้ ว่าตอนนี้ทำไปถึงไหนแล้ว เราก็บอกปัญหาไป ท่านก็ ส่งทีมงานมาช่วย อย่างตอนนี้เรื่องการเก็บข้อมูลการกู้ยืมระหว่างสหกรณ์ เราก็พบว่าสหกรณ์มีการกู้ยืมเงินไขว้กันทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้าน เราก็มาดูว่าใครเอาไปให้ใครตรงไหนบ้าง ตอนนี้เราได้สั่งตรวจสอบสหกรณ์แต่ละแห่งทั้งหมดที่กู้เงินเขามาเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต" วิศิษฐ์กล่าวย้ำ

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw